กรุงเทพฯ--13 พ.ค.--สนช.
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประกาศเชิญชวนผู้ประกอบการไทย ส่งผลงานนวัตกรรมเพื่อรับรางวัลพระราชทานพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ “พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย” ในการประกวดผลงาน “รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ประจำปี 2551”
นายวุฒิพงศ์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า “กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รู้สึกปลื้มปิติเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตเทิดพระเกียรติพระองค์เป็น “พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย” จากนวัตกรรมเทิดพระเกียรติ “โครงการแกล้งดิน” ทั้งยังถือเป็นสิริมงคลอันสูงยิ่งแก่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และวงการนวัตกรรมไทย รวมถึงผู้ชนะเลิศรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติที่จะได้รับรางวัลพระราชทานพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ “พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย” ในวันนวัตกรรมแห่งชาติ (5 ตุลาคม) ซึ่งจะเป็นการประกาศเกียรติคุณและเชิดชูเกียรติแก่ผู้สร้างนวัตกรรมที่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและสังคมไทย รวมถึงเป็นการให้กำลังใจแก่ผู้ค้นคิดนวัตกรรมดังกล่าว นอกจากนี้ “รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ” ยังเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันและส่งเสริมความสำเร็จด้านนวัตกรรม ซึ่งมีการผสมผสานความคิดสร้างสรรค์บนฐานความรู้ ตลอดจนจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวและสนใจในเรื่องนวัตกรรมมากยิ่งขึ้นในสังคมไทย”
นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการตัดสินรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวว่า “การจัดประกวด “รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ประจำปี 2551” นี้ จัดต่อเนื่องกันมาเป็นปีที่สี่แล้ว ทั้งนี้ นอกจากจะเป็นการประกาศเกียรติคุณให้กับผู้ซึ่งได้ผลิตหรือคิดค้นผลงานนวัตกรรมที่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศแล้ว ยังส่งเสริมและเป็นตัวเร่งให้เกิด “วัฒนธรรมนวัตกรรม” ขึ้นในองค์กรอีกทางหนึ่งด้วย โดยคณะกรรมการตัดสินรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านเศรษฐกิจและด้านสังคม
ทั้งจากภาครัฐและเอกชน จำนวน 10 ท่าน ได้พิจารณาจัดประเภทรางวัล ออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติด้านเศรษฐกิจ และรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติด้านสังคม ซึ่งรางวัลในแต่ละด้านจะประกอบด้วย รางวัลชนะเลิศ 1 รางวัล / รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง 1 รางวัล / รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง 1 รางวัล และรางวัลรางวัลชมเชยด้านละ 2 รางวัล พร้อมกำหนดเกณฑ์การพิจารณาตัดสินรางวัลในแต่ละประเภทโดยอาศัยหลักเกณฑ์ 3 ด้านหลัก ได้แก่ ระดับของความใหม่ กระบวนการบริหารจัดการ และผลประโยชน์ที่ได้รับจากนวัตกรรม”
ดร. สุจินดา โชติพานิช ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และประธานกรรมการนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวว่า “การประกวดผลงาน “รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ” จัดขึ้นเพื่อคัดเลือกผลงานที่มีลักษณะของนวัตกรรมที่เด่นชัดและก่อให้เกิดผลดีต่อเศรษฐกิจและสังคม โดยในปี 2550 ที่ผ่านมา มีผลงานนวัตกรรมส่งเข้าร่วมประกวดจำนวนทั้งสิ้น 349 ผลงาน แบ่งเป็นผลงานนวัตกรรมด้านเศรษฐกิจ จำนวนถึง 281 ผลงาน และผลงานนวัตกรรมด้านสังคม จำนวน 68 ผลงาน ซึ่งผลการประกวดปี 2550
ที่ผ่านมา รางวัลชนะเลิศ ด้านสังคม ได้แก่ “โครงยึดตรึงกระดูกนอกร่างกายโคราช” ซึ่งเป็นนวัตกรรมระดับประเทศที่ส่งผลกระทบด้านสังคมอย่างมาก และช่วยยกระดับงานด้านสาธารณสุขของประเทศ ตลอดจนช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย สำหรับรางวัลชนะเลิศ ด้านเศรษฐกิจไม่มีผลงานที่ได้รับรางวัล แต่มีผลงานที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ 2 ผลงาน ได้แก่ “กากถั่วเหลืองหมักคุณภาพสูง” เป็นนวัตกรรมระดับประเทศด้านกระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์กากถั่วเหลืองหมักคุณภาพสูงเพื่อใช้ในอาหารสัตว์ และ “ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจากเซลล์ยีสต์” ซึ่งเป็นนวัตกรรมระดับประเทศด้านกระบวนการผลิตยีสต์และผลิตภัณฑ์จากยีสต์ ผลิตโดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพในการสกัดสารเบต้ากลูแคน เพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางและอาหารเสริม และขอถือโอกาสนี้แสดงความขอบคุณเครือซิเมนต์ไทย ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) บริษัทดาว เคมิคอล ประเทศไทย จำกัด และบริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด ที่ให้เกียรติเป็นผู้สนับสนุนหลักของการจัดการประกวดรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ในปีนี้”
นายศุภชัย หล่อโลหการ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวว่า “ในปี 2551 นี้ คาดว่าจะมีผู้ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดไม่ต่ำกว่า 400 ผลงาน โดยผู้ชนะเลิศรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมจะได้รับเกียรติประวัติสูงสุด นั่นคือ รางวัลพระราชทานพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ “พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย” พร้อมจารึกชื่อผลงานและเจ้าของผลงาน รวมทั้งเงินรางวัล การศึกษาดูงานในต่างประเทศ ใบประกาศเกียรติคุณ และสิทธิประโยชน์อื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งขณะนี้กำลังเปิดรับสมัครการส่งผลงานเข้าประกวด และกำหนดจะปิดรับสมัครในวันที่ 31 สิงหาคม 2551 ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดแบบแสดงความจำนง เพื่อส่งผลงานเข้าประกวดและดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.nia.or.th/niaward หรือโทรศัพท์ 02-644-6000”