FORTUNE ประกาศการจัดอันดับรายชื่อ SOUTHEAST ASIA 500

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 18, 2024 12:27 —ThaiPR.net

FORTUNE ประกาศการจัดอันดับรายชื่อ SOUTHEAST ASIA 500
  • หนึ่งในภูมิภาคที่มีการเติบโตเร็วที่สุดในโลก ล่าสุดได้มีรายชื่อ Fortune 500 เป็นของตัวเองเป็นที่เรียบร้อย
  • การจัดอันดับครั้งแรกนี้ประกอบด้วยบริษัทจากประเทศไทย 107 แห่ง โดยมี 6 บริษัทที่ถูกจัดอยู่ใน 20 อันดับแรก
  • ภาคพลังงานสร้างรายได้มากที่สุดโดยมีบริษัทปตท. (PTT) จัดอยู่ในอันดับสอง นอกจากนี้ ซีอีโอบริษัทบ้านปู (BANPU) ยังครองตำแหน่งผู้บริหารที่มีอายุน้อยที่สุดในรายชื่อ ในขณะที่มีซีอีโอหญิงจำนวน 30 คนจาก 500 บริษัท ตอกย้ำถึงความหลากหลายภายในภูมิภาค
  • ดูรายชื่อบริษัททั้งหมดได้ที่: Fortune.com/asia/ranking/southeast-asia-500/2024/

วันนี้ทาง Fortune ได้เผยการจัดอันดับ Southeast Asia 500 ปี 2567 เป็นครั้งแรก โดยมีรายชื่อของบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ถูกจัดอันดับตามรายได้สำหรับปีงบประมาณ 2566 Fortune ได้มุ่งเน้นภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เนื่องจากเป็นภูมิภาคที่มีบทบาทสำคัญยิ่งขึ้นในเศรษฐกิจโลก ทั้งจากการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานและการพัฒนาอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจในภูมิภาค

การจัดอันดับครั้งแรกนี้ประกอบไปด้วยบริษัทจาก 7 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และกัมพูชา โดยอินโดนีเซียครองอันดับหนึ่งด้วยรายชื่อบริษัทติดอันดับสูงสุดถึง 110 บริษัท ในขณะที่ประเทศไทยตามมาด้วย 107 บริษัท มาเลเซีย 89 บริษัท แซงหน้าสิงคโปร์ที่มี 84 บริษัท ตามด้วยเวียดนามที่ติดอันดับ 70 บริษัท ฟิลิปปินส์อยู่ที่ 38 บริษัท และกัมพูชาที่ 2 บริษัท

ในด้านรายได้ บริษัทค้าสินค้าโภคภัณฑ์ Trafigura ของประเทศสิงคโปร์ครองอันดับที่ 1 ด้วยยอดขาย 244 พันล้านดอลลาร์ จากการจำหน่ายแร่ธาตุ โลหะ และพลังงาน โดยมีจำนวนพนักงานน้อยที่สุดในบรรดาบริษัทชั้นนำ 10 อันดับแรก เมื่อพิจารณาตามรายได้ และเป็นบริษัทที่ทำกำไรได้มากเป็นอันดับสองในกลุ่มนี้

บริษัท 10 อันดับแรกใน Southeast Asia 500 เป็นกลุ่มบริษัทที่มีความหลากหลาย โดยภาคพลังงานมีบริษัทที่ติดอันดับสูงสุดจำนวน 3 บริษัทด้วยกัน ได้แก่ปตท. (PTT) ของไทยเข้ามาอยู่ในอันดับที่ 2 Pertamina ของอินโดนีเซียอยู่ในอันดับที่ 3 และบริษัทไฟฟ้าภาครัฐของอินโดนีเซีย Perusahaan Listrik Negara อยู่ในอันดับที่ 6 อีกประเด็นที่น่าสนใจคือสิงคโปร์มีจำนวนบริษัทที่ติดอันดับมากที่สุดใน 10 อันดับแรก โดยมี Trafigura อยู่อันดับแรก ตามมาด้วย Wilmar ที่อันดับ 4 Olam ที่อันดับ 5 Flex ที่อันดับ 8 และ DBS ที่อันดับ 10 นอกจากนี้ ในสิบอันดับแรกยังมี CP All ของไทยอยู่ที่อันดับ 7 และ San Miguel ของฟิลิปปินส์ที่อันดับ 9 อีกสามบริษัทจากไทยที่ติดอันดับ 20 บริษัททำรายได้สูงสุดได้แก่: อินโดรามา เวนเจอร์ส (Indorama Ventures) อยู่ที่อันดับ 14 ปูนซิเมนต์ไทย (Siam Cement) อยู่ที่อันดับ 16 และ ซีพี แอ็กซ์ตร้า (CP Axtra) อยู่ที่อันดับ 19

บริษัทที่ใหญ่ที่สุด 10 อันดับแรกได้รับรายงานว่ามีรายได้ถึง 6.5 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าหนึ่งในสามของรายได้รวมในงบประมาณปี 2566 จากบริษัททั้งหมดใน Southeast Asia 500 ซึ่งมีรายได้ทั้งสิ้น 1.8 ล้านล้านดอลลาร์ เกณฑ์รายได้ขั้นต่ำในการมีรายชื่ออยู่ใน Southeast Asia 500 คือ 460.8 ล้านดอลลาร์

ด้วยรายได้รวมอยู่ที่ 2.42 แสนล้านดอลลาร์ การธนาคารจึงเป็นภาคส่วนที่ใหญ่เป็นอันดับสองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่สำคัญ ธนาคาร 9 แห่งติดหนึ่งใน 20 บริษัทที่ทำกำไรได้มากที่สุด โดยนำด้วยธนาคาร DBS ของสิงคโปร์ทั้งในด้านรายรับและผลกำไร

ภาพรวมของ Southeast Asia 500 ในปีที่ผ่านมามีรายได้และผลกำไรที่ลดลง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นได้รับผลกระทบจากธุรกิจภาคพลังงานที่ถดถอยลง จึงได้บดบังการเติบโตที่น่าประทับใจในหลายอุตสาหกรรม บริษัทที่มีการเติบโตอย่างน่าประทับใจได้แก่สายการบินเช่น การบินไทย (Thai Airways) บริษัทเหมืองแร่ในอินโดนีเซียเช่น Harita Nickel และ Merdeka Battery Materials รวมถึงบริษัทประกันภัยและธนาคารอีกมากมาย

Clay Chandler บรรณาธิการบริหารประจำภูมิภาคเอเชีย กล่าวว่า "การจัดอันดับ Fortune Southeast Asia 500 สะท้อนให้เห็นถึงภูมิภาคที่มีโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีเศรษฐกิจหลักเติบโตเร็วกว่าภูมิภาคยุโรปหรือสหรัฐอเมริกา ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความสำคัญมากขึ้นในเศรษฐกิจโลก เนื่องจากบริษัทข้ามชาติที่ติดอันดับ Global 500 หลายแห่งได้ย้ายห่วงโซ่อุปทานการผลิตไปยังประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น"

ในการนำเสนอรายชื่อใหม่ที่จะถูกเผยแพร่บน Fortune.com และ Fortune Asia ฉบับเดือนมิถุนายน/ กรกฎาคม คุณ Clay ตั้งข้อสังเกตว่า "Southeast Asia 500 จะติดตามการเคลื่อนไหวของอุตสาหกรรมในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจด้านสินค้าโภคภัณฑ์ การขนส่ง การเงิน การค้าปลีก เทคโนโลยี หรือการให้บริการ ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปีต่อ ๆ ไป"

อีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่ในภูมิภาคที่นักวิเคราะห์ของ Fortune สังเกตเห็น คือการที่มีซีอีโอและประธานบริษัทหญิง ประมาณ 30 คน จากกลุ่ม Southeast Asia 500 และมีซีอีโอที่อายุน้อยที่สุดคือ นายศินนท์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทบ้านปู (BANPU) ของประเทศไทย ซึ่งมีอายุ 34 ปี และได้ดำรงตำแหน่งตั้งแต่เดือนมีนาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยรวมแล้วมีผู้นำในวัย 30 กว่า ๆ ทั้งสิ้น 16 คน ดำรงตำแหน่งซีอีโอ, กรรมการผู้จัดการ, ประธานกรรมการบริหารหรือประธานบริษัท และในจำนวน 500 บริษัทนี้ ว่าจ้างพนักงานรวมแล้วเกือบ 6 ล้านคนด้วยกัน

"เรารู้สึกตื่นเต้นที่ได้เผยแพร่ Southeast Asia 500 ให้กับผู้อ่านของเราทั่วโลก เราได้ต่อยอดจากประวัติศาสตร์ 70 ปีของการเผยแพร่ Fortune 500 ด้วยการจัดลำดับ Southeast Asia 500 ใหม่ล่าสุดนี้ ซึ่งเราจะเน้นไปที่เรื่องราวการเติบโตที่น่าประทับใจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และบริษัทอันดับต้น ๆ ที่เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจอันหลากหลายในภูมิภาคนี้" Khoon-Fong Ang หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการประจำภูมิภาคเอเชียของ Fortune กล่าวทิ้งท้าย

ด้วยการเปิดตัวรายชื่อ Southeast Asia 500 บริษัทที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มบริษัทชั้นนำที่ได้รับการยอมรับจากการรวมตัวกันภายใต้กลุ่ม Fortune 500 อันทรงเกียรติ ซึ่งประกอบด้วย Fortune 500 Global, Fortune 500 Europe, Fortune China 500 และ Fortune Southeast Asia 500 ใหม่นี้

รายชื่อและเรื่องราวของ Fortune Southeast Asia 500 จะวางจำหน่ายบนแผงขายหนังสือพิมพ์ทั่วเอเชียตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายนเป็นต้นไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ