โดยทั่วไปร่างกายมนุษย์มักคุ้นเคยกับ "ยาเก่า" มากกว่า "ยาใหม่" หากเปรียบร่างกายเหมือน "แผนที่เดินทาง" ด้วยการศึกษาวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างยา และการออกฤทธิ์ต่อโปรตีนเป้าหมาย (Structure - Activity Relationship, SAR) จะคอยนำทางให้นักวิจัยค้นพบหนทางสู่การเยียวยาด้วย "ยาเก่า" ในกลุ่มโรคที่แตกต่างกันได้
อาจารย์ ดร.ณัฐภัทร อนุวงศ์เจริญ อาจารย์ประจำภาควิชาเทคนิคการแพทย์ชุมชน คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นหนึ่งในกลุ่มนักวิจัยที่พยายามไขความลับของคุณสมบัติของยาว่ามีความสัมพันธ์เพียงใดต่อโปรตีนชนิดต่างๆ ในร่างกาย โดยในยาหนึ่งชนิด อาจไม่ได้มุ่งรักษาโรคเพียงชนิดใดชนิดหนึ่ง การทำงานของโปรตีนว่ามีความสัมพันธ์เพียงใดต่อคุณสมบัติของยา โดยในยาหนึ่งชนิด แต่อาจใช้รักษาโรคที่มีคุณสมบัติของโปรตีนซึ่งมีองค์ประกอบคล้ายกันได้
โดยการค้นพบดังกล่าวถือเป็น "ใบเบิกทาง" สู่การส่งต่อเพื่อวิเคราะห์ในเชิงลึกสู่การใช้จริงต่อไป ถือเป็นบทบาทที่สำคัญในฐานะนักเทคนิคการแพทย์ จากห้องแล็บถึงห้องยา
หนึ่งในการค้นพบที่น่าสนใจด้วยเทคนิค Proteochemometric (PCM) คือการค้นพบว่า "ยารักษาโรคมะเร็ง" และ "ยาต้านจุลชีพ" หลายชนิด สามารถออกฤทธิ์กับโปรตีนเป้าหมายที่หลากหลาย (Polypharmacology) จึงมีแนวโน้มสำหรับประยุกต์ใช้รักษาโรคที่หลากหลายได้ ซึ่งเทคนิคนี้อาศัยคลังข้อมูลขนาดใหญ่ ร่วมกับการประมวลผลด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) จนนำไปสู่การพัฒนาแบบจำลองคอมพิวเตอร์ที่สามารถทำนายคุณสมบัติการออกฤทธิ์ของยาได้อย่างแม่นยำ และสามารถต่อยอดไปสู่การทดสอบทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันคุณสมบัติที่ค้นพบได้
ประโยชน์ที่ได้นอกการสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการดูแลผู้ป่วยให้ได้รับผลการรักษาที่ดีขึ้นแล้ว ยังสามารถต่อยอดสร้างมูลค่า ลดค่าใช้จ่ายและระยะเวลาในการพัฒนายาใหม่ โดย อาจารย์ ดร.ณัฐภัทร อนุวงศ์เจริญ ได้กล่าวฝากทิ้งท้ายถึงการเป็นนักวิจัยที่ประสบความสำเร็จ จะต้องตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน และเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่อย่างต่อเนื่อง จะทำให้ได้งานวิจัยและนวัตกรรมที่มีทิศทางสู่การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th