ดร.ประทีป วงศ์บัณฑิต รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านพัฒนาอย่างยั่งยืน สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วยผู้บริหารและบุคลากร วว. ได้แก่ ดร.บุณณนิดา โสดา ผอ.กองวิเทศสัมพันธ์ (กวส.) ดร.ปิยาลัคน์ เงินชูกลิ่น นักวิจัยอาวุโส ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมวัสดุ และนางสาวพิมประไพ ศุภรรัตน์ นักวิเทศสัมพันธ์อาวุโส กวส. เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ The 8th STS forum ASEAN-Japan Workshop ซึ่งหน่วยงานของประเทศไทย ได้แก่ กระทรวง อว. สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และหน่วยงานฝ่ายญี่ปุ่น ได้แก่ Science and Technology in Society forum (STS forum) และ Japan External Trade Organization (JETRO) ร่วมกันจัดขึ้น โดยมีผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย และผู้นำจากประเทศในภูมิภาคอาเซียนและญี่ปุ่นเข้าร่วมการประชุม ในวันที่ 27 มิถุนายน 2567 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว
ทั้งนี้การประชุมดังกล่าวได้รับเกียรติจาก นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. เป็นผู้แทนฝ่ายไทยกล่าวในพิธีเปิดงานร่วมกับผู้แทนจากฝ่ายญี่ปุ่น คือ Prof. KOMIYAMA Hiroshi, ประธาน STS forum นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติจาก H.E. Mr. OTAKA Masato เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวง อว. และศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. ร่วมต้อนรับผู้เข้าร่วมการประชุมการประชุมเชิงปฏิบัติการ The 8th STS forum ASEAN-Japan Workshop มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียนและญี่ปุ่น พร้อมทั้งสร้างความร่วมมือในด้านการวิจัยและพัฒนา ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาคไปอีก 50 ปีข้างหน้า ภายใต้ธีม "For the next 50 years of ASEAN-Japan Science and Technology Cooperation" โดยการประชุมมีการเสวนาวิชาการในประเด็นสำคัญ เช่น กลยุทธ์การประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สำหรับงานวิจัยสีเขียวต่อภาคอุตสาหกรรม และการส่งเสริมผู้ประกอบการ Start-ups
ในโอกาสที่ วว. เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญขององค์กรในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศ และผลักดันการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต ผ่านเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานต่างประเทศและองกรระหว่างประเทศ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายสากลของการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals - SDGs) อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมความร่วมมือกับหน่วยงานวิจัยและพัฒนา หน่วยงานพันธมิตรในต่างประเทศ เพื่อยกระดับองค์ความรู้ ทักษะบุคลากร และความพร้อมของ วว. ในงานวิจัย พัฒนา และบริการ ตามแนวทาง เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model) หรือ BCG Model และการเป็นผู้ให้บริการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม อย่างครบวงจร (Total Solutions Provider)