เมื่อวันที่ 12-13 กรกฎาคม พ.ศ.2567 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมแคนทารี อมตะ บางปะกง จังหวัดชลบุรี สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) พร้อมองค์กรเครือข่ายกว่า 51 องค์กร ร่วมจัดสัมมนาเครือข่ายผู้รักสัตว์ ครั้งที่ 12 ในหัวข้อเรื่อง 9 ปี พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 กับการบูรณาการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของคนและสัตว์ ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน
โดยมีนายธีระพงศ์ ปังศรีวงศ์ นายกสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย รศ.นุชทิพย์ บรรงจงศิลป์ อุปนายก TSPCA อดีตคณะกรรมาธิการวิสามัญร่างพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 กล่าวต้อนรับผู้ร่วมสัมมนา มีนายนิกร จำนง ประธานคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และอดีตประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญร่างพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ..... นายวรฉัตร วิรัชลาภ ปศุสัตว์ เขต 2 ผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และอธิบดีกรมปศุสัตว์ ร่วมเปิดงาน เป็นต้น ภายในงานมี การ ชม VTR " รักไม่ปล่อย " และ "ปล่อยนกบุญหรือบาป ?"การเสวนาเรื่องการบูรณาการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของคนและสัตว์ ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน และการเสวนาเรื่อง แนวทางนโยบายสาธารณะกับการบูรณาการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของคนและสัตว์ ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน โดย มีการเปิดเวที ร่วมแสดงความคิดเห็นแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างเครือข่ายผู้รักสัตว์ กันอย่างกว้างขวาง
นายนิกร จำนง ประธานคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และอดีตประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญร่างพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.... กล่าวว่า วันนี้ผมได้ทำหน้าที่เป็นประธานกล่าวเปิดงานสัมมนาในฐานะอดีตประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญร่างพรบ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. ... อันเป็นที่มาของกฎหมายฉบับแรกของไทยในมิตินี้ ที่เกิดจากการนำเสนอโดยภาคประชาชน ตอนนี้ถึงเวลาที่เราจะต้องผลักดันให้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่ใช้มา 9 ปีแล้ว ในปีนี้ โดยอาศัยหลักการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายตาม รธน.ม.77 โดยผมปวารณาตัวเองว่าเมื่อกฎหมายนี้เข้าสภา ผมก็จะตามเข้าไปเป็นกรรมาธิการแก้ไขกฎหมายที่ช่วยกันทำมานี้ให้ดีกว่าเดิม และขอให้เครือข่ายผู้รักสัตว์ที่มาร่วมประชุมจากทั่วประเทศถามใจตัวเองที่ผมเชื่อว่ามาด้วยใจที่รักสัตว์เป็นตัวผลักดันเหมือนผมอย่างแน่นอน สำหรับประเด็น "แนวทางนโยบายสาธารณะกับการบูรณาการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของคนและสัตว์ ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน" รูปแบบของนโยบายสาธารณะมีหลักการใหญ่ต้องพึ่งนโยบายของรัฐบาลกลางประสานกับท้องถิ่น เป็นผู้ดำเนินการโดยอาศัยรูปแบบส่วนท้องถิ่นลงไปดูแล บางทีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ให้มีการกระจายอำนาจออกไปจะสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ดี
นางฐิติมา ฉายแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ฉะเชิงเทรา พรรคเพื่อไทย เห็นว่า ปัญหาช้างป่าบุกรุกทำลายชีวิตและทรัพย์สินของปชช.ก็เป็นเรื่องหนึ่งของความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ ปทท.พยายามแก้ปัญหานี้มานานไม่ว่าจะเป็นการขุดคูน้ำ-การสร้างรั้วไฟฟ้า เป็นต้น แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ อีกทั้งปชช.ผู้เดือดร้อนก็เรียกร้องค่าเสียหายกับทางรัฐหลายกรณี และเมื่อ 19 มี.ค.67 ปชช.จากหลายจังหวัดก็ไปร้องเรียนกับ กมธ.เกษตร สภาผู้แทนราษฎรด้วย ดังนั้น มันอาจจะต้องหาแนวทางอื่นร่วมด้วย เลยเสนอว่าให้การประชุมสัมมนาครั้งนี้ส่งเสียงดังๆไปหากรมอุทยานแห่งชาติที่รับผิดชอบในปัญหาช้างป่าบุกรุกที่เป็นปัญหาที่ยังแก้ไม่ตกสักทีนั้นได้ทำโครงการเสนอ IMF เพื่อขอเงินที่สามารถได้จากการขายคาร์บอนเครดิตจากป่าไม้ของไทย หลายปท.มีความต้องการซื้อคาร์บอนเครดิต IMF จึงเป็นคนกลางที่ทำให้ปท.ที่มีคาร์บอนเครดิตมากๆ ได้พบกับปท.ที่ต้องการซื้อ ปทท.จะได้ทั้งเงิน ได้ทั้งป่าเพิ่มขึ้น ได้แก้ปัญหาการบุกรุกของช้างป่าเพราะเขามีอาหารเพียงพอ เกษตรกรก็ขายสินค้าของตัวเองได้ด้วย win-win-win
นายพิชัย เกียรติวินัยสกุล อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลพบุรี เห็นว่า การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของคนและสัตว์ในจังหวัดลพบุรี เป็นตัวอย่างที่ดี เพราะเป็นการบูรณาการการแก้ไขปัญหาจากทุกภาคส่วน ท้องถิ่นมีบทบาทสำคัญเพราะในปัจจุบัน มีระเบียบและกฎหมายรองรับมากยิ่งขึ้น และการกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่นนั้น จะได้ทั้งอำนาจหน้าที่และงบประมาณในการดำเนินการ ท้องถิ่นจะเข้าใจบริบทปัญหาท้องถิ่นได้อย่างดี การแก้ไขปัญหาลิงลพบุรี ก็เช่นกัน ถ้าภาคส่วนต่างๆ ขององค์กรปกครองของท้องถิ่นในจังหวัดทั้งหมด มองปัญหา แล้วช่วยกันกระจายลิงไปในพื้นที่ต่างๆ แล้วช่วยกันเลี้ยงดูให้การจัดสวัสดิภาพให้เหมาะสม ลิงก็จะอยู่ควบคู่จังหวัดลพบุรี ลดปัญหาความขัดแย้งของคนและสัตว์ได้อีกระดับ ที่สำคัญประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา
ศ.สพ.ญ.ดร.อัจฉริยา ไศละสูต ผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการองค์การสมาพันธ์สมาคมสัตวแพทย์แห่งเอเซีย กล่าวถึง หลักการสุขภาพหนึ่งเดียว สามารถอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสัตว์ ได้ เช่น ร้อยละ 75 ของโรคที่เกิดขึ้นกับคนเป็นโรคที่มาจากสัตว์ หรือโรคเกิดจากสัตว์ก่อนติดต่อสู่คน แล้วแพร่กระจายระบาดกัน แต่ที่สำคัญคือ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้น จากการสร้างความไม่สมดุลของการทำลายระบบนิเวศวิทยาและความหลากหลายทางชีวภาพ เช่น การตัดไม้ทำลายป่า การบุกรุกพื้นที่ป่า ทำให้พื้นที่ป่าลดลง สัตว์ไม่มีที่อยู่อาศัย ขาดอาหาร ทำให้ต้องเข้ามาหาอาหารในเมือง และที่น่าห่วงคือ ภาวะโลกร้อน ทำให้พบโรคใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นจากสัตว์ เป็นพาหะประเภทแมลงมากยิ่งขึ้นด้วย
รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อุปนายก TSPCA กล่าวว่า ทุกอย่างต้องเริ่มต้นจากวิธีคิด เรามักคิดว่ามนุษย์เป็นศูนย์กลาง การจะแก้ปัญหานั้นควรต้อง win-win เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ด้วยความรับผิดชอบ การออกแบบนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญมาก โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญ การศึกษา การวางแผนที่ดี มีกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพและดำเนินการด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ด้วยการนำมาบูรณาการแก้ไขปัญหา เช่น ระบบ AI จะมีส่วนสำคัญในการพัฒนาข้อมูลและแนวทางแก้ไขปัญหาในการสร้างสันติภาพระหว่างคนและสัตว์ได้
ดร.วิไลวรรณ เพชรโสภณสกุล ผู้ก่อตั้งล้านนาด็อกเวลแฟร์ มองถึงปัญหาอุปสรรคความขัดแย้งของคนละสัตว์นั้นเกิดจาก พื้นฐานการให้คุณค่าของคนและสัตว์ไม่เท่ากัน สัตว์ยังถูกตีค่าต่ำไม่ใช่เพื่อนร่วมโลก หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องยังขาดความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของตนเอง มักมองในบริบทเดิมๆ และองค์ความรู้เกี่ยวกับสัตว์ต่างๆ ยังมีน้อย โดยตัวชี้วัดเกี่ยวกับสวัสดิภาพสัตว์ยังไม่เป็นที่เข้าใจ สำหรับข้อเสนอแนะการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ควรต้องตั้งอยู่บนหลักการทางวิทยาศาสตร์เป็นพื้นฐานและพิสูจน์ได้ ยึดหลักสุขภาพหนึ่งเดียวซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่เชื่อมโยงสุขภาพของมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อมเข้าไว้ด้วยกัน ที่สำคัญยึดมั่นในการแก้ปัญหาอย่างมีมนุษยธรรมและด้วยจิตที่เมตตาตามหลักการของศาสนา
ดร.จำเนียร วรรัตน์ชัยพันธ์ ที่ปรึกษาอาวุโส องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN) เห็นว่าหากจะให้คนอยู่อย่างสงบและเป็นมิตรกับสัตว์ป่าในเมืองต้องออกแบบเมืองและใช้ผังเมืองให้เป็น ออกแบบเมืองให้มีพื้นที่สีเขียวให้ต่อเนื่องเป็นระเบียง ปลูกป่าให้มีความหลากหลายพืชพันธุ์และสัตว์ในเมือง ส่งเสริมเกษตรเมืองให้คนและสัตว์กิน ใช้มาตรการผังเมืองให้กำหนดการใช้ประโยชน์พื้นที่ให้ชัดเจน (zoning) รักษาระบบนิเวศ และพื้นที่ชุ่มน้ำในเมือง อานิสงส์จากการอยู่ร่วมกันระหว่างคนและสัตว์ป่าในเมืองบนฐานธรรมชาติ (Nature based Solutions) สร้างการปรับตัว รับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติธรรมชาติได้
ฌาร์ม โอสถานนท์ มิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์สประจำปี พ.ศ. 2549 กรรมการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) เห็นว่าการเลี้ยงสัตว์อย่างรับผิดชอบ เลี้ยงเมื่อพร้อมที่จะดูแลเขาไปตลอดอายุขัยเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ที่ผ่านมาได้มีโอกาสช่วยเหลือสัตว์และร่วมงานกับ TSPCA เกือบ 20 ปี เต็ม เห็นว่ากิจกรรมที่จัดนั้นมุ่งเน้นการสร้างสังคมให้เกิดสันติสุข เกิดดุลยภาพ และสร้างค่านิยมอันดี เช่น กิจกรรมรณรงค์ภาพยนตร์สั้น " รักไม่ปล่อย " และ "ปล่อยนกบุญหรือบาป ?" รักสัตว์ในโรงเรียน ลูกเสือสวัสดิภาพสัตว์ ทำบุญไม่ทารุณสัตว์ เป็นต้น รวมทั้งการรณรงค์ผลักดันกฎหมายที่ริเริ่มดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการสัมมนาเครือข่ายผู้รักสัตว์ที่จัดครั้งนี้จัดเป็นครั้งที่ 12 แล้ว จะได้มีส่วนร่วมระดมความคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในอันจะแก้ปัญหาต่างๆ ได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
นางสาวธิษณา เดือนดาว กรรมการผู้จัดการ บริษัท มายด์เอ็นแม็ทเทอร์ส จำกัด กล่าวว่า จากจุดเริ่มที่ต้องการทำสื่อให้ความรู้เพื่อคนอื่นจะไม่ต้องเสียน้ำตาแบบครอบครัวเรา มาสู่การยื่นฟ้องเพื่อใช้สิทธิทางกฎหมายเพื่อรณรงค์ และขับเคลื่อนสู่การแก้กฎหมาย? " สัตว์เลี้ยงคือสมาชิกในครอบครัว ไม่ใช่ทรัพย์สิน"เพราะชีวิต ไม่ใช่โอกาสทางธุรกิจของใคร และที่สำคัญสัตว์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความรู้สึกและเป็นองค์ประกอบสำคัญของสิ่งแวดล้อมที่มี "คุณค่า" การแก้ไขความขัดแย้งที่ยั่งยืนที่สุด คือกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนเข้าใจ เห็นคุณค่าความสำคัญของเพื่อนร่วมโลก สรรพสัตว์น้อยใหญ่และปฏิบัติต่อกันอย่างมีมนุษยธรรมมากยิ่งขึ้น
นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หัวหน้ากลุ่มงานสุขภาพสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า การแก้ไขความขัดแย้งของคนและสัตว์นั้นเป็นเรื่องที่สำคัญมาก โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาเพื่อให้เกิดดุลยภาพ รักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมและเป็นประโยชน์ด้านการจัดสวัสดิภาพและป้องกันการทารุณสัตว์ โดยที่ผ่านมามีการบูรณาการการแก้ไขปัญหาในหลากหลายกรณี เช่น ภารกิจการแก้ไขปัญหาลิงลพบุรี ในเบื้องต้น ได้มีการควบคุมจำนวนประชากรลิงในพื้นที่ขัดแย้ง ต่อด้วยการพัฒนาพื้นที่อาศัยที่เหมาะสม และจะมีการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้เขาดีขึ้น ต้องขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมกัน โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีบทบาทสำคัญ หลังจากนี้การจัดสวัสดิภาพลิงในกรงเลี้ยง เป็นเรื่องที่มีความสำคัญและต้องมีการติดตาม ตามยุทธศาสตร์การบริหารจัดการลิงลพบุรี ทั้ง 3 ยุทธศาสตร์ต่อไป
นายสัตวแพทย์นันทศักดิ์ มุสิกศิลป์ นายสัตวแพทย์ชำนาญการ กลุ่มคุ้มครองสวัสดิภาพสัตว์ กองสวัสดิภาพสัตว์และสัตวแพทย์บริการ กรมปศุสัตว์ เห็นว่า ทางกรมปศุสัตว์มีอำนาจหน้าที่และได้ดำเนินการ เกี่ยวกับกฎหมายฉบับดังกล่าว ปัจจุบันมีการร้องเรียนในประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์เป็นจำนวนมาก ทางกรมปศุสัตว์ ก็มีการพัฒนาช่องทางการรับข้อร้องเรียนให้ทันสมัย รวดเร็วมากยิ่งขึ้น เพื่อจะได้แก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที
นางพรอัปสร นิลจินดา อดีตผู้อำนวยการส่วนจัดและควบคุมรายการสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ (NBT) เห็นว่า สื่อมวลชนเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ เพราะบางกรณี บางแง่มุมนั้นเป็นเรื่องที่อ่อนไหวกับความรู้สึกต่อจิตใจของประชาชน ดังนั้นการนำเสนอข้อมูลที่สร้างสรรค์ ถูกต้องด้วยความเป็นจริง และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนนั้นเป็นเรื่องสำคัญในการลดความขัดแย้งของคนและสัตว์ได้เป็นอย่างดี อีกวิธีการหนึ่งด้วย
นายเจษฎา อนุจารี กรรมการและที่ปรึกษากฎหมาย TSPCA เห็นว่า การบังคับใช้กฎหมายเป็นเรื่องที่สำคัญ และต้องสร้างและอำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง เช่น การตีมูลค่าทางทรัพย์สินหรือการให้คุณค่าทางจิตใจ แม้ในปัจจุบันมีหลักการอยู่ แต่ก็ต้องมีการพัฒนา เพราะกฎหมายสวัสดิภาพสัตว์เป็นการพัฒนาและยกระดับพฤติกรรมและจิตใจในการปฏิบัติต่อสัตว์อย่างมีมนุษยธรรมและที่สำคัญทุกกฎหมายย่อมมี "คุณธรรม" ตาม "เจตนารมณ์" ของกฎหมายนั้นๆ ก็ขึ้นอยู่กับผู้ปฏิบัติ ผู้บังคับใช้ และผู้ตัดสิน ที่จะต้องมีองค์ประกอบ ความรู้ ประสบการณ์การและความเชี่ยวชาญนั้นๆ ด้วย
ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล เลขาธิการและผู้อำนวยการ TSPCA ในฐานะผู้ประสานงานในการจัดสัมมนาครั้งนี้ เห็นว่า การสัมมนาทั้ง 2 วัน ผู้เข้าร่วม ได้เริ่มต้นจากการร่วมกันคิด สิ่งที่ร่วมกันคิด จะมาสู่การร่วมกันทำทั้ง 51 องค์กร และจะมีการร่วมติดตาม ร่วมแก้ไขปัญหา และมีการร่วมชื่นชมยินดี ต้องขอขอบคุณทุกคน ทุกองค์กรด้วยความซาบซึ้งใจและหลังจากการสัมมนาครั้งนี้ จะมีการสรุปผลและจัดทำข้อเสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมบูรณาการ การแก้ไขปัญหาลดความขัดแย้งของคนและสัตว์ เพื่อให้สังคมเกิดดุลยภาพและความสงบสุขร่วมกัน อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ต่อไป