กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เดินหน้าผลักดันซอฟต์พาวเวอร์แฟชั่นไทยผ่านผลงานนักออกแบบไทย 3 แบรนด์ดัง พัฒนาองค์ความรู้ นำเครื่องมือเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในทุกด้าน ตามนโยบาย "RESHAPE THE FUTURE : โลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมปรับ พร้อมรับอนาคต" ภายใต้กลยุทธ์ในการปรับตัวให้ก้าวทันอุตสาหกรรมยุคใหม่ (RESHAPE THE INDUSTRY) ผ่านกิจกรรมพัฒนานักออกแบบดีพร้อมในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (DIPROM Thai Designer Lab) ประจำปี 2567 เพื่อให้นักออกแบบไทยมีความพร้อมในการก้าวสู่ระดับสากล
นางดวงดาว ขาวเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป การดำเนินธุรกิจในยุคปัจจุบัน กำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายหลากหลายประการ ทั้งทรัพยากรที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตมีปริมาณจำกัดลงทุกขณะ ประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำเริ่มตีตลาด ในยุคไร้พรมแดน ผู้บริโภคมีสิทธิเลือกซื้อสินค้าได้อย่างเสรีทั้งในด้านคุณภาพและราคา การแข่งขันทางด้านการค้าทวีความรุนแรงขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการไม่ควรนิ่งนอนใจอีกต่อไป ต้องแสวงหาอาวุธใหม่ ๆ เพื่อใช้ในการแข่งขัน ซึ่งผู้ประกอบการ SME ยุคใหม่ ต้องมีความพร้อมทั้งองค์ความรู้และทักษะที่จำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจ ทักษะการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ รวมถึงทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์มาพัฒนาให้เกิดมูลค่าเพิ่มแก่สินค้าและบริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามนโยบายสนับสนุนการสร้างพลังสร้างสรรค์ หรือ Soft Power ของประเทศ ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรม นำโดย นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ดำเนินการสร้างนักออกแบบรุ่นใหม่ที่กำลังจะก้าวเข้ามามีบทบาทต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ต้องเรียนรู้ที่จะนำแนวคิดและแรงบันดาลใจใหม่ ๆ มาร่วมประยุกต์ใช้กับเทคโนโลยีเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
นางดวงดาว กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ได้ดำเนินการตามนโยบายของ นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม "RESHAPE THE FUTURE: โลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมปรับ พร้อมรับ อนาคต" ภายใต้กลยุทธ์ในการปรับตัวให้ก้าวทันอุตสาหกรรมยุคใหม่ (RESHAPE THE INDUSTRY) ได้เน้นการพัฒนาศักยภาพของนักออกแบบให้มีการต่อยอดองค์ความรู้ใหม่ ๆ สามารถนำเครื่องมือเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ ในหลาย ๆ ด้าน ทั้งด้านการออกแบบ กระบวนการผลิต การตลาดมาต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ บวกกับประสบการณ์ที่ได้รับจากการทำงานร่วมกันกับเพื่อนนักออกแบบ และผู้เชี่ยวชาญที่มีชื่อเสียงผ่าน "กิจกรรมพัฒนานักออกแบบดีพร้อมในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์" หรือ DIPROM Thai Designer Lab ซึ่งมีผู้ผ่านการเข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 24 คน โดยกิจกรรมดังกล่าวมีหลักสูตรต่าง ๆ ประกอบด้วย 1) การฝึกอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้ ด้านการทำธุรกิจแฟชั่น การสร้างแบรนด์ การออกแบบ การสร้างความเชื่อมั่นในแบรนด์สินค้า และการตลาดที่สามารถตอบสนองตามความต้องการของผู้บริโภค 2) การศึกษาดูงาน ณ พิพิธภัณฑ์บ้านจิม ทอมป์สัน โรงทอผ้าไหมบ้านครัว และ Tube Gallery เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการออกแบบ 3) การจัดกิจกรรมค่ายปฏิบัติการออกแบบ (Design Lab) โดยมีนักออกแบบมืออาชีพให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึก บ่มเพาะไอเดียสร้างสรรค์ เสริมเทคนิค และแนวคิดด้านการออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการสู่ระดับสากล 4) การให้คำปรึกษาแนะนำด้านการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่ตรงกับความต้องการของตลาดแต่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ไว้ 5) การจัดประกวดผลิตภัณฑ์ต้นแบบ โดยมีโจทย์ คือ "Fashioniverse" ซึ่งมาจากคำว่า Fashion และ Universe หมายถึง จักรวาลแฟชั่นที่ต้องครบลูปของการออกแบบการดีไซน์ที่เป็น Everyday Look ชุดเดียวครบจบ ตั้งแต่ใส่ทำงานไปจนถึงงานเลี้ยงหรืองานปาร์ตี้ พร้อมนำเสนอผลงานเพื่อประกวด และคัดเลือกผู้ชนะ จำนวน 3 รางวัล
การจัดงานในดังกล่าว เป็นการแสดงถึงผลสำเร็จของนักออกแบบไทยที่เข้าร่วม "กิจกรรมพัฒนานักออกแบบดีพร้อมในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (DIPROM Thai Designer Lab)" ประจำปี 2567 และผลงานที่ผ่านคัดเลือกได้รับรางวัล จำนวน 3 แบรนด์ ได้แก่ แบรนด์ KH EDITIONS แบรนด์ HOMRAK (ห่มรัก) และแบรนด์ Chanikran เพื่อให้นักออกแบบไทยสามารถนำความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ สามารถสร้างความโดดเด่น เป็นอัตลักษณ์ให้กับแบรนด์ของตนเอง และตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคยุคปัจจุบัน พร้อมเติบโตอีกระดับและก้าวสู่การเป็นแบรนด์สินค้าที่เป็นที่รู้จักในระดับสากล นางดวงดาว กล่าวทิ้งท้าย