"ขยะ" ในโลกยุคปัจจุบันไม่ใช่เป็นเพียงสิ่งที่ถูกทิ้งเพราะเป็นเพียง "ของเหลือใช้" หากเป็นสิ่งที่ใช้แล้ว แต่ยังคงมีคุณค่าที่รอคอยการค้นหา
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธวัช เพชรไทย อาจารย์นักวิจัยประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์อนามัยสิ่งแวดล้อม คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจจากมหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะ "ปัญญาของแผ่นดิน" จากผลงานวิจัยด้านการจัดการค้นพบคุณค่าของ "ขยะ" แม้ผ่านกระบวนการ "ฝังกลบ" สู่การผลิต "ผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงขยะ" หรือ RDF (Refuse Derived Fuel) ลดมลพิษสิ่งแวดล้อม ประชาชนมีสุขภาพดี และเพิ่มเศรษฐกิจชุมชน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธวัช เพชรไทย ได้อธิบายถึงกระบวนการผลิต "ผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงขยะ หรือ RDF" โดยทั่วไปได้วัตถุดิบจาก "การคัดแยกขยะ" ที่เกิดขึ้นในชุมชน และจากการนำขยะที่ถูกฝังกลบเป็นเวลานานแล้วมาผ่านกระบวนการคัดแยกวัสดุที่สามารถเผาไหม้ได้แล้วนำไปสร้างเป็นพลังงาน อาทิ พลาสติก ยาง และกระดาษ เป็นต้น
โดยวิธีการหลังมีความท้าทายตรงที่จะต้องมี "การเตรียมขยะ" เพื่อให้ได้ "ผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงขยะ หรือ RDF" ที่มีคุณภาพ โดยการทำให้มีค่าความร้อน ปริมาณเถ้า และโลหะหนักอยู่ในระดับมาตรฐาน
กระบวนการเตรียมที่เหมาะสมทำให้ได้ "ผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงขยะ หรือ RDF" ที่ให้พลังงานความร้อนสูง ลดมลพิษทางอากาศ และสามารถใช้ทดแทนการใช้เชื้อเพลิง "น้ำมันและถ่านหิน" ช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่นำไปสู่ปัญหาภาวะโลกร้อน
สิ่งที่ได้นอกจากแนวทางในการแนะนำและควบคุมเทคโนโลยีที่ใช้ในการจัดการเพิ่มมูลค่าขยะ ยังนำไปสู่การให้ความสำคัญต่อการ "คัดแยกขยะ" ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดก่อนการนำขยะไปสู่กระบวนการแปรรูปเป็น "ผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงขยะ หรือ RDF"
อย่างไรก็ดีแม้ "ผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงขยะ หรือ RDF" จะสามารถใช้ทดแทนการใช้ "น้ำมันและถ่านหิน" ซึ่งโลกกำลังขาดแคลน แต่อาจส่งผลต่อการปนเปื้อนสิ่งแวดล้อมในกระบวนการผลิต และการเผา จึงขอให้เป็น "ทางเลือกรอง" จากการนำขยะกลับไปใช้ใหม่ (Recycle) การใช้ซ้ำ (Reuse) และลดการเกิดขยะ (Reduce)
ซึ่งจะทำให้โลกได้บรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติได้ต่อไปอย่างน้อยถึง 3 เป้าหมาย ได้แก่ SDG9 เพื่อการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและอุตสาหกรรม SDG11 เพื่อการพัฒนาเมืองและชุมชนยั่งยืน และ SDG12 เพื่อการใช้ทรัพยากรอย่างรู้ค่า
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th