นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวถึงการพัฒนาสุขาภิบาลอาหารริมบาทวิถี เพื่อความปลอดภัยและสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวว่า กทม. ได้กำกับและควบคุมการสุขาภิบาลอาหาร โดยอาศัยความร่วมมือของทั้งผู้ค้า เจ้าหน้าที่ สนอ. และสำนักงานเขต ตรวจเฝ้าระวังด้านสุขลักษณะทางกายภาพและคุณภาพอาหารอย่างสม่ำเสมอ โดยเจ้าหน้าที่ สนอ. ได้ตรวจสอบติดตามให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์มาตรฐานอาหารปลอดภัยของ กทม. และจัดอบรมให้ความรู้ด้านการสุขาภิบาลอาหารแก่ผู้ประกอบกิจการและผู้สัมผัสอาหาร ตามหลักสูตรที่กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ประกาศกำหนดและหลักสูตรการสุขาภิบาลอาหารของ กทม. โดยวิธีการเรียนรู้ด้วยตนเอง (Self Study) เพื่อให้ผู้ประกอบกิจการและผู้สัมผัสอาหารมีความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง ตลอดจนนิเทศติดตามการพัฒนางานสุขาภิบาลอาหารอย่างต่อเนื่อง เพื่อควบคุม กำกับ ให้ถูกสุขลักษณะ และจำหน่ายอาหารที่สะอาด ปลอดภัย
นอกจากนี้ ยังบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักเทศกิจ และสำนักงานเขต จัดทำแผนพัฒนาสุขาภิบาลอาหารริมบาทวิถีของ กทม. ในพื้นที่ทำการค้าที่ได้รับอนุญาต 55 จุด (14 สำนักงานเขต) เพื่อให้ผู้ค้าได้ปฏิบัติตนอย่างถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ด้านการสุขาภิบาลอาหารที่ กทม. กำหนด อีกทั้งได้ร่วมกับสถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมือง กรมอนามัย สธ. ขับเคลื่อนการยกระดับมาตรฐานอาหารริมบาทวิถีในการคัดเลือกพื้นที่อาหารริมบาทวิถี และเน้นพัฒนาด้านสุขาภิบาลอาหาร ด้านโภชนาการ ส่งเสริมการไม่ใช้น้ำมันทอดซ้ำ และพื้นที่โปร่ง/จัดที่นั่งบริการ และพัฒนาพื้นที่ส่งเสริมเมนูชูสุขภาพ สื่อสาร ประชาสัมพันธ์ สร้างกระแส แสดงอัตลักษณ์ เมืองสร้างสรรค์อาหารให้เป็นที่รู้จักระดับโลก โดยมีแบบประเมินการสุขาภิบาลอาหาร SAN Plus "Street Food Good Health" ในมิติ : ด้านสุขภาพ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านวัฒนธรรม
โดย กทม. กำหนดจัดมหกรรมขับเคลื่อนโยบายยกระดับมาตรฐานอาหารริมบาทวิถี SF Local to Global ในวันที่ 12 ก.ค. 67 บริเวณพื้นที่ทำการค้า ซอยอารีย์ เขตพญาไท ส่วนร้านจำหน่ายอาหาร และ Street food ย่านเยาวราช ซึ่งมีอัตลักษณ์ของพื้นที่และเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวทั่วโลก สนอ. จะได้ประสานสำนักงานเขตสัมพันธวงศ์และสำนักงานเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เพื่อพัฒนาสุขลักษณะของแผงค้า สุขอนามัยของผู้จำหน่ายอาหาร ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ของพื้นที่ และความสะอาดของอาหาร ให้มีมาตรฐานมากขึ้น เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคและนักท่องเที่ยวต่อไป
ทั้งนี้ กทม. ได้ออกข้อบัญญัติเรื่อง สถานที่จำหน่ายอาหารและสถานที่สะสมอาหาร พ.ศ. 2565 ออกตามความในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อควบคุม กำกับ ดูแลการประกอบปรุงจำหน่ายอาหารในสถานที่จำหน่ายอาหารให้ถูกสุขลักษณะและมีความปลอดภัย ครอบคลุมทั้งด้านสุขลักษณะของสถานที่ คุณภาพอาหาร ภาชนะอุปกรณ์ และสุขอนามัยส่วนบุคคล รวมทั้งได้จัดทำคู่มือการดำเนินงานสุขาภิบาลอาหารในสถานที่จำหน่ายอาหารพื้นที่กรุงเทพฯ เผยแพร่ให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและผู้ประกอบการ เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในการดำเนินงานตามข้อบัญญัติ กทม. ดังกล่าวและข้อบัญญัติ กทม. เรื่อง การจำหน่ายสินค้าในที่ หรือทางสาธารณะ พ.ศ. 2545 ออกตามความใน พ.ร.บ. การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสุขลักษณะส่วนบุคคลของผู้จำหน่าย หรือผู้ช่วยจำหน่ายสินค้า สุขลักษณะ การใช้กรรมวิธี การจำหน่าย ทำ ประกอบ ปรุง เก็บ หรือสะสมอาหาร หรือสินค้าอื่น รวมทั้งการรักษาความสะอาดของภาชนะ น้ำใช้ และของใช้ต่าง ๆ การจัดวางสินค้าและการเร่ขายสินค้า กำหนดเวลาสำหรับการจำหน่ายสินค้า และการอื่นที่จำเป็น เพื่อการรักษาความสะอาดและป้องกันอันตรายต่อสุขภาพ รวมทั้งป้องกันไม่ให้เกิดเหตุรำคาญและการป้องกันโรคติดต่อ เพื่อประโยชน์ของประชาชนและการควบคุมการจำหน่ายสินค้าในที่ หรือทางสาธารณะ