นฤมิตไพรด์ พร้อมคณะทำงานสมรสเท่าเทียมภาคประชาชน และพันธมิตรภาคประชาสังคม จัดกระหึ่มงาน "แรลลี่ทั่วกรุง ฉลองสมรสเท่าเทียม" Celebration of Love ที่พร้อมโบกสะบัดธงไพรด์สีรุ้ง ประกาศชัยชนะวันแห่งประวัติศาสตร์ของ LGBTQIAN+ ฉลองกฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านฉลุย หลังวุฒิสภาลงมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม (ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ?.) และรอมานานกว่า 20 ปี ให้การแต่งงานของทุกเพศได้รับการรับรองสิทธิตามกฎหมาย ในวันอังคารที่ 18 มิถุนายน 2567 นี้ พร้อมเดินหน้าจัดจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมกว่า 1,000 คู่ ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ในเดือนตุลาคม 2567 นี้ หลังรอการลงนามในราชกิจจานุเบกษา 120 วัน
Pride Month เดือนมิถุนายน 2567 ถือเป็นเดือนแห่งการเฉลิมฉลอง เดือนแห่งความภาคภูมิใจ และเดือนแห่งวันประวัติศาสตร์ ชัยชนะของสมรสเท่าเทียมของเหล่า LGBTQIAN+ โดยกิจกรรม "แรลลี่ทั่วกรุง ฉลองสมรสเท่าเทียม" จะเริ่มปักหมุดที่รัฐสภา ตั้งแต่เวลา 10.00 น.โดยภาคประชาชนกว่า 100 คน แถลงข่าวความพร้อมของการเข้าร่วมพิจารณาสมรสเท่าเทียมในวุฒิสภา
- 12.00 น. การพิจารณาในวุฒิสภา
- 15.00 น. เสียงขอบคุณจากประชาชนต่อตัวแทนพรรคการเมือง (บริเวณห้องโถง รัฐสภา)
- 16.00 น. เดินทางไปทำเนียบรัฐบาล เพื่อร่วมกิจกรรม "สมรสเท่าเทียม" โดยการรับรองจาก นายกรัฐมนตรี "นายเศรษฐา ทวีสิน"
- 18.00 น. เดินทางไปยังหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
เพื่อร่วมกิจกรรม "สมรสเท่าเทียม ชัยชนะประชาชน" ฉลองชัยชนะของสมรสเท่าเทียม พร้อมเปิด "สัญลักษณ์สมรสเท่าเทียม" บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยกิจกรรมตลอดทั้งวันอังคารที่ 18 มิถุนายน 2567 จะเป็นการแสดงออกถึงความสำเร็จ และความร่วมมือของประชาชนที่ร่วมกันต่อสู้ เพื่อสิทธิและความเสมอภาคทางเพศ ซึ่งการผ่านกฏหมายสมรสเท่าเทียมครั้งนี้ จะเป็นก้าวสำคัญในการยอมรับและรองรับความหลากหลายทางเพศในสังคมไทย ถือเป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ในกระบวนการสร้างสังคมที่มีความเป็นธรรมและเสมอภาคอย่างแท้จริง ทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้ประเทศไทยก้าวไปสู่การเป็นสังคมที่เปิดกว้างและยอมรับความแตกต่างในทุกๆ ด้าน
อย่างไรก็ตาม การต่อสู้ของภาคประชาชนที่ดำเนินมาตลอดหลายปี ได้ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายที่สำคัญ และนำไปสู่ความเป็นธรรม ความเสมอภาคในทุกระดับของสังคม โดยบรรยากาศการเฉลิมฉลองทั้งภายในทำเนียบรัฐบาล และบริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครเต็มไปด้วยความตื่นเต้นและดีใจของกลุ่มผู้สนับสนุนกฎหมายสมรสเท่าเทียม กลุ่ม LGBTQIAN+ กลุ่ม DRAG QUEEN ดารานักแสดง คู่รัก LGBTQIAN+ อินฟลูเอนเซอร์ และคนดังในแวดวงการเมืองมากกว่า 1,000 คน พร้อมใจกันโบกสะบัดธงไพรด์สีรุ้งกันกระหึ่ม! เพื่อประกาศให้โลกรู้ถึงความ "เท่าเทียม" และความเสมอภาคทางเพศในประเทศไทย
วาดดาว - อรรณว์ ชุมาพร ประธานและผู้ก่อตั้ง นฤมิตไพรด์ ในฐานะผู้จัดงาน "Bangkok Pride Festival 2024" และผู้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ กล่าวว่า "ความสำเร็จในการผลักดันร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมครั้งนี้ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการสร้างสังคมที่เท่าเทียม และการเคารพในความหลากหลายทางเพศ ซึ่งการจัดกิจกรรม "สมรสเท่าเทียม ชัยชนะประชาชน" ครั้งนี้ ถือเป็นการประกาศชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ของสมรสเท่าเทียม ของชาว LGBTQIAN+ ซึ่งวันนี้คือวันสำคัญที่สุด วันที่เรารอคอยมานาน หลังจากที่นักเคลื่อนไหวรุ่นพี่ๆ สู้เรื่องการจัดตั้งครอบครัวมานานกว่า 20 ปี แต่ความเข้มข้นเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2017 หรือ 2560 หรือประมาณ 7 ปีที่ผ่านมา ที่เราปักหลักกับคำว่าสมรสเท่าเทียม และยื่นให้มีกฎหมายสมรสเท่าเทียมเกิดขึ้นในประเทศไทย เพราะมันสำคัญมากสำหรับคู่ชีวิตทุกรูปแบบและทุกเพศ โดยส่วนตัวมองว่ากฎหมายครอบครัวไม่ควรจำกัดแค่เพศชายหรือเพศหญิงเท่านั้น ณ วันนี้เราไม่รู้ว่ามีคู่รัก LGBTQIAN+ ที่เฝ้ารอกฎหมายออกมาอย่างเป็นทางการมากน้อยแค่ไหน แต่เชื่อว่ามีอยู่เยอะมากๆ ที่ต้องการพื้นที่ และการยอมรับอย่างเท่าเทียม และเชื่อว่าเมื่อกฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านแล้ว ทุกคนจะออกมาแสดงตัวตนอย่างภาคภูมิใจมากขึ้น ดูจากการจัดกิจกรรมที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร วันนี้มีคนเข้ามาร่วมกิจกรรมทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมากถึง 1,000 คน และคาดว่าทั่วประเทศน่าจะมีไม่ต่ำกว่า 10,000 คน ที่ร่วมประกาศชัยชนะครั้งนี้ไปพร้อมๆ กับพวกเราในวันนี้"
อย่างไรก็ตาม ในวันสำคัญนี้ (18 มิถุนายน 2567) นฤมิตไพรด์ พร้อมภาคประชาชนกว่า 100 คน ซึ่งจะมีคู่รัก LGBTQIAN+ 6 คู่ นำโดย 1.คู่รักปู่ย่า - คุณกัญจน์ เกิดมีมูล ,คุณปกชกร วงศ์สุภาร์ 2.คู่รักและบุตร - คุณอารยา อัศวกมลรัช,คุณหฤษฏ อัศวกมลรัช ,คุณเอวารินฏร์ อัศวกมลรัช 3.คุณกฤษฏิ์ธนัฐ ณ เชียงใหม่,คุณธีระชัย สิทธิกูลเกียรติ 4.คุณรามณรงค์ พานทอง, คุณอาทิตยา สุขเกษม 5.คุณพลอยนภัส จิราสุคนธ์ ,คุณขวัญพร กงเพ็ชร 6.คุณณัฐณิชา กลิ่นถาวร,คุณเควินเพทาย ถนอมเขต นำธงไพรด์สีรุ้งขนาดใหญ่เดินทางไปที่รัฐสภา เพื่อเข้าร่วมพิจารณาสมรสเท่าเทียมในวุฒิสภา
วันนี้จะเป็นวันแห่งประวัติศาสตร์ที่ชาว LGBTQIAN+ ประกาศชัยชนะของสมรสเท่าเทียม ให้ทุกเพศได้รับการรับรองสิทธิตามกฎหมาย เนื่องจากวันที่ 18 มิถุนายน 2567 เป็นวันประชุมของวุฒิสภา เพื่อพิจารณาสมรสเท่าเทียม ซึ่งคาดการณ์ว่าจะพิจารณาเห็นชอบในวาระที่ 2 และ 3 หากวุฒิสภาโหวตผ่าน ก็หมายถึง "ชัยชนะของสมรสเท่าเทียม" ในรัฐสภา และตามกฎหมายหากผ่านรัฐสภาแล้วจะรอการลงนามในราชกิจจานุเบกษาและสามารถจดทะเบียนสมรสได้ภายใน 120 วัน ดังนั้นวันนี้ "นฤมิตไพรด์" จึงจัดกิจกรรม "วันแห่งประวัติศาสตร์ ชัยชนะของสมรสเท่าเทียม" ขึ้น ซึ่งนอกจากจะมาฟังการพิจารณาเห็นชอบแล้ว ก็พร้อมจัดแรลลี่ไปที่ทำเนียบรัฐบาลด้วย เพื่อร่วมงาน "ฉลองสมรสเท่าเทียม" อย่างเป็นทางการ ซึ่งไฮไลท์สำคัญ อยู่ที่การโยนช่อดอกไม้ของคู่รัก LGBTQIAN+ 6 คู่ ในทำเนียบรัฐบาล ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนและเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ก่อนจะขึ้นรถแห่แรลลี่ "สมรสเท่าเทียม" รอบกรุงฯ มาที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เพื่อร่วมเฉลิมฉลองแบบฉ่ำๆ พร้อมเปิดป้ายโลโก้สมรสเท่าเทียมหรือ"สัญลักษณ์สมรสเท่าเทียม" อย่างเป็นทางการ ที่บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ซึ่งป้ายสัญลักษณ์นี้จะขึ้นอยู่ตลอด Pride Month เดือนมิถุนายน 2567 นี้
วาดดาว - อรรณว์ ชุมาพร กล่าวทิ้งท้ายว่า "มันคือความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่พวกเราชาว LGBTQIAN+ พยายามมาตลอดหลายปีจริงๆ เป็นการเฉลิมฉลองความสำเร็จอย่างเป็นทางการจากทุกภาคส่วน ดีใจที่เสียงของเราดังและทำสำเร็จแล้วในวันนี้ เราสามารถสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในประเทศไทยได้ การแสดงออกถึงความสำเร็จและความร่วมมือของประชาชน ที่ร่วมกันต่อสู้เพื่อสิทธิและความเสมอภาคทางเพศ ซึ่งการผ่านกฏหมายสมรสเท่าเทียมนี้ จะเป็นก้าวสำคัญในการยอมรับและรองรับความหลากหลายทางเพศในสังคมไทย นับเป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ในกระบวนการสร้างสังคม ที่มีความเป็นธรรมและเสมอภาคอย่างแท้จริง อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้ประเทศไทยเราก้าวไปสู่การเป็นสังคมที่เปิดกว้าง และยอมรับความแตกต่างในทุกๆด้าน การต่อสู้ของภาคประชาชนที่ดำเนินมาตลอดหลายปี ได้ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายที่สำคัญ และนำไปสู่ความเป็นธรรม ความเสมอภาคในทุกระดับของสังคม"