สกสว. ร่วมภาครัฐ - เอกชน ระดมสมอง - สรรหาแนวทางนำ "วิทย์ วิจัย นวัตกรรม" ยกระดับ "ระบบขนส่งทางรางไทย"

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 8, 2024 13:59 —ThaiPR.net

สกสว. ร่วมภาครัฐ - เอกชน ระดมสมอง - สรรหาแนวทางนำ

สกสว. ร่วมภาครัฐ - เอกชน ระดมสมอง - สรรหาแนวทางนำ "วิทย์ วิจัย นวัตกรรม" ยกระดับ "ระบบขนส่งทางรางไทย" สร้างความสามารถทางคมนาคม ปลดล็อกโครงสร้างพื้นฐาน และการแข่งขันเศรษฐกิจประเทศ

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมระดมความเห็นจากภาครัฐ ภาคเอกชนและภาควิชาการ ผ่านเวทีเสวนา "การยกระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ" ครั้งที่ 8 : ระบบขนส่งทางรางในการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพื่อนำข้อมูลไปใช้วางแผนและออกแบบการจัดสรรงบประมาณด้านการวิจัยและนวัตกรรม ภายใต้กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ กองทุน ววน. ในการขับเคลื่อนระบบโลจิสติกส์ขนส่งทางรางของไทย พร้อมวิเคราะห์ช่องว่างความรู้ นำเสนอประเด็นโจทย์วิจัยสำคัญ และรับข้อเสนอแนะจากภาคส่วนต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้

รองศาสตราจารย์ ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า สกสว. เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจจัดทำนโยบายและจัดสรรงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ พร้อมด้วยหน่วยงานความร่วมมืออีก 3 หน่วยงาน คือ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้เห็นชอบร่วมกัน ที่จะมุ่งส่งเสริมและสนับสนุนการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางและเป้าหมายการพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 และแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
พ.ศ.2566 - 2570 ที่ต้องการยกระดับเศรษฐกิจของประเทศให้เป็นเศรษฐกิจสร้างคุณค่าและเศรษฐกิจสร้างสรรค์บนฐานนวัตกรรม จึงได้จัดกิจกรรมเวทีเสวนาในครั้งนี้ เพื่อจะนำข้อมูลและข้อเสนอแนะที่ได้ไปใช้ในการวางแผนและออกแบบ
การจัดสรรงบประมาณวิจัยและพัฒนานวัตกรรม รวมถึงผลักดันให้เกิดกลไกสนับสนุนต่าง ๆ ที่จะช่วยยกระดับความสามารถ
ในการแข่งขันของประเทศได้อย่างเหมาะสมต่อไป

นายปณิธาน ปวโรฬารวิทยา รองเลขาธิการ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงข้อมูลเฉลี่ยย้อนหลังในช่วงปี 2561-2565 พบว่าการขนส่งทางถนนเป็นรูปแบบการขนส่งสินค้าภายในประเทศที่มีมากที่สุดร้อยละ 79.34 ส่วนการขนส่งทางรางมีเพียงร้อยละ 1.85 ขณะที่การขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ พบว่าการขนส่งทางน้ำเป็นรูปแบบการขนส่งที่มีมากที่สุดถึงร้อยละ 88.17 ส่วนการขนส่งทางรางมีน้อยที่สุดเพียงร้อยละ 0.11 ทั้งนี้ ส.อ.ท. ได้ทดลองขนส่งสินค้าทางรางไปยังประเทศเยอรมัน ระยะทาง 13,911 กม. ใช้ระยะเวลาในการขนส่ง 70 วัน ซึ่งมากกว่าการขนส่งสินค้าทางน้ำ 2 เท่า เนื่องจากติดปัญหาเรื่องข้อกำหนด/กฎหมายของการขนส่งสินค้าผ่านแดนแต่ละประเทศ ล้วนเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายในการยกระดับความสามารถในการแข่งขันอุตสาหกรรมโลจิสติกส์และระบบราง โดยเฉพาะการขนส่งระหว่างประเทศ จึงควรมีการแก้ไขปัญหาและลดอุปสรรคต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้มีความพร้อมและเชื่อมโยงกับการขนส่งรูปแบบอื่นอย่างสมบูรณ์ การบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการปลดล็อกกฎระเบียบและการสร้างความเข้าใจระหว่างประเทศ

ด้าน ดร.นคร จันทศร อดีตรักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้กล่าวถึงโจทย์สำคัญต่อการพัฒนาระบบรางของไทย ระบุว่า การวางแผนผังเมืองที่ส่งต่อมาถึงในปัจจุบัน ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนได้ยาก พร้อมยกตัวอย่างกรณีสิงคโปร์ที่ว่า "เราจะเพิ่มจำนวนคน แฟลต รถยนต์ ถนน สะพานลอยไปเรื่อย ๆ จนกว่าทั้งประเทศสิงคโปร์จะเหลือแต่แฟลต อาคารสำนักงาน โรงแรม ศูนย์การค้า ที่จอดรถ สะพานลอยหรือไม่ หรือเราสมควรมีพื้นที่สีเขียวเพียงพอสำหรับเป็นพื้นที่หายใจ พักผ่อน ความเงียบสงบ และนันทนาการ" ขณะที่ ต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศไทย พบว่าจำนวนไม่ลดน้อยลง เพราะสัดส่วนจำนวนมากยังคงใช้การขนส่งทางถนนเป็นหลัก พร้อมแนะว่า ประเทศไทยนอกจากจะเปลี่ยนศักยภาพแล้ว ต้องปรับทัศนคติองค์กรและปรับทัศนคติของคนเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ จะทำอย่างไรให้รูปแบบการขนส่งของประเทศนั้นเกิดการเปลี่ยนแปลง

ขณะที่ รองศาสตราจารย์ ดร.มาโนช โลหเตปานนท์ ประธานหน่วยบูรณาการประเด็นยุทธศาสตร์ เพื่อพัฒนา ววน. ด้านโลจิสติกส์และระบบราง สกสว. กล่าวว่า แนวทางในการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศ 5 แนวทางหลัก ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย พ.ศ.2566 - 2570 ประกอบด้วย 1.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก 2.การยกระดับมาตรฐานและเพิ่มมูลค่าโซ่อุปทาน 3.การพัฒนาพิธีการศุลกากรกระบวนการนำเข้า - ส่งออกที่เกี่ยวข้อง และการอำนวยความสะดวกในการขนส่งระหว่างประเทศ 4.การพัฒนาศักยภาพผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย และ 5.การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการพัฒนาบุคลากรและการติดตามผลด้านโลจิสติกส์ ที่มีเป้าหมายในการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศในภาพรวม

"สถานการณ์ด้าน ววน. ในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์และระบบราง ยังพบปัญหาโจทย์วิจัยด้านปริมาณการขนส่งสินค้าทางรางมีค่อนข้างน้อย ทั้งด้านการขนส่งสินค้าแบบขาเดียวหรือการวิ่งเปล่ากลับมา (Backhaul) ด้านการผลิตชิ้นส่วนทางราง ด้านผู้เชี่ยวชาญ ด้านการร่วมทุนและการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ร่วมกับเอกชน และอีกหนึ่งประเด็นสำคัญ คือ การลดก๊าซเรือนกระจกจากภาคการขนส่ง ดังนั้น โจทย์วิจัยและข้อเสนอแนะในการพัฒนาระบบโลจิสติกส์และระบบรางของประเทศ ประกอบด้วย 1.การผลักดันพระราชบัญญัติขนส่งทางราง ที่จะเป็นการเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนกับหน่วยงานภาครัฐได้ 2.โจทย์วิจัยที่เป็นข้อเสนอแนะในเชิงนโยบาย/กฎระเบียบ 3.โจทย์วิจัยที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน (Sustainability) 4.การผลักดัน(ร่าง)พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะเป็นแนวทางเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับมาตรการต่าง ๆ ในการค้าขายระหว่างประเทศได้"

นอกจากนี้ ในช่วงเสวนา "ความท้าทายในอุตสาหกรรมระบบรางของไทย กับการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ" ได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญร่วมแลกเปลี่ยนในประเด็นต่าง ๆ อาทิ 1.นายวัชรชาญ สิริสุวรรณทัศน์ อดีตรองผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย แลกเปลี่ยนถึงบทบาทภาครัฐต่อการพัฒนาและส่งเสริมการใช้ชิ้นส่วน Local content ในอุตสาหกรรมระบบราง เช่น การเพิ่มสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้กับอุตสาหกรรมเดิม การส่งเสริมการจัดหาภายในประเทศด้วยระเบียบกรมบัญชีกลาง การต่อยอดจากชิ้นส่วนที่สามารถผลิตได้หรือต่อยอดจากอุตสาหกรรมยานยนต์ที่จะช่วยเพิ่ม Economy of Scale การจัดทำมาตรฐานอุตสาหกรรมและการรวมกลุ่มของอุตสาหกรรมระบบราง 2.ดร.ทยากร จันทรางศุ ผู้อำนวยการกองมาตรฐานความปลอดภัยและบำรุงทาง กรมการขนส่งทางราง ให้ข้อมูลถึงมาตรฐานความปลอดภัยการขนส่งทางราง มาตรฐานโครงสร้างพื้นฐาน ข้อจำกัดของกฎหมายบางฉบับที่มีการประกาศใช้มานานแต่ยังขาดความสอดคล้องกับปัจจุบัน กฎหมายที่มีอยู่ยังไม่ได้กล่าวถึงมาตรฐานที่ชัดเจน เพราะมาตรฐานนับเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาระบบขนส่งทางราง 3.นายสมบัติ จูงจิตรดำรงค์ Head of Engineering and Technology Development Centre บริษัท เวสท์โคสท์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด กล่าวถึงความท้าทายของการผลิตชิ้นส่วน Local content ในอุตสาหกรรมระบบรางกับความสามารถของไทย ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตชิ้นส่วน Local content ในอุตสาหกรรมระบบรางได้ และควรมีการส่งเสริมจากภาครัฐ 4.ดร.สาธิต เนียมสุวรรณ ผู้จัดการโครงการสำนักรับรองคาร์บอนเครดิต องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) รายงานถึงสถานการณ์การลดก๊าซเรือนกระจกและเครื่องมือสนับสนุนของ อบก. ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศปี 2564-2673 ที่มีเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจกลง 40% จากที่คาดว่าจะปล่อยในกรณีปกติ (BAU) และ 5.ผศ. ดร.สันติ เจริญพรพัฒนา รองอธิการบดีฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวถึง การพัฒนาโครงข่ายระบบรางของประเทศ ประเด็นด้านกำลังคนระบบราง และโจทย์สำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง ที่จะช่วยสนับสนุนการขยายตัวและการเปลี่ยนผ่านการพัฒนาระบบรางในปัจจุบัน

ทั้งนี้ แผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของประเทศ พ.ศ.2566-2570 ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการพัฒนาระบบโลจิสติกส์และระบบรางของประเทศ อยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาเศรษฐกิจไทยด้วยเศรษฐกิจสร้างคุณค่าและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้มีความสามารถในการแข่งขันและพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนพร้อมสู่อนาคตโดยใช้ ววน. ที่มุ่งให้ประเทศไทยมีระบบรางที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีอุตสาหกรรมการผลิตที่เกี่ยวข้องรองรับการขยายตัวของระบบด้วยการใช้ผลงานวิจัย องค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ