กรุงเทพฯ--7 ก.ค.--นิโอ ทาร์เก็ต
รายงานข่าวจากสำนักเจรจาการค้าบริการ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงการเจรจาเขตการค้าเสรี(เอฟทีเอ) ระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาว่า ในภาพรวมของธุรกิจการท่องเที่ยวเชื่อว่าจะเอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการและผู้เกี่ยวข้องกับธุรกิจนี้เป็นอย่างดี อันจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เนื่องจากธุรกิจท่องเที่ยวทำรายได้เข้าประเทศสูงมาก โดยในช่วงปี พ.ศ 2545 - 2547 มีรายได้จากภาคธุรกิจท่องเที่ยวประมาณปีละ 310,000 ล้านบาท
ผลการศึกษาของสำนักเจรจาการค้าบริการพบว่า จะเอื้อประโยชน์ใน 2 ธุรกิจใหญ่ที่ต่อเนื่องกับภาคธุรกิจการท่องเที่ยวคือ อุตสาหกรรมโรงแรมและอุตสาหกรรมร้านอาหาร ซึ่งเป็น 2 ธุรกิจที่ทำรายได้สูงเข้าประเทศ ในส่วนของธุรกิจร้านอาหารนั้น รายงานข่าวระบุว่า การเจรจากับสหรัฐฯครั้งนี้ ถือว่าเป็นจุดสำคัญในการนำไปสู่เป้าหมายการเป็น "ครัวโลก" ที่รัฐบาลไทยต้องการให้อาหารไทยเป็นที่แพร่หลายไปทั่วโลก ซึ่งจะเพิ่มจำนวนร้านอาหารไทยในต่างประเทศซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 6,500 แห่ง ทำรายได้ประมาณปีละ 33,500 ล้านบาท ว่าจะทำให้เป้าหมายที่จะขยายเป็น 10,000 แห่งในปี 2549 และทำรายได้เข้าประเทศกว่า 50,000 ล้านบาท และขยายอีกเท่าตัวเป็น 20,000 แห่งในปี 2551 ซึ่งเป็นปีที่เป็นเป้าหมาย "ครัวโลก" ไม่ไกลจากความเป็นจริง
อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาของสำนักเจรจาการค้าบริการ พบว่าหนึ่งในปัญหาของการเจรจาธุรกิจร้านอาหารกับสหรัฐฯนั้น จะติดปัญหาเรื่อง "พ่อครัว" ห้องอาหารหรือภัตตาคารไทย เนื่องจากกฎหมายของสหรัฐฯไม่ถือว่าพ่อครัวเป็น "อาชีพ" (PROFESSIONAL) จึงยากที่จะขอวีซ่าเพื่อเข้าไปประกอบอาชีพนี้ ทางออกที่เป็นไปได้ในการแก้ปัญหานี้ คือ การเจรจาให้สหรัฐฯ ยอมรับว่า พ่อครัวเป็น “อาชีพ” ที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญ โดยอาจมีการกำหนดคุณสมบัติของอาชีพพ่อครัว ต้องมีระดับการศึกษาสูง หรือมีประสบการณ์ในการประกอบอาชีพนาน ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสในการขอวีซ่าใน
อีกช่องทางหนึ่ง ปัจจุบันร้านอาหารไทยในสหรัฐฯ มีประมาณ 3,000 แห่ง และมีส่วนแบ่งตลาดเพียง 1% คิดเป็นมูลค่า 1,600 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งหมายถึงมีโอกาสที่จะขยายธุรกิจได้อย่างมหาศาล ตามกระแสความนิยมอาหารไทยที่แพร่หลายทั่วโลก ขณะเดียวกัน สำนักเจรจาการค้าบริการ ศึกษาพบว่า เขตการค้าเสรีไทย-สหรัฐฯนั้น ประเทศสหรัฐอเมริกาไม่เข้มงวดในการเจรจาธุรกิจนี้มากนัก จึงไม่มีเหตุผลที่จะจำกัดการลงทุนของธุรกิจร้านอาหารไทยที่มีส่วนแบ่งการตลาดเพียง 1% เท่านั้น เนื่องจากสหรัฐฯ เปิดโอกาสให้นักลงทุนจากทุกชาติสามารถเข้าไปลงทุนประกอบธุรกิจร้านอาหารได้อย่างเสรี เท่าเทียมกันอยู่แล้ว
ทั้งนี้ประเด็นที่ฝ่ายเจรจาของไทยจะต่อรองในการเจรจาเขตการค้าเสรีกับสหรัฐฯ เพื่อให้แผนการเป็นครัวโลกของไทยประสบผลสำเร็จนั้น ฝ่ายไทยได้เตรียมเจรจากับสหรัฐฯ ในประเด็นสำคัญที่เอื้อต่อการทำธุรกิจนี้นั่นคือ การกำหนดเงื่อนไขการเข้าไปประกอบอาชีพเป็นพ่อครัวให้ชัดเจน โดยวางเงื่อนไขเรื่องประสบการณ์ หรือใบรับรองที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับได้ รวมถึงโควตาจำนวนพ่อครัวไทยที่สามารถเข้าไปทำงานที่สหรัฐอเมริกา และระยะเวลาในการประกอบอาชีพที่ไทยต้องการให้มากกว่า 3 ปีต่อครั้ง นอกจากการเจรจาเรื่องบริการแล้วไทยเน้นให้สหรัฐฯลดเงื่อนไขในด้านอื่น ๆ ทุกด้าน ที่เกี่ยวข้องกับร้านอาหาร เช่นการนำเข้าสินค้าหรืออุปกรณ์เกี่ยวกับร้านอาหาร ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบ เครื่องปรุงรส หรืออุปกรณ์ในการทำอาหารไทย เรียกว่าเป็นการเจรจาแบบ Cluster อีกประเด็นที่จะมีการพูดคุยกัน คือการทำความเข้าใจกับระบบกฎหมายที่เกี่ยวข้องของสหรัฐฯ เนื่องจากกฎหมายร้านอาหารในสหรัฐอเมริกาเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อน เพราะขึ้นอยู่กับกฎหมายของรัฐและเมืองแต่ละเมือง ส่วนธุรกิจโรงแรมนั้น การเจรจากับสหรัฐฯไม่น่าจะเป็นประเด็นที่ไทยเสียเปรียบมากนัก เนื่องจากปัจจุบัน เครือข่าย (เชน) โรงแรมใหญ่ของสหรัฐฯหลายแห่งก็เข้ามาลงทุนในประเทศไทยตามสนธิสัญญาไมตรีไทย-สหรัฐฯ โดยจากโรงแรมในไทยประมาณ 5,700 แห่งซึ่งทำรายได้เข้าประเทศปีละประมาณ 1 แสนล้านบาท หรือกว่า 80% ของธุรกิจการท่องเที่ยวนั้น มีอยู่ประมาณ 20% ที่เป็นเครือข่ายของโรงแรมต่างประเทศ และมีการว่าจ้างผู้บริหารต่างชาติ ซึ่งชาวอเมริกันก็เป็นหนึ่งในผู้ที่เข้ามาทำงานธุรกิจโรงแรมในประเทศไทยในฐานะผู้บริหารจำนวนมาก
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ
บริษัท นิโอ ทาร์เก็ต จำกัด
นริสา ชะมุนี, สุภมาส เดชวัฒนะเดช
โทร. 0-2631-2290-5/ โทรสาร. 0-2234-6192-3
E-mail: narisa@neotarget.com, supamat@neotarget.com--จบ--