รวมพลังเข้มแข็งต่อเนื่องปีที่ 7 มูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี วางโรดแมปเข้ม ขับเคลื่อนการศึกษาไทย เร่งดัน 6,949 รร.คอนเน็กซ์อีดีทั่วประเทศ ก้าวทันการเรียนรู้ยุคดิจิทัล

ข่าวทั่วไป Friday July 12, 2024 14:40 —ThaiPR.net

รวมพลังเข้มแข็งต่อเนื่องปีที่ 7 มูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี วางโรดแมปเข้ม ขับเคลื่อนการศึกษาไทย เร่งดัน 6,949 รร.คอนเน็กซ์อีดีทั่วประเทศ ก้าวทันการเรียนรู้ยุคดิจิทัล

รวมพลังเข้มแข็งเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทย ให้ก้าวไกลอย่างมั่นคงและยั่งยืน?มูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี นำโดย องคมนตรี พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ (นั่งที่ 4 จากซ้าย) ในฐานะประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ จัดการประชุมสามัญประจำปี 2567 ณ ห้องประชุมกำแพง พลางกูร สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา โดยมีคณะที่ปรึกษาและผู้ทรงคุณวุฒิจากภาครัฐ โดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ (นั่งที่ 4 จากขวา) ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน โดย นายศุภชัย เจียรวนนท์ (นั่งที่ 3 จากซ้าย) ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานกรรมการ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น ในฐานะประธานคณะกรรมการมูลนิธิฯ พร้อมด้วยซีอีโอ คณะผู้บริหารจากองค์กรผู้ร่วมก่อตั้ง ตลอดจนเครือข่ายพันธมิตร ร่วมกันหารือ วางแผน และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อขับเคลื่อนการศึกษาไทย โดยปีนี้ ได้ยกระดับแผนงาน และการดำเนินงานให้พร้อมรับกับความท้าทายการศึกษายุคดิจิทัล อาทิ ร่วมกับคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปรับเกณฑ์ชี้วัดประเมินคุณภาพโรงเรียนที่เข้มข้นขึ้นจาก 44 เป็น 53 ข้อ ที่มุ่งเน้นส่งเสริมการพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอน รวมถึงปรับคณะทำงานเป็น 5 คณะ ให้ทำงานได้ชัดเจนตามยุทธศาสตร์เพื่อให้การทำงานระหว่างรัฐและเอกชนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อันประกอบด้วย 1. คณะทำงานด้านการวิจัยและการประเมินคุณภาพการศึกษา 2.คณะทำงานด้านการสร้างวัฒนธรรมการมีส่วนร่วม 3. คณะทำงานด้านการพัฒนาผู้นำและบุคลากรทางการศึกษา 4.คณะทำงานด้านหลักสูตรและการสอน และ 5. คณะทำงานด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา

ทั้งนี้ ภายใต้ความร่วมมืออันเข้มแข็งของ 3 ภาคส่วนหลัก ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน ในปี 2567 นี้ มีโรงเรียนคุณภาพที่ได้รับมอบหมายจากภาครัฐเข้ามาอยู่ในการดูแลของมูลนิธิฯ เพิ่มอีก 1,808 แห่ง ส่งผลให้ปัจจุบันมีโรงเรียนคอนเน็กซ์อีดีทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 6,949 แห่ง และเริ่มมีการใช้ระบบ School Management System แล้ว ซึ่งจากการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง มีนักเรียนที่ได้รับการสนับสนุนด้านการศึกษาสะสมแล้วกว่า 2.31 ล้านคน บุคลากรทางการศึกษาได้รับการพัฒนาศักยภาพ มากกว่า 82,000 คน ขณะที่มีผู้นำรุ่นใหม่ (School Partner) ผ่านการพัฒนาทักษะผู้นำ 1,900 คน มีผู้นำด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา (ICT Talent) ภาครัฐและเอกชน 2,400 คน ดูแลครอบคลุม 4,100 โรงเรียน นอกจากนี้ มูลนิธิฯ มีเครือข่ายพันธมิตรเพิ่มอีก 3 องค์กร รวมปัจจุบันเป็น 55 องค์กร โดยผลการดำเนินงานของมูลนิธิฯ มีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับ 5 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่

ยุทธศาสตร์ที่ 1 : การเปิดเผยข้อมูลสถานศึกษาสู่สาธารณะอย่างโปร่งใส (Transparency)

  • มีนโยบายนำระบบ School Management System ที่มีเกณฑ์การวัดคุณภาพโรงเรียนในด้านต่างๆ อย่างครอบคลุม มาใช้ประเมินคุณภาพโรงเรียน 1,808 แห่งที่เข้าร่วมเป็นโรงเรียนคอนเน็กซ์อีดีล่าสุด

ยุทธศาสตร์ที่ 2 : กลไกตลาดและวัฒนธรรมการมีส่วนร่วม (Market Mechanisms)

  • จัดอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพให้แก่ผู้นำรุ่นใหม่ (School Partner) อย่างต่อเนื่อง เสริมทักษะต่างๆ ทั้งทักษะความเป็นผู้นำ การทำงานเป็นทีม และทักษะการสื่อสาร พร้อมจัดทำตัวชี้วัด School Partner และคัดเลือก School Partner ต้นแบบ

ยุทธศาสตร์ที่ 3 : การพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอน (High Quality Principals & Teachers)

  • สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีนโยบายเห็นชอบให้มีตำแหน่ง ICT Talent ภาครัฐ โดยเริ่มจากโรงเรียนคุณภาพ และขยายสู่โรงเรียนในสังกัดสพฐ. ทั่วประเทศไทยต่อไป
  • สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ประกาศหลักเกณฑ์การโอนย้าย การประเมินวิทยฐานะ และการปรับเงินเดือนข้าราชการครู ตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ
  • พัฒนาผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอน ด้วยการจัดการอบรมเสริมทักษะสำคัญต่างๆ อาทิ ทักษะการบริหาร การนิเทศก์และการชี้แนะ ภาษา การจัดการเทคโนโลยีและดิจิทัล การจัดการเรียนรู้เชิงรุก และจิตวิทยา ซึ่งพบว่า 76% ครู มีความมั่นใจในการใช้เทคโนโลยีกับการสอน และ 71% ครู สามารถนำความรู้ด้านเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์ ไปถ่ายทอดให้แก่ครูในโรงเรียน

ยุทธศาสตร์ที่ 4 : เด็กเป็นศูนย์กลาง เสริมสร้างคุณธรรมและความมั่นใจ (Child Centric & Curriculum)

  • ขยายผลนำโมเดลต้นแบบ "ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน" หรือ Learning Center ไปสู่โรงเรียนคุณภาพ ภายในปีการศึกษา 2567 และมีนโยบายจัดตั้ง Learning Center ใน 245 เขตพื้นที่การศึกษาทั้งหมด 1 เขต 1 โรงเรียนคุณภาพ
  • พัฒนาการจัดการเรียนรู้แบบ Child Centric และร่วมกับคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนาหลักสูตร Extracurricular พร้อมแบบทดสอบคุณธรรมจริยธรรม ส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้ตามความสนใจ ต่อยอดสู่การปฏิบัติจริง ส่งผลให้เกิดการพัฒนาศักยภาพผู้เรียนให้รักการเรียนรู้ตลอดชีวิต
  • ต่อยอดโครงการ Learning Center และ ICT Talent นำร่อง 20 โรงเรียน ในโครงการ USO ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
  • เข้าหารือกับกสทช. เพื่อผลักดันให้มีนโยบายสื่อสร้างสรรค์ในช่วงเวลา Primetime โดยกสทช. ได้พิจารณาและดำเนินการทำร่างประกาศเสนอต่อคณะกรรมการในเรื่องสื่อสร้างสรรค์ ซึ่งอยู่ในระหว่างรอบรรจุวาระ

ยุทธศาสตร์ที่ 5 : การเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของสถานศึกษา (Digital Infrastructures)

  • มติ ครม.อนุมัติจัดสรรแท็บแล็ต และโน้ตบุ๊ก จำนวน 6 แสนเครื่องให้นักเรียนและครู (ปีงบประมาณ 2568 - 2572) ในโครงการส่งเสริมการเรียนรู้ขั้นพื้นฐานทุกที่ ทุกเวลา

ในโอกาสนี้ ตัวแทนผู้นำรุ่นใหม่ (School Partner) ยังได้ร่วมแบ่งปันเรื่องราวแห่งความสำเร็จ การพัฒนาตนเองในด้านต่างๆ ตลอดจนสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการลงพื้นที่ที่ได้ทำงานร่วมกับผู้บริหารสถานศึกษาและบุคลากรในโรงเรียนคอนเน็กซ์อีดี ซึ่งเป็นอีกหนึ่งพลังสำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้แก่การศึกษาไทยอีกด้วย

ทั้งนี้ สำหรับองค์กรที่สนใจเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของมูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 02-858-1881-2 หรืออีเมล : Partners.connexted@gmail.com รวมถึงสามารถติดตามข่าวสารและกิจกรรมของมูลนิธิฯ ได้ที่ connexted.org


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ