นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายสมาสภ์ ปัทมะสุคนธ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาโครงการการสนับสนุนสิทธิแรงงานข้ามชาติ ครั้งที่ 1 Project Advisory Committee (PAC) เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2567 โดยมี คุณเสี่ยวเยี่ยน เฉียน ผู้อำนวยการสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศ ประจำประเทศไทย กัมพูชา และ สปป. ลาว เป็นผู้กล่าวต้อนรับ ผู้เข้าร่วมประชุมและเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมให้การต้อนรับ ณ ห้องดวงกมล ชั้น 2 โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพมหานคร
นายสมาสภ์ กล่าวว่า โครงการสนับสนุนสิทธิแรงงานข้ามชาติ หรือ Migrant Advocacy for Rights (MARs) เป็นโครงการความร่วมมือทางวิชาการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ โดยได้รับเงินทุนสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา มีระยะเวลาการดำเนินการ 3 ปี ตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 - กันยายน 2569 โครงการมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับการรับรู้สิทธิของแรงงานข้ามชาติในภาคเกษตรและภาคการผลิตนอกระบบทั้งในและนอกเขตเศรษฐกิจพิเศษของไทย โดยมีแนวทางการดำเนินโครงการ คือ การสร้างการรับรู้ของแรงงานข้ามชาติเกี่ยวกับสิทธิในการรวมตัวเป็นสหภาพ และการเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพและเครือข่ายแรงงาน โดยใช้ยุทธศาสตร์ที่ให้ความสำคัญกับการเข้าถึงทุกกลุ่มและประเด็นด้านเพศสภาพ เพื่อให้โครงการสามารถเข้าถึงกลุ่มชายขอบ เช่น ผู้หญิง ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ และผู้พิการ พร้อมทั้งส่งเสริมการรับฟังเสียงสะท้อนที่มีความหลากหลายโดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นแรงงานข้ามชาติจากกัมพูชา สปป. ลาว และเมียนมา
นายสมาสภ์ กล่าวต่อว่า การประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาโครงการฯ ครั้งที่ 1 ในวันนี้เพื่อนำเสนอภาพรวมของโครงการฯ ผลลัพธ์ที่คาดหมายของการดำเนินการ โดยการประชุมในวันนี้ ขอให้ทุกท่านร่วมกันพิจารณาข้อเสนอการดำเนินโครงการฯ รวมถึงหารือเกี่ยวกับเทคนิค กลยุทธ์ หรือข้อห่วงกังวล พร้อมทั้งหาข้อสรุปร่วมกันว่าแนวการดำเนินโครงการฯ มีความสอดคล้องและตอบสนองต่อสถานการณ์ของประเทศไทยในปัจจุบันหรือไม่ เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมีแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานจากกัมพูชา ลาว และเมียนมา ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพในภาคเกษตรและภาคการผลิต และเป็นกำลังสำคัญที่มีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจระดับประเทศให้เจริญยิ่งขึ้น โดยแรงงานกลุ่มเหล่านี้ควรต้องได้รับสิทธิและการคุ้มครองทางสังคม และเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับทุกภาคส่วนในการร่วมมือกันในการขับเคลื่อนภารกิจให้บรรลุผล
"กระทรวงแรงงานพยายามที่จะดูแลแรงงานในทุกภาคส่วนให้ได้รับสิทธิและความคุ้มครองด้านแรงงาน สวัสดิการ และประกันสังคมอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และความพยายามนี้จะสัมฤทธิ์ผลได้ด้วยความร่วมมือและการสนับสนุนจากหน่วยงานไตรภาคีทุกฝ่าย ความร่วมมือของทุกท่านจะเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งในการผลักดันนโยบายและการปฏิบัติเพื่อสนับสนุนการรับรู้สิทธิของแรงงานข้ามชาติทุกกลุ่มต่อไป" นายสมาสภ์ กล่าว