หน้าฝนมาแล้ว.. ระวังสัตว์และแมลงมีพิษ

ข่าวทั่วไป Thursday June 27, 2024 08:46 —ThaiPR.net

หน้าฝนมาแล้ว.. ระวังสัตว์และแมลงมีพิษ

หน้าฝนวนมาอีกครั้ง ถึงเวลาที่ต้องดูแลตัวเองและที่อยู่อาศัยเป็นพิเศษ เพราะฝนไม่ได้นำมาแค่ความชุ่มฉ่ำ แต่ยังนำสัตว์และแมลงตัวร้ายที่ไม่ได้รับเชิญซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อตัวท่านและคนในครอบครัวได้

เป็นธรรมชาติของสัตว์ที่จะหนีน้ำขึ้นที่สูงในช่วงหน้าฝน รวมถึง "บ้าน" ที่เป็นแหล่งหลบซ่อนได้เป็นอย่างดี ดังนั้นจึงควรหมั่นดูแลรักษาความสะอาดบ้าน ปิดช่องทางหรือรูต่างๆ และจัดระเบียบบ้านและพื้นที่โดยรอบไม่ให้รกร้าง อีกทั้งยังควรศึกษาวิธีรับมือเมื่อโดนกัดต่อยให้ดี เพราะสัตว์และแมลงบางชนิดมีพิษที่อาจทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ เช่น แมงป่อง แมงมุมแม่มายดำ เป็นต้น

พญ.รัตติยา เหลืองอำพนศักดิ์ แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน ศูนย์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลหัวเฉียว กล่าวว่า  เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงอย่างไม่คาดคิด โรงพยาบาลหัวเฉียวจึงขอแนะนำวิธีรับมือเมื่อโดนสัตว์มีพิษ 4 ชนิด ที่มากับหน้าฝนกัดต่อยเบื้องต้น ดังนี้

แมงป่อง นอกจากจะมีอาการปวดบวมแดง แสบร้อนแล้ว ในบางรายมีอาการรุนแรง เช่น หัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็ว ความดันโลหิตสูง และอาจส่งผลถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้นควรรีบทำความสะอาดบริเวณที่โดนต่อยและประคบเย็น ครั้งละ 10 นาที เพื่อลดอาการปวด และช่วยให้เส้นเลือดหดตัวทำให้พิษจะกระจายตัวช้าลง จากนั้น  ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

ตะขาบ เมื่อโดนกัดจะมีอาการปวด คัน บวมแดงบริเวณที่ถูกกัด ควรทำความสะอาดบริเวณที่โดนกัดด้วยน้ำสะอาด หมั่นประคบน้ำอุ่น ครั้งละ 10 นาที เพื่อลดอาการปวดบวม หรือรับประทานยาแก้ปวดเมื่อรู้สึกปวด   และถึงแม้พิษของตะขาบไม่รุนแรงถึงกับทำให้เสียชีวิต แต่หากมีอาการแพ้รุนแรง ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

แมลงก้นกระดก มีพิษแสบร้อน เมื่อสัมผัสโดนจะมีอาการคัน ปวดและแสบ ผิวไหม้ มีผื่นแดง ตุ่มน้ำ   เป็นหนองตามผิวหนังที่สัมผัส ควรรีบทำความสะอาดด้วยน้ำสะอาด หากมีอาการอักเสบรุนแรงให้รีบพบแพทย์ทันที

แมงมุมแม่ม่ายดำ มีพิษออกฤทธิ์กับระบบประสาท แม้จะมีรอยแดงบริเวณที่ถูกกัดเพียงเล็กน้อย แต่จะมีอาการปวด ตามมาด้วยตะคริวตามกล้ามเนื้อ ถ้าอาการรุนแรงอาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน มึนศีรษะ    เป็นลม เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก ความดันโลหิตสูงและอาจจะอันตรายถึงขั้นไตวาย หรือภาวะเลือดแข็งในหลอดเลือด ดังนั้นหากมีอาการรุนแรง การรักษาหากมีอาการปวดเพียงเล็กน้อยอาจใช้การประคบน้ำอุ่นร่วมกับรับประทานยาแก้ปวด หากมีอาการรุนแรงควรรีบพบแพทย์ทันที

ศูนย์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลหัวเฉียว มีทีมแพทย์ พยาบาลและบุคลากรฉุกเฉินที่ได้รับการฝึกอบรมด้านเวชศาสตร์ฉุกเฉิน มุ่งมั่นให้การดูแลผู้ป่วยด้วยคุณภาพมาตรฐาน เพื่อความปลอดภัยเป็นสำคัญ พร้อมทีมกู้ชีพช่วยเหลือ มีบริการรถ Mobile ICU เพื่อรองรับผู้บาดเจ็บ ผู้ป่วย หรือสถานการณ์ฉุกเฉิน ตลอด 24 ชั่วโมง สายด่วนศูนย์ฉุกเฉิน โทร. 081-234-1302  หรือ 063-848-6525        


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ