เนคเทค ประกาศแล้วผลรอบรองชนะเลิศ 12 ทีมสุดท้าย มอบทุนหนุนทำต้นแบบผลิตภัณฑ์รวมเงินรางวัลกว่า 1 ล้านบาท

ข่าวเทคโนโลยี Tuesday May 13, 2008 11:55 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 พ.ค.--เนคเทค
เนคเทค ประกาศแล้วผลรอบรองชนะเลิศ 12 ทีมสุดท้าย มอบทุนหนุนทำต้นแบบผลิตภัณฑ์รวมเงินรางวัลกว่า 1 ล้านบาท เล็งเสริมศักยภาพ 3 ด้าน ใน 4 เดือน ก่อนชิงชนะเลิศ ส.ค.นี้
เนคเทค ปลื้มผลงานสร้างสรรค์ผนึกเทคโนโลยี ชี้หากสำเร็จช่วยเพิ่มประสิทธิภาพคุณภาพกลุ่มอุตสาหกรรม ธุรกิจ บริการ คัดแล้วเด็กไฮ-เทคโนโลยี ด้าน “ระบบสมองกลฝังตัว” “เทคโนโลยีอาร์เอฟไอดี” รอบรองชนะเลิศ 12 ทีมสุดท้าย เตรียมเสริมศักยภาพด้านระบบเทคโนโลยี การตลาด ดีไซน์ ทั้ง 3 กลุ่มการแข่งขัน
ดร.พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ(เนคเทค/สวทช.) เปิดเผยว่า จากที่เนคเทคได้จัดโครงการ “แข่งขันสร้างสรรค์นวัตกรรมด้วยระบบสมองกลฝังตัวและอาร์เอฟไอดีแห่งประเทศไทย” (ES-RFID) และมีนักศึกษาส่งผลงานเข้าประกวด 37 ทีมนั้น ขณะนี้เนคเทคได้พิจารณาและคัดเลือกในรอบรองชนะเลิศแล้ว โดยมีผลงานผ่านเข้ารอบ 12 ทีม ทั้งหมดจะได้รับทุนสนับสนุนการทำต้นแบบ ทีมละ 50,000 บาท (3 ประเภทๆ ละ 4 ทุน) พร้อมได้รับการสนับสนุนเทคโนโลยีการทำต้นแบบมูลค่า 150,000 บาท รวมเป็นเงินมูลค่า 7.5 แสนบาท นอกจากนี้ยังได้เตรียมเงินรางวัลสำหรับผู้ชนะเลิศการแข่งขันมูลค่ารวม 3.5 แสนบาท รวมเป็นเงินมูลค่าทั้งสิ้นกว่า 1 ล้านบาท ทั้ง 12 ทีมมีระยะเวลา 4 เดือนในการเตรียมตัวและปรับปรุงผลงานของตนเองทั้งในด้านระบบเทคโนโลยี การตลาดและดีไซน์ก่อนเข้าชิงชัยกันในรอบตัดสิน ชิงชนะเลิศเดือนสิงหาคมนี้
ภาพรวมผลงานสิ่งประดิษฐ์ของนักศึกษาที่เข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ พบว่า นักศึกษาได้นำความรู้ที่ได้จากการอบรมเชิงปฏิบัติการมาใช้อย่างเต็มที่ รวมถึงได้เตรียมตัว มาเป็นอย่างดีด้วยการศึกษาวิเคราะห์ในเชิงการตลาดอย่างจริงจัง ทำให้ผลงานที่ออกมาใกล้เคียงความเป็นจริงกับกลุ่มผู้ใช้งานอย่างมาก เช่น อุปกรณ์เพาะเลี้ยงจระเข้ โดยใช้เครือข่ายเซ็นเซอร์ไร้สาย นอกจากนี้กระแสการอนุรักษ์พลังงานก็ถูกนำมาใช้ให้เป็นจริงกับผลงานในครั้งนี้ เช่น เครื่องอบผลิตภัณฑ์ทางสปา
ผลงานที่ผ่านเข้ารอบรองชนะเลิศ 12 ทีมสุดท้าย เป็นผลงานที่จัดได้ว่าครอบคลุมกลุ่มลูกค้าระดับอุตสาหกรรม ธุรกิจ และบริการ รวมถึงผู้ใช้งานระดับปัจเจกบุคคล (end user) ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีสิ่งประดิษฐ์ที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุ พืชผักผลไม้ อาหาร - เนื้อสัตว์ การขนส่ง ท่องเที่ยวและสปา ทั้งหมดทำให้เห็นกระแสของผู้บริโภค การตลาดของภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจและบริการอย่างชัดเจนว่าเป็นไปในทิศทางที่กำลังได้รับความนิยม มีกลุ่มเป้าหมายเฉพาะเจาะจง
เนคเทคมั่นใจว่าโครงการแข่งขันสร้างสรรค์นวัตกรรมด้วยระบบสองกลฝังตัวและอาร์เอฟไอดีแห่งประเทศไทย (Embedded System and RFID Innovation Camp and Contest 2008) จะช่วยสร้างให้เกิดทรัพยากรมนุษย์ด้านไฮ-เทคโนโลยี ทั้งระบบสมองกลฝังตัว และRFID ในตลาดแรงงานไทย รวมถึงช่วยให้เกิดอุปกรณ์ เครื่องจักร ที่ทันสมัยสอดคล้องกับการใช้งานในตลาด อันจะก่อให้เกิดผลิตผลมูลค่าเพิ่มทางด้านประสิทธิภาพและคุณภาพของสินค้า” นายพันธ์ศักดิ์ กล่าว
เนคเทค ได้จัดแบ่งประเภทรางวัลการแข่งขันออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ประเภทที่ 1 ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับระบบปรับอากาศ ประเภทที่ 2 กระบวนการหรือผลิตภัณฑ์อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทางการเกษตร ประเภทที่ 3 กระบวนการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานโดยใช้เทคโนโลยี อาร์เอฟไอดี ซึ่งเป็นไปตามสภาวะทางการตลาดของอุตสาหกรรม ธุรกิจและบริการ รวมถึงพื้นฐานทางด้านการเกษตรของประเทศไทย ทีมชนะเลิศจะได้รับเงินรางวัลพร้อมโล่เกียรติยศ ดังนี้
ชนะเลิศประเภทที่ 1 เงินรางวัลมูลค่า 100,000 บาท
ชนะเลิศประเภทที่ 2 เงินรางวัลมูลค่า 100,000 บาท
ชนะเลิศประเภทที่ 3 เงินรางวัลมูลค่า 100,000 บาท
รางวัล Popular Vote เงินรางวัลมูลค่า 50,000 บาท
อนึ่ง เทคโนโลยีระบบสมองกลฝังตัว (ES: Embedded systems) คือ ระบบคอมพิวเตอร์ขนาดจิ๋วที่ฝังไว้ในอุปกรณ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องเล่นอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เพื่อเพิ่มความฉลาด ความสามารถให้กับอุปกรณ์เหล่านั้น โดยใช้software ที่ฝังไว้ภายใน ส่วน เทคโนโลยีระบุลักษณะด้วยคลื่นความถี่วิทยุ (RFID: Radio Frequency Identification) คือวิธีการระบุวัตถุสิ่งของแบบไร้สาย ไร้สัมผัส จากระยะไกล ด้วยคลื่นความถี่วิทยุ
ผลการแข่งขันรอบรองชนะเลิศ 12 ทีมสุดท้ายโครงการแข่งขันสร้างสรรค์นวัตกรรมด้วยระบบสมองกลฝังตัวและอาร์เอฟไอดีแห่งประเทศไทยประจำปี 2551
ประเภทที่ 1 ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับระบบปรับอากาศ
ทีมครึ่งโหล เครื่องวัดประสิทธิภาพเครื่องปรับอากาศ
(มหาวิทยาลัยขอนแก่น)
ทีมสปาตัน เครื่องอบผลิตภัณฑ์ทางสปา
(สถาบันเทคโนโลยีพระเจ้าเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง —สจล)
ทีม แคแสด ตู้อาบน้ำสำหรับผู้สูงอายุ
(สถาบันเทคโนโลยีพระเจ้าเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง —สจล)
ทีมนอร์ท-เชียงใหม่ การควบคุมตู้อบแห้งแบบใช้ปั๊มความร้อนด้วยระบบสมองกลฝังตัว
(มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่)
ประเภทที่ 2 ผลิตภัณฑ์อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทางการเกษตร
ทีมผมเป็นจรเข้ทำไม? อุปกรณ์เพาะเลี้ยงจระเข้โดยใช้เครือข่ายเซ็นเซอร์ไร้สาย
(มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์)
ทีมQual@SENSE เครื่องตรวจสอบคุณภาพลำไยอบแห้งแบบไร้สาย
(มหาวิทยาลัยแม่โจ้)
ทีมพี เอส ยู วิน ปลูกพืชไม่ใช้ดินด้วยตัวควบคุมอัตโนมัติ
(มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์)
ทีมสทญ. กระบวนการติดตามและแจ้งเตือนการเลี้ยงสุกรพันธุ์ด้วย RFID
(สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น)
ประเภทที่ 3 กระบวนการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน
ทีมตีนดอย ระบบการกระจายสินค้าโดยใช้ RFID
(มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เขตพื้นที่ภาคพายัพ)
ทีมอินโนโวล การเพิ่มมูลค่าของผู้ให้บริการโลจิสติกส์ด้วยนวัตกรรม
(มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์)
ทีมขาหมู ป้ายโฆษณาอัจฉริยะ
(มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)
ทีมซีดส์ ผจญภัยท่องป่าด้วยแผนที่อาร์เอฟไอดี
(มหาวิทยาลัยมหิดล)
รายละเอียดเพิ่มเติม :
เบญจรัตน์ สินสงวน (จอย) โทร.089-448-9582

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ