สกสว. ชวนสำรวจประเทศไทยพร้อมแค่ไหนกับการใช้ "AI" พัฒนาในองค์รวม พร้อมเปิดโรดแมปการลงทุน - หนุน ววน. เปลี่ยนโครงสร้างประเทศให้เท่าทันยุค AI ขับเคลื่อนสรรพสิ่ง

ข่าวเทคโนโลยี Tuesday June 25, 2024 11:11 —ThaiPR.net

สกสว. ชวนสำรวจประเทศไทยพร้อมแค่ไหนกับการใช้

AI คือเทรนด์ด้านเทคโนโลยีที่ถูกพูดถึงและนำมาใช้กันแพร่หลายมากที่สุดในรอบปีที่ผ่านมา ด้วยความโดดเด่นของการประมวลผลข้อมูลที่ชาญฉลาด และความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบ ช่วยสนับสนุนการทำงานด้านต่างๆ ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ทั้งในภาคการเกษตร การผลิต การค้า และบริการ จึงทำให้ทั่วโลกมีการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยี AI มากกว่า 9.19 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี ค.ศ. 2022 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี ค.ศ. 2025 ขณะที่การนำ AI มาใช้งานสามารถช่วยเพิ่ม GDP ของโลกได้อีก 7% (7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) และยกระดับประสิทธิภาพการผลิตเพิ่มขึ้น 1.5% ต่อปี โดยประเทศไทยเองก็อาจเพิ่มผลิตภาพประมาณ 0.9% ต่อปี จากการประยุกต์ใช้ ทั้งนี้ AI ก็มาพร้อมกับช่องว่างหรือ GAP ในหลายมิติที่รัฐบาลต้องเตรียมการรับมืออย่างมีประสิทธิภาพ จากแนวโน้มด้านการลงทุนและพัฒนาที่กล่าวมา จึงเกิดคำถามว่า ประเทศไทยพร้อมแค่ไหนสำหรับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้

สำรวจภาพรวมประเทศพร้อมแค่ไหนกับ "AI"

จากการสำรวจความพร้อมในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI ในองค์กร ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา พบว่า มีหน่วยงานเพียง 15.2% (จาก 565 หน่วยงานที่ตอบแบบสอบถาม) ที่นำเทคโนโลยี AI ไปใช้แล้ว โดย 50% ของหน่วยงานที่ตอบแบบสอบถามคาดหวังในการใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตหรือบริการขององค์กร ขณะที่เหตุผลของหน่วยงานที่ยังไม่นำ AI มาใช้งาน คือ 1. ยังอยู่ในช่วงของการศึกษาหาข้อมูล เนื่องจากยังไม่ทราบว่าจะนำ AI มาประยุกต์ใช้อย่างไร 2. ยังขาดความพร้อมในด้านต่าง ๆ เช่น โครงสร้างพื้นฐาน บุคลากร งบประมาณ และ 3. ยังไม่มีความจำเป็นในการนำ AI มาใช้

รู้หรือไม่ปัจจุบันประเทศไทยมีแผนด้าน AI ที่สร้างความเข้มแข็งให้กับหลากหลายภาคส่วน

เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการพัฒนาเทคโนโลยี AI ของประเทศอย่างเป็นระบบ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สทวช. ได้ร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) จัดทำ "แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย พ.ศ. 2565-2570" ซึ่งมีเป้าหมายในการนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในวงกว้าง เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจและช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน ผ่าน 5 ยุทธศาสตร์ 15 แผนงานส่วนด้านของกลไกการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการฯ ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงานที่เกี่ยวข้องรวม 3 คณะ ได้แก่ 1. คณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติ 2. คณะอนุกรรมการพัฒนากำลังคนด้านปัญญาประดิษฐ์ และ 3. คณะทำงานขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติ

โดยมี สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว. ในฐานะกรรมการของคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติ และอนุกรรมการของคณะอนุกรรมการพัฒนากำลังคนด้านปัญญาประดิษฐ์ มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยี AI ผ่านแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ พ.ศ. 2566-2570 โดยมีเป้าหมาย ดังนี้ 1. การเพิ่มมูลค่าการขายผลิตภัณฑ์และบริหารเทคโนโลยีดิจิทัลและ AI จำนวน 1,000 ล้านบาท 2. หน่วยงานภาครัฐหรือภาคเอกชน มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและ AI จากผลงานการวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม จำนวน 300 หน่วยงาน 3. การเพิ่มจำนวนผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัย พัฒนา และ/หรือการประยุกตใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและ AI จำนวน 600 คน

นอกจากนี้ สกสว. ได้มีการจัดสรรงบประมาณให้กับแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมในการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลและ AI ระหว่างปี พ.ศ. 2563-2566 เป็นจำนวนทั้งสิ้น 2,114.47 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นงบประมาณ 1,309.57 ล้านบาทในการสนับสนุนงานเชิงกลยุทธ์ ผ่านหน่วยบริหารจัดการทุนจำนวน 2 แห่ง ได้แก่ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ หรือ บพข. และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. และงบประมาณ 804.9 ล้านบาท ในการสนับสนุนงานเชิงมูลฐาน ให้แก่หน่วยงานและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลและ AI โดยแนวทางการสนับสนุนทุน ได้แก่ การพัฒนานวัตกรรมประยุกต์ใช้ AI ในอุตสาหกรรมต่าง ๆการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการวิจัยและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการพัฒนาและยกระดับกำลังคนด้าน AI

อีกทั้ง สกสว. ร่วมกับ TIME Labs ม.มหิดล เร่งพัฒนาโรดแมปวิจัย รองรับยุทธศาสตร์การเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรม S-Curve ของประเทศไทย ผ่านการศึกษาการจัดทำแผนที่นำทางการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีรายสาขา เพื่อรองรับยุทธศาสตร์ฯ สู่อุตสาหกรรมใหม่ในอนาคต จำนวน 11 อุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเฉพาะด้านดิจิทัลซึ่งเป็น 1 ใน 11 อุตสาหกรรม และมีประเด็นเรื่อง AI เป็นองค์ประกอบที่สำคัญ โดยได้มีการวางเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ออกเป็นระยะสั้น2565-2566 ระยะกลาง 2567-2569 และระยะยาว 5 ปีขึ้นไป

AI คือเรื่องใหม่ที่ต้องสร้างผู้เชี่ยวชาญในประเทศไทยให้เกิดขึ้นทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ

โดยในปัจจุบันที่เป็นระยะกลาง พ.ศ.2567-2569 เป้าหมายคือ สร้างบุคลากรใหม่ด้านดิจิทัลหรือบัณฑิตจบใหม่จากสถาบันการศึกษาที่มีการพัฒนาหลักสูตรที่เหมาะสมต่อดิจิทัลทรานฟอร์เมชั่นและยังครอบคลุมการปรับคุณวุฒิ บุคลากรด้านดิจิทัลปัจจุบันด้วยหลักสูตรที่เหมาะสมในอุตสาหกรรมยกระดับการพัฒนาระบบต่างๆ เพื่อเร่งสร้าง Talent ซึ่งถือเป็นปัจจัยหลักที่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต หรือ Future Industry จะเข้ามาลงทุนในประเทศ ส่งผลให้ประเทศไทยสามารถเข้าสู่การเป็นประเทศที่สามารถคิดค้นและสร้างเทคโนโลยีของตนเอง และจะส่งผลโดยตรงต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจต่อหัวของประชากรไทยสูงขึ้น

นอกจากนี้แผนที่นำทางดังกล่าวจะเน้นการสร้างบุคลากรใหม่ด้านดิจิทัล การยกระดับการพัฒนาระบบต่าง ๆ เช่น การเข้าถึงข้อมูล (Accessibility) ทั้งสิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูล (Free access) และความยุติธรรมของการเข้าถึงข้อมูล (Fair access) ตลอดจนการเชื่อมต่อกันของข้อมูล(Connectivity) การยกระดับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่สามารถขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์ (Al driven industries) แล้วนั้นยังได้มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเรื่องต่าง ๆ ดังนี้

  • ส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายร่วมระหว่างบุคลากรด้านดิจิทัลและอุตสาหกรรมอื่น ๆ
  • เพิ่มบุคลากรด้านดิจิทัลและส่งเสริมให้มีความสามารถในการทำงานกับต่างประเทศ
  • ส่งเสริมการเข้าถึงข้อมูล (Accessibility) ทั้งสิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูล (Free access) และความยุติธรรมของการเข้าถึงข้อมูล (Fair access) ตลอดจนการเชื่อมต่อกันของข้อมูล (Connectivity)
  • กำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในมิติต่าง ๆ เช่น Digital Ethics, Decentralized Finance, Al Governance, AI TRISM, Responsible Al
  • ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น GPU, Network 5G, AI Maker Teaching Kits, Data labelling and annotation services, Al Cloud Services, Composite AI และ Sandbox สำหรับการวิจัยเทคโนโลยีใหม่ๆ

เรื่อง "ท้าทาย" ที่ "ต้องทำ" เพื่อก้าวไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว

นอกจากภาพรวมในเรื่อง AI ที่ได้กล่าวมาแล้ว พบว่าเทคโนโลยี AI มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะการถือกำเนิดของ Applications อย่าง ChatGPT ซึ่งเพิ่มเติมจากเรื่องกระบวนการเรียนรู้แบบ Machine Learning เดิมมาสู่ยุค Generative AI (GAI) ภายในช่วงเวลาไม่กี่ปี ดังนั้นหากจะตอบคำถามว่าไทยมีความพร้อมแค่ไหนสำหรับการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ ก็คงเป็นคำตอบที่มีความท้าทายไม่น้อย ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเลือกทิศทางและแนวทางในการเดินไปข้างหน้าในเรื่องนี้อย่างไร แน่นอนว่าเรื่องนโยบาย แผนงานที่ชัด กลไกการส่งเสริม รวมไปถึง งบประมาณการลงทุน จะเป็นตัวชี้นำการเปลี่ยนแปลงของประเทศอย่างมีนัยยะสำคัญ ขณะที่การลงทุนด้าน วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมในเรื่อง AI นั้นเป็นสิ่งจำเป็นอันดับต้นๆที่จะเกื้อหนุนให้ภาคเอกชนรายใหญ่ทั้งไทยและต่างประเทศตัดสินใจที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะโอกาสที่เป็นปัจจัยด้านบวกในการเลือกสมรภูมิฐานการผลิตของค่ายยักษ์ใหญ่ที่เป็นผู้นำตลาดทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออก ในการเข้ามาจัดตั้ง Datacenter, Could System, AI Infrastructure อย่าง GPU และฐานการผลิตในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องมากมายในภูมิภาคนี้ อย่างไรก็ดี สกสว. ในบทบาทของผู้จัดทำแผนและจัดสรรงบประมาณ ด้าน ววน. พร้อมสนับสนุนการดำเนินงานร่วมกับภาคีทุกภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องในด้านดิจิทัลและ AI ในประเทศไทย เพื่อให้เรากลายเป็นประเทศที่สามารถหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางไปสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในอนาคตอันใกล้นี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ