อัตราความชุกของโรคสมาธิสั้นทั่วโลกอยู่ที่ประมาณร้อยละ 5 - 12 ซึ่งเท่าๆกับประเทศไทย นั่นหมายความว่า ถ้าในห้องเรียนหนึ่งห้องมีเด็กอยู่ 40 คน แต่ละห้องจะมีเด็กที่ป่วยเป็นโรคสมาธิสั้นอย่างน้อย 2 - 4 คน และพบอีกว่าจะเป็นในเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง ซึ่งเด็กผู้ชายมักจะมีอาการซนอยู่ไม่นิ่ง และจะสังเกตเห็นอาการได้ชัดเจนตั้งแต่ชั้น ป.1- ป.2 เพราะเด็กมักจะป่วนเพื่อนในห้องเรียน อาจรบกวนการสอนของครู แต่เด็กผู้หญิงมักจะเป็นอาการชนิดเหม่อ ใจลอย ขี้หลงขี้ลืม ทำงานช้า ทำงานไม่เสร็จ
พัฒนาการของเจ้าตัวเล็กลูกของเราบางครั้งอาจบ่งบอกความผิดปกติได้ ฉะนั้น พ่อแม่ผู้ปกครองควรหมั่นสังเกตและอย่าปล่อยผ่านเมื่อเกิดความสงสัย โดยเฉพาะโรคสมาธิสั้น (ADHD - Attention Deficit Hyperactivity Disorder) ดังนั้นหากรู้เท่าทันและรักษาได้ทันท่วงทีย่อมช่วยให้อาการของลูกดีขึ้นและเติบโตได้อย่างมีความสุข
"โรคสมาธิสั้น" จัดอยู่ในกลุ่มโรคที่มีความบกพร่องทางพัฒนาการของสมอง (neurodevelopmental disorders) โดยที่เด็กจะมีความบกพร่องของสมองมาตั้งแต่เกิด ซึ่งความบกพร่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับสติปัญญา แต่เกี่ยวข้องกับความสามารถในการควบคุมตัวเอง ทำให้เด็กแสดงออกด้านพฤติกรรม 3 ด้าน หลัก ๆ ได้แก่ ซนอยู่ไม่นิ่ง (hyperactivity) หุนหันพลันแล่น วู่วาม ใจร้อน (impulsivity) และ ขาดสมาธิ (inattention)
1.พฤติกรรมซุกซนไม่อยู่นิ่ง เคลื่อนไหวตลอดเวลา ยุกยิก ต้องหาอะไรทำ เหมือนเด็กที่ติดเครื่องตลอดเวลา พูดมาก พูดเก่ง ชอบเล่นหรือทำเสียงดังๆ เล่นกับเพื่อนแรงๆ เด็กกลุ่มนี้จะรู้จักกันในชื่อว่า "เด็กไฮเปอร์"
2.พฤติกรรมขาดความยับยั้งชั่งใจตนเอง ใจร้อน วู่วาม หุนหันพลันแล่น ขาดความระมัดระวังในการทำสิ่งต่าง ๆ พูดโพล่ง พูดแทรก รอคอยอะไรไม่ค่อยได้
3.พฤติกรรมขาดสมาธิ ว่อกแว่กง่าย เหม่อลอย จดจ่ออะไรนาน ๆ ไม่ได้ ขี้ลืม เบื่อง่าย ไม่ค่อยรอบคอบ ทำงานไม่เสร็จตามเวลา ไม่ชอบทำงานที่ต้องอาศัยสมาธิ หรือความพยายาม โดยเด็กบางคนอาจมีอาการเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือมีทั้ง3 กลุ่มอาการร่วมกันก็ได้
พ่อแม่มักวิตกกังวลกลัวว่าลูกที่เป็นโรคสมาธิสั้นจะอยู่ร่วมกับสังคมไม่ได้ จะเจอกับปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตมากมาย อย่าเพิ่งกังวลจนเกินไป แม้ว่าโรคสมาธิสั้นจัดเป็นโรคเรื้อรังอย่างหนึ่ง แต่เด็กที่มีอาการตั้งต้นไม่มาก ได้รับการวินิจฉัยและเริ่มเข้าสู่กระบวนการรักษาตั้งแต่อายุยังน้อย พ่อแม่ คุณครู ช่วยกันดูแลช่วยเหลือฝึกทักษะต่างๆ เป็นอย่างดีและสม่ำเสมอ เด็กกลุ่มนี้ก็จะมีโอกาสดีขึ้น และเมื่อเด็กโตขึ้น เขาจะควบคุมสมาธิของตัวเองได้ และใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติทั่วไป โดยไม่ต้องรับประทานยาอีกต่อไป
การรักษาเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น สิ่งสำคัญที่สุด คือ ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่าง พ่อแม่ และคุณครู เพื่อให้เด็กมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น มีสภาพจิตใจที่ดี ไม่เต็มไปด้วยบาดแผลทางใจ หรือมีปมตั้งแต่เด็ก และสามารถใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้ การรักษามีทั้งการรักษาด้วยยา การปรับพฤติกรรม การปรับวิธีการเลี้ยงดู และการดูแลช่วยเหลือในห้องเรียน หากพ่อแม่สังเกตว่าลูกมีอาการเข้าข่ายที่จะเป็นโรคสมาธิสั้น ขอให้รีบพามาพบแพทย์เพื่อประเมินอาการ เด็กที่มีอาการโรคสมาธิสั้นที่ได้รับการวินิจฉัยและรับการรักษาตั้งแต่อายุยังน้อยจะมีโอกาสที่จะหายขาดเพิ่มขึ้น
อย่างที่บอกไว้ อย่ากังวลใจ...เด็กสมาธิสั้น อาการจะดีขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยรุ่นหรือเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งแม้ว่าจะหลงเหลืออาการสมาธิสั้นอยู่บ้าง ก็อาจจะได้รับประทานยาเฉพาะเวลาที่มีความจำเป็นจริงๆ เช่น ใกล้สอบ ต้องส่งรายงานสำคัญให้หัวหน้า ต้องเข้าประชุม หรือนำเสนองานสำคัญ เป็นต้น พวกเขาก็สามารถยืนอยู่ในสังคมได้อย่างเท่าเทียม
แพทย์หญิงปัทมาพร ทองสุขดี จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
โรงพยาบาล BMHH - Bangkok Mental Health Hospital