นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานแถลงข่าวการจัดงานมหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์ อววน. เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน ด้วยพลังสหวิทยาการ ( อว. แฟร์ 2024 : SCI POWER FOR FUTURE THAILAND ) ซึ่งจะขึ้นระหว่างวันที่ 22-28 กรกฎาคม 2567 เวลา 09.00-20.00 น. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อแสดงศักยภาพของไทยในการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สร้างความเชื่อมั่นในธุรกิจนวัตกรรม หรือสตาร์ทอัพไทย ให้เติบโตและแข่งขันได้ในระดับโลก ภายในงานจะมีการจัดแสดงนิทรรศการและกิจกรรมหลากหลายที่ตอบโจทย์ทุกกลุ่มเป้าหมาย
โอกาสนี้ นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวง อว. คณะผู้บริหาร/เจ้าหน้าที่ในสังกัด อว. ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) พร้อมด้วย นางปริยะดา วิสุทธิแพทย์ ผอ.สำนักสื่อสารองค์กร นางสาวปัทมา ลิ่วเลิศมงคล ผอ.กองประชาสัมพันธ์ เข้าร่วมเป็นเกียรติด้วย ในวันที่ 10 กรกฎาคม 2567 ณ โรงแรมพูลแมน ซอยรางน้ำ กรุงเทพฯ
ทั้งนี้ วว. จะเข้าร่วมการจัดงานดังกล่าวในธีม "TISTR for Well-being and Longevity" บริเวณโซน E : Science for All Well-being พร้อมโชว์ผลงานจำนวน 4 โซน ดังนี้
- โซน 1 นิทรรศการผลงานวิจัย เทคโนโลยี นวัตกรรม เพื่อสุขภาพ วว. อาทิ ผัก/สมุนไพร/ดอกไม้กินได้ ผักพระราชา "โมโรเฮยะ" ซึ่ง วว. เข้าไปส่งเสริมการปลูกและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคสายสุขภาพ เป็นต้น
- โซน 2 กิจกรรมสาธิต/ฝึกอบรม เมนูอาหาร เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ อาทิ อาหารฟังก์ชั่น น้ำพริกสูตรเฮลตี้แคลเซี่ยมสูง สมุนไพรพอกหน้าแบบชนิดลอกออก เป็นต้น
- โซน 3 กิจกรรมนวดแผนไทยด้วยสมุนไพรเจลลูกประคบ วว. ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบของเจลจากสมุนไพรไทย ใช้วิธีการสกัดน้ำมันหอมระเหยจากสมุนไพรที่ใช้ในลูกประคบ เช่น ไพล ขมิ้นชัน มะกรูด ตะไคร้ เป็นต้น โดยผลิตภัณฑ์ยังคงประสิทธิภาพในการรักษาอาการปวดเมื่อย ปวดบวมจากกล้ามเนื้ออักเสบ เคล็ดขัดยอก และฟกช้ำ
- โซน 4 กิจกรรมจำหน่าย ช้อป/ชิม สินค้างานวิจัย วว. และสินค้านวัตกรรมจากผู้ประกอบการพันธมิตร ในราคาพิเศษ ! อาทิ มูลนิธิ ณภา บริษัทอินโนบิกฯ บริษัทไลอ้อน (ประเทศไทย) เป็นต้น ซึ่ง วว. นำองค์ความรู้ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เข้าไปสนับสนุนส่งเสริมเพิ่มมูลค่าผลผลิตการเกษตรหรือพืชอัตลักษณ์ในพื้นที่สู่การพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่มีประสิทธิภาพตอบโจทย์ผู้บริโภค และมีศักยภาพจำหน่ายเชิงพาณิชย์ทั้งภายในประเทศ/ต่างประเทศ