กรุงเทพฯ--13 พ.ค.--ปภ.
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต ๑๒ สงขลา ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ และหน่วยงานสนับสนุนการช่วยเหลือว่าด้วยความร่วมมือด้านการจัดการภัยพิบัติชายแดนไทย — มาเลเซีย จัดฝึกซ้อมแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจากอัคคีภัยในอาคารสูง จังหวัดสงขลา ประจำปี ๒๕๕๑ ในวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๕๑ ณ โรงแรมเค.พี.เค อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา เพื่อเตรียมความพร้อมในการป้องกันและ เข้าระงับเหตุฉุกเฉินจากอัคคีภัยที่เกิดขึ้นในสถานประกอบการ และทดสอบความพร้อมของบุคลากร เครื่องจักรกล ยานพาหนะ อุปกรณ์กู้ภัย และทรัพยากรอื่นๆ เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานในภาวะฉุกเฉินได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า อัคคีภัยเป็นภัยพิบัติที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในประเทศไทย ซึ่งสร้างความเสียหายทั้งต่อร่างกาย ชีวิต และทรัพย์สินของประชาชนเป็นอย่างมาก หากเพลิงไหม้มีความรุนแรงและขยายวงกว้าง จะทำให้ยากต่อการควบคุมและระงับเพลิงได้ทันเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเกิดในอาคารขนาดใหญ่ อาคารสูง (อาคารที่มีความสูงตั้งแต่ ๒๓ เมตรขึ้นไป) โรงงานอุตสาหกรรม เขตชุมชนหนาแน่น และย่านการค้าต่างๆ จะยิ่งก่อให้เกิดความสูญเสียอย่างมหาศาลมากยิ่งขึ้น ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อัคคีภัยให้กับเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต ๑๒ สงขลา จึงได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาสาสมัคร มูลนิธิ ประชาชนในพื้นที่ และหน่วยงานสนับสนุนการช่วยเหลือว่าด้วยความร่วมมือด้านการจัดการต่อภัยพิบัติชายแดนไทย — มาเลเซีย จัดโครงการฝึกซ้อมแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจากอัคคีภัย ในอาคารสูง จังหวัดสงขลา ประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๑ ขึ้น ในวันอังคารที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๕๑ เวลา ๐๙.๐๐ — ๑๕.๓๐ น. ณ โรงแรม เค.พี.เค อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นการฝึกซ้อมแผนแบบปฏิบัติจริง (Field Training Exercise : FTX) ในรูปแบบการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยไทย — มาเลเซีย เพื่อเตรียมความพร้อมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งด้านบุคลากร เครื่องจักรกล ยานพาหนะ อุปกรณ์กู้ภัย และทรัพยากรอื่นๆ ในการป้องกันและเข้าระงับเหตุฉุกเฉินจากอัคคีภัยขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นในสถานประกอบการได้ทันที รวมทั้งเป็นการซักซ้อมการอพยพประชาชนออกจาก พื้นที่เสี่ยงภัย การให้ความช่วยเหลือ การปฐมพยาบาลกรณีฉุกเฉิน การเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ โดยมีผู้เข้าร่วมฝึกซ้อมแผน จำนวน ๒๕๐ คน ทั้งนี้ การฝึกซ้อมแผนครั้งนี้ จะทำให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยปฏิบัติการหลักและหน่วยงานสนับสนุน มีความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานตนเอง มีทักษะความชำนาญ มีความพร้อมในการปฏิบัติงาน การประสานการปฏิบัติ การติดต่อสื่อสาร การเข้าเผชิญเหตุ การช่วยเหลือผู้ประสบภัย การปฐมพยาบาลผู้บาดเจ็บ และการนำผู้บาดเจ็บส่งสถานพยาบาล ซึ่งจะทำให้ผู้ประสบภัยได้รับการช่วยเหลืออย่างรวดเร็วและถูกวิธี สามารถช่วยลดความสูญเสียจากสถานการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นได้ ทั้งยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในระบบความปลอดภัยให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยวในพื้นที่อีกด้วย