ปภ. ดึงชุมชนรับมือดินโคลนถล่มใน 51 จังหวัดเสี่ยงภัย

ข่าวทั่วไป Tuesday May 13, 2008 14:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 พ.ค.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เตือนประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัย ดินถล่ม ๒,๘๗๐ จุด ใน ๕๑ จังหวัด ๒๕๐ อำเภอ ๖๙๒ ตำบล ๒,๓๕๕ หมู่บ้าน ระมัดระวังอันตรายจากภาวะ ฝนตกหนัก ซึ่งอาจทำให้เกิดดินโคลนถล่มขึ้นได้ พร้อมสั่งการให้ศูนย์ ปภ. เขต และสำนักงาน ปภ. จังหวัด ดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการรับมือดินถล่ม และกำชับมิสเตอร์เตือนภัยในพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์ อย่างใกล้ชิด หากสถานการณ์ผิดปกติให้รีบแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย อพยพไปยังพื้นที่ปลอดภัยโดยเร็วที่สุด
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า พายุไซโคลนนาร์กีสที่พัดถล่มประเทศพม่าช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา บ่งชี้ให้เห็นว่า ขณะนี้สภาวะอากาศของโลกค่อนข้างแปรปรวน จึงต้องเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างใกล้ชิด เพราะอาจมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนตัวผ่านประเทศไทย ซึ่งจะส่งผลกระทบให้เกิดฝนตกหนักในพื้นที่ที่พายุเคลื่อนตัวผ่านได้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงขอเตือนให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่ม ๒,๘๗๐ จุด ใน ๕๑ จังหวัด ๒๕๐ อำเภอ ๖๙๒ ตำบล ๒,๓๕๕ หมู่บ้าน แบ่งเป็น ภาคเหนือ ๑๕ จังหวัด ภาคใต้ ๑๔ จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ๙ จังหวัด ภาคกลาง ๗ จังหวัด และภาคตะวันออก ๖ จังหวัด ซึ่งพื้นที่ที่เสี่ยงดินถล่มส่วนใหญ่อยู่ทางฝั่งตะวันตกของภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง อุตรดิตถ์ ภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต กระบี่ พังงา และภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดจันทบุรี และตราด เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์และติดตามรับฟังพยากรณ์อากาศอย่างใกล้ชิด หากสังเกตพบสัญญาณความผิดปกติทางธรรมชาติ เช่น ฝนตกหนักติดต่อกันเป็นเวลานาน (นานกว่า 6 ชั่วโมง หรือมากกว่า 100 มิลลิเมตรต่อวัน) สีของน้ำในลำห้วยเปลี่ยนเป็นสีเดียวกับสีดินบนภูเขา มีเสียงดังผิดปกติมาจากภูเขาและลำห้วย สัตว์ป่าแตกตื่น เป็นต้น ให้สันนิษฐานว่าอาจเกิดดินโคลนถล่มในพื้นที่ ต้องรีบอพยพออกจากพื้นที่ไปตามเส้นทางที่วางแผนไว้ หรือขึ้นที่สูงไปยังพื้นที่ปลอดภัยโดยเร็วที่สุด
นายอนุชา กล่าวต่อไปว่า ในการรับมือดินโคลนถล่ม ปภ. ได้สั่งการให้หน่วยงาน ในสังกัดทั้งศูนย์ ปภ. เขต และสำนักงาน ปภ. จังหวัด มุ่งเน้นการดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการเตรียม ความพร้อมรับมือ วางแผน กำหนดเส้นทางการอพยพ ร่วมเฝ้าระวังสังเกตความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติอย่างใกล้ชิด ตามแนวคิดการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติโดยอาศัยชุมชนเป็นฐาน พร้อมทั้งได้นำเครื่องไซเรนมือหมุน จำนวน ๑,๑๖๑ เครื่อง เครื่องวัดปริมาณน้ำฝน จำนวน ๑,๓๕๓ เครื่อง ไปติดตั้งในพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่ม ตลอดจนได้เร่งฝึกอบรมสร้างอาสาสมัคร เฝ้าระวังดินถล่มในพื้นที่เสี่ยงภัย (มิสเตอร์เตือนภัย) โดยคัดเลือกชาวบ้านในพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่มแห่งละ ๒ — ๓ คน มาอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการเฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์น้ำ สัญญาณความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติก่อนเกิด ดินถล่ม การวางแผนการอพยพชาวบ้านไปยังพื้นที่ปลอดภัย เพื่อทำหน้าที่เฝ้าระวัง ประสานการปฏิบัติงานกับ ปภ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่อย่างใกล้ชิด ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการฝึกอบรมมิสเตอร์เตือนภัยไปแล้วใน ๑,๕๗๕ หมู่บ้าน จำนวน ๒,๘๕๒ คน ซึ่งคาดว่ามิสเตอร์เตือนภัยที่ผ่านการฝึกอบรมจาก ปภ. จะสามารถทำหน้าที่เฝ้าระวัง แจ้งเตือนภัยในพื้นที่อย่างเข็มแข็ง ซึ่งหากเกิดดินถล่มขึ้นในพื้นที่ จะสามารถแจ้งเตือน และอพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่ประสบภัย ไปยังพื้นที่ปลอดภัยได้อย่างทันท่วงที ซึ่งจะช่วยลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินจากเหตุดินโคลนถล่มพื้นที่ได้อย่างแน่นอน สุดท้ายนี้ หากประชาชนในพื้นที่ประสบความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทั้งอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนสาธารณภัย ๑๗๘๔ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง เพื่อประสานและให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ