ส.อ.ท. ชงภาครัฐ สนับสนุนอุตฯ เครื่องมือแพทย์ รองรับการเปลี่ยนผ่านอุตฯ ชิ้นส่วนยานยนต์ไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 27, 2024 17:09 —ThaiPR.net

ส.อ.ท. ชงภาครัฐ สนับสนุนอุตฯ เครื่องมือแพทย์ รองรับการเปลี่ยนผ่านอุตฯ ชิ้นส่วนยานยนต์ไทย

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) โดย Cluster of FTI Future Mobility-ONE หรือ CFM-ONE จัดงานเสวนา "การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ รองรับการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ (Part Transformation)" เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และองค์ความรู้ระหว่างกลุ่มอุตสาหกรรมถึงโอกาสความเป็นไปได้ในการปรับเปลี่ยนธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์สู่อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve) ณ ห้องรัตนโกสินทร์ (ชั้น 1) โรงแรมเดอะสุโกศล

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส.อ.ท. ภายใต้นโยบาย ONE FTI. มีแนวทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยจากอุตสาหกรรมดั้งเดิม (First Industries) ซึ่งประกอบไปด้วย 46 กลุ่มอุตสาหกรรม 11 คลัสเตอร์ 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด สู่อุตสาหกรรมใหม่ (Next-Gen Industries) ซึ่งมีอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรม S-Curve ดังนั้น ส.อ.ท. จึงมีแนวทางการจัดตั้ง Cluster of FTI Future Mobility-ONE หรือ CFM-ONE เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของยานยนต์สมัยใหม่กว่า 14 กลุ่มอุตสาหกรรม ประกอบกับประเทศไทยอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและพลังงานทางเลือกอื่นๆ ซึ่งคาดกันว่าจะส่งผลให้อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ทั้ง Supply Chain ต้องปรับตัว โดยส่วนหนึ่งสามารถปรับเปลี่ยนสู่อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญ คือ นอกเหนือจากที่ธุรกิจต้องหาแนวทางในการปรับเปลี่ยนธุรกิจแล้ว ภาครัฐจะต้องมีบทบาทสำคัญในการรองรับการเปลี่ยนผ่านดังกล่าว รวมถึงการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ในทุกมิติ ทั้งการสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิต การพัฒนามาตรฐาน การวิจัยและนวัตกรรม การส่งเสริมการใช้สินค้าเครื่องมือแพทย์ในประเทศ และการอำนวยความสะดวกทางธุรกิจ ซึ่งจะเป็นแนวทางสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมพร้อมกับรองรับอุตสาหกรรมอื่นๆ และสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมไทย

นางสาวยุพิน บุญศิริจันทร์ ประธาน Cluster of FTI Future Mobility-ONE และประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ด้วยบริบทของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยที่ประสบกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีการผลิต (Technology Disruption) รวมถึงมีการออกมาตรการที่ชัดเจนว่าตั้งแต่ปี

2573 (ค.ศ. 2030) จะมีการขายยานยนต์ประเภทสันดาปภายในให้ลดลง โดยเฉพาะในประเทศยุโรปและสหรัฐอเมริกา ดังนั้น ประเทศไทยจึงต้องเตรียมพร้อมและปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ด้วยเหตุนี้ Cluster of FTI Future Mobility-ONE จึงมีแนวทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนไทย ภายใต้แนวคิด "Strong global production hub with industry transformation" โดยมีข้อเสนอ อาทิ การรักษาและต่อยอดความเป็นฐานการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก การสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนสมัยใหม่ เตรียมพร้อมสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และที่สำคัญ CFM-ONE ผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนข้อเสนอให้ชิ้นส่วนยานยนต์ไทยปรับตัวสู่อุตสาหกรรมสมัยใหม่ (Parts Transformation) เช่น ระบบราง หรือเครื่องมือแพทย์ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ถือว่ามีศักยภาพเพียงพอที่จะสามารถปรับเปลี่ยนหรือสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ที่เดิมผลิตชิ้นส่วนเพื่อโรงงานผลิตยานยนต์เท่านั้น มาเป็นกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ (Diversification Strategy) และต่อยอดสู่การผลิตชิ้นส่วนหรือผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ เนื่องจากผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย มีความสามารถในแง่การผลิต เพื่อให้ได้มาตรฐาน มีคุณภาพ และมีต้นทุนที่สามารถแข่งขันได้

นายสุพจน์ สุขพิศาล เลขาธิการ Cluster of FTI Future Mobility-ONE และประธานกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ไทย ถือเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องได้รับการสนับสนุนในช่วงเปลี่ยนผ่านในเชิงต้นทุน ทักษะและเทคโนโลยี เพื่อรักษาธุรกิจ การจ้างงาน พร้อมทั้งการยกระดับการผลิต และการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต หรือในบางธุรกิจที่ไม่สามารถไปต่อกับอุตสาหกรรมยานยนต์ได้ ยังสามารถพัฒนาไปอุตสาหกรรมเป้าหมายอื่นๆ เช่น ระบบรางหรือเครื่องมือแพทย์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ใกล้เคียงกับผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ โดยปัจจุบันมีผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เริ่มประกอบธุรกิจที่มีความหลากหลาย เช่น การเข้าสู่อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์มากขึ้น โดยผลิตสินค้าที่มีความเสี่ยงทางการแพทย์ไม่สูงมากนัก ทั้งนี้ ภาครัฐควรจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการเปลี่ยนผ่าน โดยผลักดันให้มีการกำหนดสัดส่วนการใช้ผลิตภัณฑ์ภายในประเทศ หรือออกนโยบายสนับสนุนการซื้อหรือผลิตเพื่อให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนสามารถเข้าสู่ supply chain ของอุตสาหกรรมอื่นในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐหรือเอกชนมากขึ้น

นายจารุเดช คุณะดิลก รองประธาน Cluster of FTI Future Mobility-ONE และประธานกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ในนามอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ มีความยินดีที่จะสร้างความร่วมมือกับกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ ยานยนต์ ในการหาผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ที่มีความเป็นไปได้ มาผลิตหรือดัดแปลง จากชิ้นส่วนยานยนต์ โดยหาแนวทางการสนับสนุนด้านการวิจัยและนวัตกรรมจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม เพื่อส่งเสริมห่วงโซ่อุปทานสำหรับการผลิตเครื่องมือแพทย์

ในปัจจุบันอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ยังมีข้อจำกัดหลายประการ อาทิ องค์ความรู้ว่าด้วยมาตรฐานทางการแพทย์ เทคโนโลยีการผลิต กระบวนการคิดค้นเครื่องมือแพทย์เพื่อออกสู่ตลาดที่มีความซับซ้อน อัตราภาษีนำเข้าเครื่องมือแพทย์สำเร็จรูปที่อยู่ในระดับต่ำ ทำให้ผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ในประเทศที่นำเข้าวัตถุดิบมาผลิตไม่สามารถแข่งขันได้ อีกทั้งยังขาดนโยบายการสนับสนุนให้โรงพยาบาล ใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ที่ผลิตจากการวิจัยและการพัฒนาภายในประเทศ รวมถึงมาตรฐานและข้อกำหนดของเครื่องมือแพทย์จากภาครัฐที่มีความหลากหลายและแตกต่างกันในแต่ละลำดับชั้นของเวชภัณฑ์ที่จำแนกตามระดับความเสี่ยงในการใช้งาน

"ภาครัฐจะต้องเข้ามาสนับสนุนอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ในประเทศให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยเร่งรัดพิจารณาแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ เพื่อส่งเสริมการใช้เครื่องมือแพทย์ที่ผลิตโดยคนไทยให้ได้ก่อนเป็นลำดับแรก ตั้งแต่การปรับปรุงกฎระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ การสนับสนุนมาตรการด้านภาษีให้สถานพยาบาลที่เป็นภาคเอกชนให้เอื้อต่อการใช้เครื่องมือแพทย์ที่ผลิตในประเทศ การสร้างความเชื่อมั่นในการใช้งานเครื่องมือแพทย์ที่ผลิตในประเทศให้แก่ผู้ใช้งานตามสถานพยาบาล ที่ผ่านกระบวนการการรับรองหรือขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) การให้ข้อมูลเครื่องมือแพทย์ที่มีการเบิกจ่ายงบประมาณรัฐที่สูง เพื่อเป็นข้อมูลการตลาดให้ผู้ผลิตและนักวิจัย โดยเฉพาะโรงเรียนแพทย์และหน่วยวิจัยของภาครัฐ การผลักดันนวัตกรรมเครื่องมือแพทย์สู่เชิงพาณิชย์ และสามารถขยายการผลิตสู่ Mass Production พร้อมกับเตรียมความพร้อมห้องปฏิบัติการที่จำเป็นต่อการทดสอบเครื่องมือแพทย์ที่ผลิตได้ในไทยให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล เช่น ISO17025 หรือ IEC60601 ในราคาที่เหมาะสม และมีขั้นตอนรวดเร็ว รวมถึงการยกเว้นพิกัดภาษีนำเข้าวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนที่จำเป็นต่อการผลิตเครื่องมือแพทย์ เพื่อยกระดับและส่งเสริมขีดความสามารถให้แก่ผู้ประกอบการเครื่องมือแพทย์ของไทยต่อไป" นายจารุเดช กล่าวเสริม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ