การลงทุนในหุ้นนอกตลาด (Private Equity) พิจารณาใหม่อีกครั้งกับการลงทุนกับผู้จัดการเดิม

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday June 27, 2024 09:45 —ThaiPR.net

การลงทุนในหุ้นนอกตลาด (Private Equity) พิจารณาใหม่อีกครั้งกับการลงทุนกับผู้จัดการเดิม

เมื่อเราเข้าสู่กระบวนทัศน์ของตลาดแบบใหม่ ผู้ลงทุนในหุ้นนอกตลาด (private equity) อาจพิจารณาถอดบทเรียนจากความสำเร็จของการลงทุนในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งทาง ชโรเดอร์ส แคปปิตอล (Schroders Capital) ได้ทำการสำรวจโอกาสที่น่าดึงดูดที่สุดของหุ้นนอกตลาดไว้ในปัจจุบัน

กรอบแนวคิด 3D Reset ของ ชโรเดอร์ส ที่ประกอบไปด้วยการเปลี่ยนแปลงทางประชากรศาสตร์ (Demographic) การลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอน (Decarbonisation) และการทวนกระแสโลกาภิวัตน์ (Deglobalisation) กำลังกำหนดทิศทางการเติบโตในระยะยาวและพลวัตของเงินเฟ้อทั่วโลก ก่อให้เกิดกระบวนทัศน์ของตลาดแบบใหม่ ที่จะส่งผลกระทบต่อการลงทุนในหุ้นนอกตลาดในหลายระดับ

แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันอาจลดลง แต่กรอบแนวคิด 3D Reset กำลังสร้างแรงผลักดันให้กับภาวะเงินเฟ้อในหลายประเทศในแถบตะวันตก ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะทำให้อัตราดอกเบี้ยมีความคงอยู่ในระดับที่สูงขึ้นมากกว่าแต่ก่อน สภาวการณ์นี้สร้างความท้าทายให้กับกลยุทธ์ large buyouts ซึ่งเป็นการลงทุนในบริษัทนอกตลาดขนาดใหญ่ และมักต้องอิงกับอัตราดอกเบี้ยในระดับที่ต่ำ ในทางตรงกันข้าม small-mid buyouts ซึ่งเป็นการลงทุนในบริษัทนอกตลาดขนาดกลางถึงเล็กจะมีความน่าสนใจมากขึ้น เนื่องจากมีเสถียรภาพในแง่ของ Dry Powder มากกว่า (จำนวนเงินที่ผู้จัดการกองทุนระดมมาใช้สำหรับการลงทุนใหม่ในอนาคต) ส่งผลให้การแข่งขันในการแย่งเข้าลงทุนมีน้อยกว่า และทำให้ระดับราคาในการเข้าลงทุนมีความน่าสนใจมากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับกลยุทธ์แบบ large buyouts

โอกาสการลงทุนในหุ้นนอกตลาด (private equity) ในอินเดียและจีน

3D Reset จะสร้างกระแสการเติบโตในบางประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบเอเชีย ซึ่งได้รับแรงหนุนจากความได้เปรียบด้านประชากรศาสตร์และรายได้ของประชากรที่เพิ่มขึ้น ซึ่งมีความแตกต่างกับในอดีตที่การเติบโตเน้นไปที่การส่งออกเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก

เมื่อพิจารณาถึงพลวัตของตลาดแบบใหม่เหล่านี้ นักลงทุนควรมุ่งเน้นไปที่โอกาสที่จะได้รับประโยชน์จากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว กระจายการจัดสรรการลงทุนหุ้นนอกตลาดให้หลากหลาย และมุ่งเน้นไปที่บริเวณที่มีพลวัตของการระดมทุนที่เหมาะสม การลงทุนในบริษัทนอกตลาดขนาดกลางถึงเล็ก (small-mid buyouts) คาดว่าจะมีผลตอบแทนเหนือกว่าการลงทุนในบริษัทนอกตลาดขนาดใหญ่ (large buyouts) และยังมีแนวโน้มที่ดีในประเทศอินเดียและจีน ซึ่งมีการลงทุนในสกุลเงินหยวนเป็นหลัก

ความน่าสนใจของหุ้นนอกตลาดขนาดเล็กถึงกลาง

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา การระดมทุนโดยกองทุนหุ้นนอกตลาดขนาดใหญ่ได้แซงหน้าการลงทุนไปมาก ส่งผลให้มีการแข่งขันกันมากขึ้นสำหรับการเข้าซื้อและการประเมินมูลค่าของบริษัทก่อนการเข้าลงทุนที่สูงขึ้น ตั้งแต่ปี 2010 ถึง 2022 กองทุนหุ้นนอกตลาดขนาดใหญ่มีการระดมทุนเพิ่มขึ้น 11 เท่า แซงหน้าการเติบโตของการลงทุนที่เติบโตเพิ่มขึ้นเพียง 4 เท่า ในขณะเดียวกัน กองทุนขนาดเล็กและขนาดกลางมีเสถียรภาพของอุปสงค์และอุปทานเงินทุนที่มากกว่า โดยมีการเติบโตเพียง 3 เท่าในการระดมทุน และ การลงทุนมีการเติบโต 4 เท่าในช่วงเวลาเดียวกัน ปัจจัยนี้ส่งผลให้การประเมินราคาในการเข้าซื้อของ small-mid Buyouts มีความน่าสนใจมากกว่าเมื่อเทียบกับการซื้อของ large Buyouts ซึ่งปัจจุบันการเข้าซื้อของ small-mid Buyouts มีการประเมินราคาอยู่ที่ประมาณ 5-6 เท่าของค่า EV/EBITDA

นอกจากนี้ small-mid Buyouts ยังได้รับประโยชน์จากการขายต่อบริษัทที่เข้าลงทุน (exit strategy) เพิ่มเติม ซึ่งเป็นผลมาจากการระดมทุนที่มากในหมู่กองทุน large Buyouts อาทิ การขายบริษัทที่เข้าลงทุนให้กับกองทุน large Buyouts

การวิเคราะห์ข้อมูลจาก Preqin ของเรา จากกองทุนหุ้นนอกตลาดกว่า 49,000 กองทุน แสดงให้เห็นว่า กองทุนขนาดเล็กถึงกลางมักให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าในแง่ของมูลค่ารวมสุทธิ (TVPI) และอัตราผลตอบแทนสุทธิ (IRR) การให้ผลตอบแทนที่สูงกว่านี้ยังปรากฏให้เห็นทั่วทุกภูมิภาคและแม้แต่ในช่วงที่เศรษฐกิจถดถอย

กองทุนหุ้นนอกตลาดขนาดเล็ก-กลางให้ผลตอบแทนสุทธิสูงกว่ากองทุนหุ้นนอกตลาดขนาดใหญ่

การเติบโตภายในประเทศของจีนและอินเดียนำมาซึ่งโอกาสในการลงทุนที่น่าสนใจ

จีนยังคงเป็นประเทศที่น่าดึงดูดสำหรับการลงทุนในหุ้นนอกตลาด โดยได้รับแรงหนุนจากโอกาสภายในประเทศที่เกิดจากการสร้างธุรกิจเพื่อทดแทนการนำเข้า และการบริโภคภายในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น ในส่วนนี้กองทุนที่ลงทุนเป็นสกุลเงินหยวนมีความน่าสนใจเป็นพิเศษ เนื่องจากมุ่งเน้นการลงทุนไปที่บริษัทขนาดเล็กถึงกลาง และเป็นแหล่งรวมบริษัทนอกตลาดที่ใหญ่ที่สุดของจีน อีกทั้งยังได้รับผลกระทบที่น้อยกว่าจากปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจเกิดขึ้นในการลงทุนกองทุนจีนในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ

ภาคธุรกิจเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีขั้นสูงและภาคการผลิต ตลอดจนเทคโนโลยีสีเขียว ได้รับอานิสงค์จากการทดแทนการนำเข้าของจีน ภาคสินค้าอุปโภคบริโภคของจีนก็ถือเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่มีความน่าสนใจและน่าดึงดูด ในปี 2020 ชโรเดอร์ส แคปปิตอล ได้ลงทุนในแบรนด์ของเล่นชั้นนำจากดีไซเนอร์ของจีน โดยได้รับประโยชน์จากกลุ่มประชากรเจน Z ที่มีจำนวนมาก และความนิยมในแบรนด์ท้องถิ่นที่เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้เรายังเห็นโอกาสในอินเดีย เนื่องจากคาดว่าอินเดียมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสามของโลกภายในปี 2028* เนื่องมาจากความได้เปรียบทางประชากรศาสตร์ การปรับใช้ระบบดิจิทัลที่มากขึ้น การเป็นฐานการผลิตที่เติบโตอย่างรวดเร็ว และศักยภาพในการเป็นพันธมิตร "China+1" ที่สำคัญ หุ้นนอกตลาดให้โอกาสนักลงทุนในการเข้าถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดียอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน นำโดยบริษัทที่ดำเนินงานในภาคส่วนที่เติบโตสูง ได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภค การดูแลสุขภาพ และเทคโนโลยี ซึ่งล้วนแต่เป็นบริษัทนอกตลาดเกือบทั้งหมด ในปี 2016 ชโรเดอร์ส แคปปิตอล ได้ลงทุนในบริษัทแว่นตาชั้นนำในอินเดีย โดยได้รับประโยชน์จากรายได้ที่เพิ่มขึ้นของประชากรอินเดีย และการนำระบบดิจิทัลมาปรับใช้ในธุรกิจ

*แหล่งที่มา: IMF GDP estimates, Schroders Capital, 2024

ชโรเดอร์ส แคปปิตอล: ด้วยประวัติการลงทุนในหุ้นนอกตลาดที่สร้างผลตอบแทนอย่างสม่ำเสมอ พร้อมโอกาสการลงทุนที่เข้าถึงได้ยาก

ชโรเดอร์ส แคปปิตอล ซึ่งเป็นฝ่ายการลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาดของชโรเดอร์ส เป็นผู้บริหารจัดการสินทรัพย์นอกตลาดชั้นนำระดับโลก โดยมีมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการราว 94 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2023) ครอบคลุมกลยุทธ์การลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาดที่หลากหลาย ได้แก่ หุ้นนอกตลาด หนี้สินนอกตลาดและสินเชื่อทางเลือก อสังหาริมทรัพย์ และโครงสร้างพื้นฐาน

ด้วยประวัติความสำเร็จตลอด 25 ปี ความเชี่ยวชาญด้านหุ้นนอกตลาดของเราครอบคลุมทั้งตลาด buyouts ตลาดรอง venture capital & growth ตลอดจนตลาดเกิดใหม่ เราเป็นนักลงทุนที่มีประสบการณ์โดยมุ่งเน้นไปที่ตลาดเฉพาะกลุ่มผ่านมุมมองระดับโลกของเรา ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการซื้อธุรกิจครอบครัวและธุรกิจของผู้ก่อตั้งเป็นหลัก โดยอาศัยความสัมพันธ์อันยาวนานกับผู้จัดการลงทุน (General Partner) ที่มีผลงานยอดเยี่ยมและน่าเชื่อถือที่สุดในแต่ละตลาดและภาคธุรกิจ

กลยุทธ์การสร้างความแตกต่างที่สำคัญของเราคือการมุ่งเน้นไปที่โอกาสที่หลากหลายในบริษัทขนาดเล็กถึงกลาง ซึ่งเรามักจะพบโอกาสในการสร้างมูลค่าเพิ่มที่สำคัญ

ในขณะที่สินทรัพย์นอกตลาดมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มมากขึ้น เราเชื่อว่า ทักษะ ประสบการณ์ และเครือข่ายของเราจะยังคงขับเคลื่อนผลลัพธ์และผลการลงทุนที่ดีสำหรับลูกค้าของเราต่อไป

ข้อมูลสำคัญ: เอกสารนี้จัดทำโดย ชโรเดอร์ส สำหรับใช้เป็นข้อมูลและการเผยแพร่ทั่วไปเท่านั้น และข้อคิดเห็นที่ปรากฏอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้โดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ไม่ถือเป็นข้อเสนอหรือการชักชวนให้ซื้อขายในหน่วยของกองทุนชโรเดอร์ส ใดๆ และไม่มีความเกี่ยวข้องกับวัตถุประสงค์การลงทุนใดๆ ตลอดจนสถานการณ์ทางการเงิน หรือความต้องการเฉพาะของบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่อาจได้รับข่าวสารนี้ บทความนี้ยังไม่ได้รับการตรวจสอบโดยธนาคารกลางสิงคโปร์

ผู้เขียน: ทิม บูลล์ (Tim Boole) Head of Product Management, Private Equity หัวหน้าฝ่ายบริการจัดการผลิตภัณฑ์กองทุน Private Equity และ เวอริตี้ ฮาวเวลส์ (Verity Howells) Investment Research Manager, Private Equity ผู้จัดการฝ่ายวิจัยการลุงทุน Private Equity

บริษัท ชโรเดอร์ส อินเวสเมนต์ (สิงคโปร์) จำกัด 138 มาร์เก็ต สตรีท #23-01 แคปปิตอลกรีน 048946 เลขทะเบียนนิติบุคคล: 199201080H


แท็ก SET  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ