TEI ผสานกำลังทุกภาคส่วน ขับเคลื่อนและผลักดันประชาสังคม เปลี่ยนแปลงเมือง พัฒนาเมืองและสังคมทันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ข่าวทั่วไป Monday July 1, 2024 12:50 —ThaiPR.net

TEI ผสานกำลังทุกภาคส่วน ขับเคลื่อนและผลักดันประชาสังคม เปลี่ยนแปลงเมือง พัฒนาเมืองและสังคมทันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย หรือ TEI ตอกย้ำการเป็นองค์กรชั้นนำด้านสิ่งแวดล้อมที่ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม โดยปิดเวทีการประชุมครั้งใหญ่ "เมือง(ไม่)รู้ร้อนรู้หนาว กับ ชุนชนเมือง ในยุคโลกเดือด" แนวทางนำสู่ การเตรียมความพร้อม รับมือ ปรับตัว อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม (People-centred urban climate resilience and adaptation) ของโครงการประชาสังคมร่วมแรงเพื่อเปลี่ยนแปลงเมือง (SUCCESS) สนับสนุนโดยสหภาพยุโรป ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 25และ27 มิถุนายนที่ผ่านมา ณ จังหวัดขอนแก่น

ในการประชุมครั้งนี้ นำโดยดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย หรือ TEI บรรยายพิเศษหัวข้อ 'มุมมองสถานการณ์ระดับประเทศ - การเตรียมพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย' โดยตอกย้ำถึง "การใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติของโลกที่เกินขีดจำกัดในปัจจุบัน นำมาซึ่งผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อมนุษยชาติ หากทุกภาคส่วนไม่ร่วมกันแก้ไขอย่างจริงจัง ในอีก 10 ปีข้างหน้าโลกเราจะเผชิญกับความเสี่ยงที่ร้ายแรงที่สุด 4 อันดับคือ ความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งจากความล้มเหลวในการลดก๊าซเรือนกระจก ความล้มเหลวในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภัยพิบัติทางธรรมชาติและสภาพอากาศสุดขั้ว รวมถึงการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและการล่มสลายของระบบนิเวศ นอกจากนี้ยังได้ให้มุมมองภาพรวมการเดินหน้าของประเทศไทยในการเตรียมพร้อม ทั้งการประกาศเจตนารมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2065 มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2050 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ 40% ภายในปี 2030 รวมถึงการจัดตั้งกรมโลกร้อน หรือกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ประเทศไทยมีหน่วยรองรับการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างชัดเจน ท้ายสุดได้เน้นย้ำความสำคัญของการแก้ปัญหาโดยใช้ระบบนิเวศเป็นฐาน และยังคงต้องดำเนินงานในประเด็นที่เกี่ยวข้องด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดสมดุลด้านสิ่งแวดล้อม"

พร้อมกันนี้ ดร.วิจารย์ ยังได้เป็นตัวแทนในการส่งมอบข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อนำสู่ปฏิบัติการเตรียมความพร้อม ปรับตัว รับมือ ของชุมชนและเมือง ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม โดยประชาชนและระบบนิเวศเป็นศูนย์กลาง ซึ่งเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายที่ได้จากการดำเนินโครงการ "ประชาสังคมร่วมแรงเพื่อเปลี่ยนแปลงเมือง" สนับสนุนโดยสหภาพยุโรป เพื่อแสดงเจตนารมณ์ความร่วมมือในการสนับสนุนอย่างเข้มแข็งเพื่อให้เกิดการเตรียมความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวของชุมชนท้องถิ่น โดยเฉพาะกลุ่มคนชายขอบ กลุ่มคนยากจน กลุ่มคนเปราะบางและกลุ่มผู้หญิง เพื่อให้นำไปสู่การปรับแนวทางการพัฒนาเมืองอย่างครอบคลุมคนทุกระดับอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมกัน รวมถึงการสนับสนุนความเป็นผู้นำให้กับภาคประชาสังคมท้องถิ่นในการมีส่วนร่วมกับชุมชนและหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ และเป็นการพัฒนายุทธศาสตร์การเตรียมความพร้อมของเมืองและแผนปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศโดยชุมชน

ผู้เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้มาจากหลายภาคส่วนทั้งจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ประกอบด้วยหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ และสื่อสาธารณะ อาทิ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กรมอุตุนิยมวิทยา มูลนิธิการพัฒนาที่ยั่งยืน มูลนิธิท้องถิ่นพัฒนา มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี สื่อ City Cracker Thai PBS โดยได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านเวทีเสวนาที่น่าสนใจ อาทิ "ความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ให้ความสำคัญกับ "คน" เป็นศูนย์กลางการขับเคลื่อน" "เมืองกับการปรับตัว" "การปรับตัวโดยอาศัยระบบนิเวศเป็นฐาน" รวมถึง "บทบาทของภาคประชาสังคมและภาควิชาการในการขับเคลื่อนการพัฒนาเมือง และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ของเมืองและชุมชน อย่างเป็นธรรม" โดยในที่ประชุมมีความเห็นตรงกันว่า หน่วยงานส่วนกลางที่มีหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย กฎหมาย พรบ. เทศบัญญัติ หรือธรรมนูญจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิธีการออกแบบให้สอดคล้องกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยจำเป็นต้องพิจารณามิติด้านสังคมควบคู่กันไปด้วย และต้องปรับตัวให้อยู่บนฐานระบบนิเวศที่เอื้อและเกื้อหนุนสิ่งมีชีวิต และให้ความสำคัญถึงความเป็นธรรมด้านภูมิอากาศสำหรับกลุ่มเปราะบาง กลุ่มผู้หญิง กลุ่มชาติพันธุ์ ให้มากที่สุด อีกทั้งต้องให้ความสำคัญกับข้อมูลพื้นฐาน กลไก และกระบวนการในการสร้างความร่วมมือของทุกภาคส่วน จากภาควิชาการ เนื่องจากการพัฒนาเมืองและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจำเป็นต้องใช้ความรู้ ความสามารถ จากหลากหลายสาขามาร่วมบูรณาการความร่วมมือเพื่อสร้างการรับรู้ เข้าใจ ตระหนัก ต่อสถานการณ์ได้อย่างครอบคลุมครบทุกมิติ และที่สำคัญการมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างเข้มแข็งและความร่วมมือของท้องที่ท้องถิ่น จะสามารถนำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งและเตรียมความพร้อมของทุกคนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุม เท่าเทียม และเป็นธรรมได้อย่างแน่นอน

นอกจากนี้ในการประชุมยังมี 4 เวทีเสวนาสำคัญ โดยมีคณะทำงานโครงการนำร่อง 12 พื้นที่ศึกษาใน 2 ภูมิภาค ประกอบด้วย ภาคใต้ จำนวน 6 เมือง ได้แก่ เมืองควนลัง เมืองพะตง เมืองบ่อยาง เมืองปาดังเบซาร์ จังหวัดสงขลา เมืองโตนดด้วน จังหวัดพัทลุง เมืองละงู จังหวัดสตูล และภาคอีสาน จำนวน 6 เมือง ได้แก่ เมืองขอนแก่น เมืองบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น เมืองหนองสำโรง เมืองสามพร้าว จังหวัดอุดรธานี เมืองสระใคร และเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย มาร่วมเน้นหนุนเสริม และตอกย้ำความสำคัญของการเตรียมความพร้อม รับมือ ปรับตัวของชุมชนเมือง จากผลกระทบจากการพัฒนาเมืองที่เชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ ประกอบด้วย เวทีเสวนา "ความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ให้ความสำคัญกับ "คน" เป็นศูนย์กลางการขับเคลื่อน" โดยร่วมสะท้อนมุมมองมิติทางสังคมในประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ขาดหายไป และมุมมองของความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ให้ความสำคัญกับ "คน และ ชุมชน" เป็นศูนย์กลางพร้อมร่วมแลกเปลี่ยนแนวทางและความท้าทายในการสนับสนุนชุมชนเปราะบาง, เวทีเสวนา "เมืองกับการปรับตัว (climate adaptation)" และ "การปรับตัวโดยอาศัยระบบนิเวศเป็นฐาน (ecosystem-based adaptation)" เพื่อร่วมเน้นย้ำให้เห็นความสำคัญของการปรับเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาเมือง และความเชื่อมโยงระหว่างการพัฒนาเมืองกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เมืองยิ่งโตเร็วยิ่งเปราะบาง และจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเตรียมความพร้อมและปรับตัว และต้องปรับตัวให้อยู่บนฐานระบบนิเวศที่เอื้อและเกื้อหนุนสิ่งมีชีวิต, เวทีเสวนา "บทบาทของภาคประชาสังคม กับการขับเคลื่อนการพัฒนาเมือง และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ของเมืองและชุมชน อย่างเป็นธรรม" โดยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงานทั้งในภาคส่วนของภาคประชาสังคม ภาควิชาการและสื่อสาธารณะที่ทำงานร่วมกับภาคประชาสังคม เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเมือง และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของเวทีกลางในการดึงทุกภาคส่วนมาร่วมพูดคุยหารือร่วมกัน และประเด็นที่ควรหารือคือการจัดตั้งกองทุนในการพัฒนาพื้นที่เมืองที่มีปัญหา เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที และ เวทีเสวนา "บทบาทภาควิชาการในการสนับสนุนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate adaptation) ด้วยข้อมูลวิทยาศาสตร์ เครื่องมือ และเทคโนโลยี เพื่อหนุนเสริมชุมชนและท้องถิ่น" ร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นจากผู้แทนของสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และอาจารย์จากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โดยรับฟังความสำเร็จจากโครงการของภาควิชาการที่หนุนเสริมระบบเตือนภัยของบ้านไผ่ และแลกเปลี่ยนตอกย้ำให้เห็นถึงความจำเป็นของข้อมูลพื้นฐาน กลไก และกระบวนการในการสร้างความร่วมมือของภาควิชาการเนื่องจากการพัฒนาเมืองและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจำเป็นต้องใช้ภาควิชาการหลากหลายสาขามาร่วมบูรณาการความร่วมมือเพื่อสร้างการรับรู้ เข้าใจ ตระหนัก ต่อสถานการณ์ได้อย่างครอบคลุมครบทุกมิติยิ่งขึ้น

สำหรับการประชุม โครงการประชาสังคมร่วมแรงเพื่อเปลี่ยนแปลงเมือง (SUCCESS) สนับสนุนโดยสหภาพยุโรป นำโดย ดร.ผกามาศ ถิ่นพังงา ผู้อำนวยการโครงการร่วมกับ ศ.ดร.บัวพันธ์ พรหมพักพิง ศูนย์ประชาสังคมและการจัดการองค์กรเอกชนสาธารณประโยชน์ คุณชาคริต โภชะเรือง มูลนิธิชุมชนสงขลา Dr.Aarts Han Maastricht University และคณะกรรมการที่ปรึกษาระดับชาติ ได้แก่ ดร.จำเนียร วรรัตน์ชัยพันธ์ และรศ.ดร.ยรรยงค์ อินทร์ม่วง มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือในการขับเคลื่อนและผลักดันให้เกิดการบูรณาการแนวปฏิบัติและแนวทางในการจัดการผลกระทบ ความเปราะบาง และการรับมือเตรียมพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนการพัฒนาเมืองและสังคมที่เป็นธรรม เข้าสู่การวางแผนระดับท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในระดับพื้นที่ ระดับจังหวัด และระดับชาติ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ