กลุ่มงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB Financial Markets: SCB FM) เปิดเผยว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 2 ปี มีแนวโน้มลดลงตามการลดดอกเบี้ยนโยบายช่วงปลายปีนี้ แต่พันธบัตรระยะยาวอาจเผชิญแรงกดดันด้านสูงเพิ่มเติมจากการปรับดัชนี GBI-EM ของ JP Morgan ซึ่งอาจทำให้เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกจากตลาดพันธบัตรรัฐบาลไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ได้ ด้านเงินบาทที่ผ่านมายังคงอ่อนค่าจากความไม่แน่นอนทางการเมืองทั้งในและต่างประเทศ ในระยะต่อไป มองว่าแรงกดดันด้านอ่อนค่าจะยังอยู่ โดยต้องจับตาการเลือกตั้งในยุโรป และค่าเงินภูมิภาค เช่น เงินหยวนและเยน ที่มีนัยต่อเงินบาท โดยมองเงินบาทอ่อนค่าเฉลี่ยในกรอบ 36.80-37.30 ในช่วง 1 เดือนจากนี้
นายแพททริก ปูเลีย ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่งจากเลขตลาดแรงงานล่าสุด (Nonfarm payroll) ที่ยังดี อย่างไรก็ดี มองว่าในระยะต่อไปปัจจัยต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ภาวะการเงินที่ตึงตัวต่อเนื่อง (ดอกเบี้ยสูงเป็นเวลานาน) มาตรฐานสินเชื่อที่เข้มงวดขึ้น และเงินออมที่ลดลงมาใกล้ระดับ pre-Covid แล้ว จะทำให้เศรษฐกิจน่าจะชะลอลงได้ โดยล่าสุดเริ่มเห็นสัญญาณจากเลขยอดค้าปลีก (Retail sales) และเลข Manufacturing ISM สำหรับเงินเฟ้อคาดว่าจะชะลอลงเช่นกัน แต่จะเป็นการปรับลดลงอย่างช้า ๆ (sticky inflation) เนื่องจากเงินเฟ้อภาคบริการอาจลดลงได้ไม่เร็วนัก ด้วยเหตุนี้ จึงยังมองว่า Fed จะลดดอกเบี้ยได้ 2 ครั้งในเดือน ก.ย. และ ธ.ค. ปีนี้
สำหรับ US Treasury yields นายแพททริก มองว่าจะปรับลดลงตามการลดดอกเบี้ยของ Fed แต่อาจมีความเสี่ยงด้านสูงจากปัจจัยอุปทาน โดยล่าสุด Congressional Budget Office (CBO) สหรัฐฯ ได้ปรับเพิ่มแนวโน้มการขาดดุลการคลัง (Budget deficit) โดยเพิ่มเลขของปี 2024 ถึง 4 แสนล้านดอลลาร์ (สูงขึ้น 27% จากคาดการณ์เดิม) อย่างไรก็ดี เบื้องต้นประเมินว่า US Treasury จะยังไม่รีบปรับเพิ่ม Auction size ของการประมูลพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 3 โดยอย่างเร็วอาจรอให้ผ่านพ้นการเลือกตั้งสหรัฐฯ ไปก่อน ปัจจัยนี้จึงเป็นความเสี่ยงด้านสูงต่อ Bond yields ในช่วงปลายปี
ด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย มีแนวโน้มลดลงตามการลดดอกเบี้ยนโยบายช่วงปลายปี แต่พันธบัตรระยะยาวอาจเผชิญแรงกดดันด้านสูงเพิ่มเติมจากการปรับน้ำหนักใน JPMorgan Government Bond Index- Emerging Markets (GBI-EM) ที่จะมีการเพิ่มพันธบัตรรัฐบาลอินเดียเข้ามาในดัชนี ทำให้น้ำหนักของพันธบัตรรัฐบาลบางประเทศในดัชนีนี้จะถูกปรับลดลง ซึ่งพันธบัตรรัฐบาลไทยถูกปรับลดน้ำหนักลงมากที่สุด (จาก 9.19% เป็น 7.59% ในเดือน มี.ค. 2025) โดยทาง JP Morgan ประเมินว่าจะมีเงินไหลออกจากตลาดพันธบัตรรัฐบาลไทยราว 3.2 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งจะทำให้สัดส่วนนักลงทุนต่างชาติในตลาดบอนด์ไทยลดลงเหลือราว 4.4% จากเดิมที่ราว 5.1% สำหรับอุปทานพันธบัตรรัฐบาลในไตรมาสหน้า สำนักบริหารหนี้สาธารณะมีแผนที่จะคงปริมาณการออกพันธบัตรใกล้เคียงเดิม ซึ่งจะไม่เป็นแรงกดดันด้านสูงต่อ Bond yields ของไทยนัก ด้วยเหตุนี้ นายแพททริก จึงมองว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 2 ปีมีแนวโน้มลดลงได้ตามดอกเบี้ยนโยบาย ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีจะได้รับผลกระทบจากการปรับน้ำหนักของ GBI-EM มากกว่า จึงทำให้มีแนวโน้มลดลงน้อยกว่าผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้น
สำหรับมุมมองค่าเงินบาท นายวชิรวัฒน์ บานชื่น นักกลยุทธ์ตลาดการเงินอาวุโส เปิดเผยว่า ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบราว 36.50-37.00 โดยอ่อนค่าสูงสุดใกล้ระดับ 37.00 ซึ่งอยู่ในกรอบที่ SCB FM แนะให้ผู้ส่งออกพิจารณาขาย USDTHB ได้ ทั้งนี้ เงินบาทในช่วงที่ผ่านมาไม่กลับมาแข็งค่านัก เนื่องจากความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศทำให้มีเงินทุนไหลออก อีกทั้ง การเมืองในยุโรปก็ดันให้เงินยูโรและสกุลเงินภูมิภาคอ่อนค่าตาม ขณะที่เงินหยวนและเยนยังคงอ่อนค่า กดดันให้เงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐทรงตัวในระดับสูง
ในช่วง 1 เดือนจากนี้ นายวชิรวัฒน์ คาดว่าเงินบาทจะยังเผชิญแรงกดดันด้านอ่อนค่า โดยให้กรอบเฉลี่ยที่ 36.80-37.30 เนื่องจากจะมีการเลือกตั้งในฝรั่งเศสและอังกฤษที่อาจก่อให้เกิดภาวะ Risk-off ของนักลงทุน ดันให้เงินภูมิภาคอ่อนค่า หรือเงินเยนที่ยังอ่อนค่าในช่วงที่ BOJ ยังไม่เข้าแทรกแซงค่าเงิน รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจจีนที่ยังออกมาแย่แม้ทางการจะพยายามออกมาตรการกระตุ้น ทำให้เงินหยวนยังคงอ่อนค่า จึงกดดันเงินบาทในระยะสั้นต่อได้ ซึ่งนายวชิรวัฒน์ มองว่า USDTHB ที่ราว 37.05-37.55 เป็นระดับที่ผู้ส่งออกอาจพิจารณาขายได้ สำหรับผู้นำเข้าที่ต้องการซื้อ USDTHB อาจพิจารณาซื้อที่ระดับราว 36.20-36.70 โดย SCB FM ได้ปรับกรอบสูงขึ้นมา เนื่องจากมองว่าปัจจัยด้านแข็งค่าเริ่มลดน้อยลง ทั้งนี้ ในช่วงที่เงินเฟ้อสหรัฐฯ ชะลอลง ซึ่งจะทำให้ Treasury yields ลดลงพร้อมเงินดอลลาร์อ่อนค่า และบาทกลับมาแข็งค่า อาจเป็นจังหวะให้ผู้นำเข้าสามารถเข้าซื้อ USDTHB ได้