ลานิญ่า (La Ni?a) กำลังมาแทนเอลนิโญ่ (El Ni?o) เราจะตั้งรับอย่างไร

ข่าวทั่วไป Monday June 17, 2024 17:20 —ThaiPR.net

ลานิญ่า (La Ni?a) กำลังมาแทนเอลนิโญ่ (El Ni?o) เราจะตั้งรับอย่างไร

คนไทยจำนวนมากคุ้นเคยกับคำว่า เอลนิโญ่ (El Ni?o) และลานิญ่า (La Ni?a) แต่หลายคนยังไม่แน่ใจนักว่าแท้ที่จริงแล้วสองคำนี้มีที่มาที่ไปและหมายความถึงอะไร และผลกระทบจากปรากฏการณ์ทั้งสองที่จะเกิดกับประเทศไทยและการดำรงชีวิตของเราว่ามีอะไรบ้าง วันนี้ ดร.จีรนุช ศักดิ์คำดวง ผู้เชี่ยวชาญสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย หรือ TEI ได้เรียบเรียงข้อมูลพร้อมอธิบายความหมายของ 2 คำนี้ให้ชัดเจนและเข้าใจง่าย พร้อมชี้แนะการเตรียมพร้อมและตั้งรับ

เอลนิโญ่ หมายถึง เด็กชายในภาษาสเปน ชาวประมงในประเทศเปรูและเอกวาดอร์ ได้เริ่มใช้คำนี้มาหลายร้อยปีแล้ว เพื่อเรียกปรากฏการณ์ที่น้ำทะเลอุ่นขึ้นผิดปรกติในช่วงก่อนเทศกาลคริสมาสต์และทำให้จับปลาได้น้อยลง ส่วนปรากฏการณ์ที่ตรงข้ามกันเรียกว่า ลานิญ่า ซึ่งหมายถึงเด็กผู้หญิง ใช้เรียกปรากฏการณ์ที่อุณหภูมิผิวน้ำทะเลเย็นลงอย่างเป็นวงกว้าง นับตั้งแต่ปี 2023 เป็นต้นมา ปรากฏการณ์เอลนิโญ่ส่งผลให้ทั่วโลกเผชิญกับความแห้งแล้ง ปริมาณฝนต่ำกว่าปกติ และอุณหภูมิสูงกว่าปกติ ในทางกลับกันปรากฏการณ์ลานิญ่าที่กำลังจะเข้ามาแทนจะทำให้มีฝนตกมากกว่าปกติ และอากาศจะหนาวเย็นกว่าปกติ ปรากฏการณ์   ลานิญ่าเกิดขึ้นได้ทุก 2 - 3 ปี และปกติจะเกิดขึ้นนานประมาณ 9 - 12 เดือน แต่บางรอบอาจปรากฏอยู่นานถึง 2 ปี

หน่วยงานด้านอุตุนิยมวิทยาในหลายประเทศคาดการณ์ว่าผลกระทบจากปรากฏการณ์ลานิญ่าจะเริ่มเห็นได้ชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2024 ต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า สำหรับประเทศไทยนั้นปรากฏการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ปริมาณฝนของประเทศไทยส่วนใหญ่สูงกว่าปกติ โดยเฉพาะช่วงฤดูร้อนและต้นฤดูฝนของปีหน้าเป็นระยะที่ลานิญ่ามีผลกระทบต่อปริมาณและความชุกของฝนของประเทศไทยชัดเจนกว่าช่วงอื่น และทุกภาคของประเทศจะมีอุณหภูมิต่ำกว่าปกติในทุกฤดู ซึ่งหากปรากฏการณ์ลานิญ่าที่จะเกิดขึ้นมีกำลังปานกลางถึงรุนแรง จะส่งผลให้ปริมาณฝนของประเทศไทยสูงกว่าปกติมากขึ้นและเผชิญกับอุณหภูมิต่ำกว่าปกติมากขึ้น

เทคโนโลยีในปัจจุบันที่สามารถพยากรณ์สภาพอากาศได้แม่นยำและทันต่อเหตุการณ์ช่วยให้ประชาชนทั่วไปและผู้มีหน้าที่ในการวางแผนและกำหนดนโยบายสามารถเตรียมความพร้อมเพื่อตั้งรับกับผลกระทบจากปรากฏการณ์ลานิญ่าได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเมือง ชนบท ภาคเกษตรกรรม หรือการเตรียมพร้อมรับภัยพิบัติที่จะเกิดจากปริมาณน้ำฝน เช่น น้ำท่วม น้ำป่าไหลหลาก หรือดินโคลนถล่ม

ดร.จีรนุช เรียบเรียงข้อมูลเพิ่มเติมถึง การเตรียมพร้อมในส่วนของเมืองสามารถเน้นไปที่การเตรียมตัวรับมือกับปริมาณน้ำฝนที่จะเพิ่มมากขึ้น ปรับปรุงและขุดลอกระบบระบายน้ำและคูคลอง เพราะการจัดหาพื้นที่ลุ่มรับน้ำในเขตเมืองอาจไม่ใช่เรื่องง่าย ขณะเดียวกันพายุฝนที่บางครั้งมาพร้อมกับลมกรรโชกแรงอาจทำความเสียหายต่อป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ที่ไม่แข็งแรง ส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่น ซึ่งผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องต้องเร่งกวดขันเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น อุทกภัยที่อาจเกิดขึ้นจากปรากฏการณ์ลานิญ่าจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชนบทและพื้นที่เกษตรกรรมเป็นวงกว้าง เกษตรกรอาจจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนชนิดของพืชที่ปลูกเพื่อให้มั่นใจว่าจะได้รับผลกระทบจากปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้นและอุณหภูมิที่จะลดต่ำลงในช่วงของปรากฏการณ์ดังกล่าว

จะเห็นได้ว่านอกจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนและภาคการผลิตของประเทศแล้ว ปรากฏการณ์เอลนิโญ่และลานิญ่าก็เป็นอีกหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดสภาพอากาศสุดขั้วและความแปรปรวนของสภาพอากาศ การเตรียมพร้อมรับมือที่ดีคือการทำความเข้าใจ สร้างความรู้แก่สังคมในวงกว้างไม่ตื่นตระหนกและหาแนวทางปรับตัวที่เหมาะสมภายใต้สภาพแวดล้อมของตน

เรียบเรียงโดย : ดร.จีรนุช ศักดิ์คำดวง ผู้เชี่ยวชาญสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ