สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล จัดการประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 18 "ประชากรและสังคม 2567"

ข่าวทั่วไป Wednesday July 3, 2024 11:41 —ThaiPR.net

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล จัดการประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 18

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล จัดการประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 18 "ประชากรและสังคม 2567" ภายใต้แนวคิด "ประชากรและความยั่งยืน: ประเด็นสำคัญทางนโยบาย" (Population and Sustainability: Key Policy Highlight)

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล มุ่งสร้างองค์ความรู้ด้านประชากรและสังคมอย่างต่อเนื่องทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ สอดคล้องกับบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงและเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา สถาบันฯ ดำเนินบทบาทสำคัญทางวิชาการให้กับสังคมไทย ด้วยการพัฒนาสร้างเสริมการศึกษาวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ที่หลากหลายในลักษณะสหวิทยาการด้านประชากรและสังคม อีกทั้งนำเสนอความรู้และข้อค้นพบสำคัญ ๆ จากการศึกษาวิเคราะห์วิจัย ไปเผยแพร่ทั้งในแวดวงวิชาการ ผู้กำหนดนโยบาย สื่อมวลชน และสาธารณชนทั่วไป เพื่อเป็นข้อเสนอแนะเชิงรุก ในการเตรียมความพร้อมรับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงในมิติต่างๆ ทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม สุขภาพ วัฒนธรรม และการเมือง อย่างต่อเนื่องทั้งในระดับประเทศ และในภูมิภาคต่างๆ ของโลก

วันที่ 1 กรกฎาคม 2567 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล จัดการประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 18 "ประชากรและสังคม 2567" ภายใต้แนวคิด "ประชากรและความยั่งยืน: ประเด็นสำคัญทางนโยบาย" (Population and Sustainability: Key Policy Highlight) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีในการนำเสนอข้อมูล ผลงานวิจัย การหารือและแลกเปลี่ยนมุมมองทั้งในเชิงวิชาการและเชิงนโยบายจากอาจารย์ นักวิจัยของสถาบันฯ ผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก และผู้เข้าร่วมประชุมที่มาจากหลากหลายสาขาในประเด็นที่เชื่อมโยงกันระหว่างความท้าทายทางด้านประชากรกับวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน

ในปีนี้ ได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอื้อมพร มัชฌิมวงศ์ รองอธิการบดีฝ่ายการคลัง มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมฯ พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.เฉลิมพล แจ่มจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวต้อนรับ จากนั้น ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ประธานกรรมการแพลตฟอร์ม Youth in Change ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ "อารยธรรมบนทางสองแพร่ง: ความยั่งยืนกับอนาคตของมนุษยชาติ" (Civilization at the Crossroads: Sustainability & Our Human Future) ณ ห้องประชุมประชาสังคมอุดมพัฒน์ (101) ชั้น 1 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา และรูปแบบออนไลน์

ในโอกาสนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.เฉลิมพล แจ่มจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เข้าร่วมเสวนาโต๊ะกลม หัวข้อ "การพัฒนาที่ยั่งยืนกับนโยบายประชากรและสังคม" ร่วมกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ชล บุนนาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) คุณพร้อมบุญ พานิชภักดิ์ เลขาธิการมูลนิธิรักษ์ไทย และคุณวรวรรณ พลิคามิน รองเลขาธิการ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ภายในงานประชุมดังกล่าว มีการนำเสนอบทความวิชาการจำนวน 3 ประเด็นหลัก ในมิติที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้แก่ มิติด้านการเกิด เด็ก และครอบครัว มิติด้านสุขภาพ อาหาร และสิ่งแวดล้อม และมิติด้านการย้ายถิ่นของประชากรต่างอารยธรรม

ประเด็นที่ได้จากการประชุมวันนี้ นำไปสู่ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนอันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและประชากรในปัจจุบัน สามารถสรุปได้ดังต่อไปนี้

  • นโยบายด้านประชากรและครอบครัว
    • ควรมีการส่งเสริมการมีบุตรผ่านมาตรการสนับสนุนทางการเงินและสวัสดิการ เช่น เงินอุดหนุนเลี้ยงดูเด็ก การลดหย่อนภาษี รวมถึงการขยายระยะเวลาการลาคลอดและลาเลี้ยงดูบุตร ส่งเสริมการลาของบิดา
    • พัฒนาศูนย์ดูแลเด็กเล็กที่มีคุณภาพและราคาเหมาะสม โดยเฉพาะสำหรับเด็กอายุ 0-2 ปี
    • สร้างสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและครอบครัว (Work-life balance) ผ่านนโยบายการทำงานที่ยืดหยุ่น
  • นโยบายด้านผู้สูงอายุ
    • พัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว โดยเน้นการดูแลในชุมชน (Community-based care)
    • ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในตลาดแรงงานของผู้สูงอายุ ผ่านการปรับปรุงกฎหมายแรงงาน และสร้างแรงจูงใจทางภาษี
    • สร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ (Age-friendly environment) ทั้งในด้านที่อยู่อาศัย การคมนาคม และพื้นที่สาธารณะ
    • พัฒนาระบบประกันการดูแลระยะยาว (Long-term care insurance) เพื่อรองรับค่าใช้จ่าย ในการดูแลผู้สูงอายุ
  • นโยบายด้านสุขภาพและสาธารณสุข
    • พัฒนาระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ครอบคลุมมากขึ้น โดยเฉพาะสำหรับผู้สูงอายุ และกลุ่มเปราะบาง
    • ส่งเสริมการป้องกันโรคและการสร้างเสริมสุขภาพ โดยเน้นการลดพฤติกรรมเสี่ยงและการมีกิจกรรมทางกาย
    • พัฒนาระบบเฝ้าระวังและตอบสนองต่อโรคอุบัติใหม่และภัยพิบัติทางธรรมชาติ
    • ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในการติดตามสุขภาพและการให้บริการทางการแพทย์ทางไกล (Telemedicine)
  • นโยบายด้านการศึกษาและพัฒนาทักษะแรงงาน
    • ปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาให้เน้นทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 และสอดคล้องกับความต้องการ ของตลาดแรงงาน
    • ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตและการพัฒนาทักษะอย่างต่อเนื่อง (Lifelong learning and upskilling)
    • พัฒนาระบบการศึกษาทางเลือก เช่น การเรียนการสอนแบบผสมผสาน (Blended learning) และการเรียนรู้ตามอัธยาศัย
    • สร้างความร่วมมือระหว่างภาคการศึกษาและภาคธุรกิจในการพัฒนาหลักสูตรและฝึกอบรม
  • 5. นโยบายด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม
    • ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี AI และหุ่นยนต์ในการดูแลผู้สูงอายุและเพิ่มประสิทธิภาพในภาคการผลิต
    • พัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อเชื่อมโยงบริการสำหรับผู้สูงอายุและครอบครัว
    • สนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อรองรับสังคมสูงวัย เช่น เทคโนโลยีสุขภาพ และ assistive technologies
  • นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน
    • ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดและเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
    • พัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพและลดการปล่อยมลพิษ
    • ส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ
    • พัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities) ที่ใช้เทคโนโลยีในการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ
  • นโยบายด้านการย้ายถิ่นและแรงงานต่างชาติ
    • พัฒนาระบบคัดกรองและจัดการแรงงานต่างชาติที่มีประสิทธิภาพ
    • สร้างแรงจูงใจเพื่อดึงดูดแรงงานทักษะสูงจากต่างประเทศ เช่น การให้วีซ่าพิเศษ สิทธิประโยชน์ ทางภาษี
    • ส่งเสริมการบูรณาการทางสังคมของแรงงานต่างชาติ ผ่านการศึกษาภาษาและวัฒนธรรมไทย
    • พัฒนานโยบาย "Massive Immigration Policy" ที่มีการกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
  • นโยบายด้านความเท่าเทียมและการลดความเหลื่อมล้ำ:
    • พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุขและการศึกษาในพื้นที่ห่างไกล
    • ส่งเสริมการกระจายรายได้ผ่านระบบภาษีและสวัสดิการสังคม
    • สนับสนุนการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับทุกกลุ่มประชากร
    • พัฒนานโยบายที่ตอบสนองต่อความต้องการของกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้พิการ ชนกลุ่มน้อย

    ทั้งนี้ การนำนโยบายเหล่านี้ไปปฏิบัติ จำเป็นต้องมีการบูรณาการระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคม เพื่อให้สามารถรับมือกับความท้าทายในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

    สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดตามอ่านบทความวิจัยสั้น (Research brief) จากงานประชุมได้ที่ https://ipsr.mahidol.ac.th/post_research/ipsrconference2024/


    เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ