กรมประมงโชว์ศักยภาพนักวิจัยสุดเจ๋ง?เตรียมพร้อมนำเสนอผลงานวิจัยดีเด่นที่มีคุณภาพด้านการประมง สู่สาธารณชนกว่า 99 เรื่อง 9 สาขา ได้แก่ สาขาการประมงทะเล การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง การจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมประมง อุตสาหกรรมสัตว์น้ำ พันธุกรรมสัตว์น้ำ โรคสัตว์น้ำ อาหารสัตว์น้ำ และสาขาเศรษฐกิจ สังคม และประเทศ สู่การใช้ประโยชน์เพื่อการเติบโตของภาคการประมงไทยอย่างยั่งยืน โดยในปีนี้มีนักวิชาการและนักวิจัยจากทางภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงนักวิจัยอิสระ เข้าร่วมนำเสนอผลงานด้วย
นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า กรมประมงได้มีการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ ๆ ในด้านการประมงสาขาต่าง ๆ ที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ทั้งการศึกษาวิจัยในศูนย์วิจัยของกรมประมงเองและการทำงานวิจัยร่วมกับภาคเอกชนและเกษตรกร ซึ่งนอกจากจะสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์แล้ว ยังสามารถต่อยอดสู่การพัฒนาเพื่อการเติบโตของภาคการประมงไทยอย่างยั่งยืน ที่มุ่งเน้นการนำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรและพี่น้องชาวประมงไทย สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ และส่งเสริมความมั่นคงให้แก่วงการประมงไทยได้เติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งในปี 2566 ที่ผ่านมา กรมประมงนำเสนอผลงานวิจัยดีเด่น อาทิ เรื่องการพัฒนาการผลิตผลิตภัณฑ์ปลาช่อนทะเลในเชิงอุตสาหกรรม เรื่องการเพาะพันธุ์และอนุบาลปลาปล้องอ้อย เรื่องการพัฒนาซุปก้อนจากส่วนก้างและหัวปลานวลจันทร์ทะเล เรื่องการทดสอบพันธุ์กุ้งแวนนาไมพันธุ์ปรับปรุงในฟาร์มเกษตรกรและในสถานี เป็นต้น
สำหรับในปีนี้การจัดประชุมวิชาการประมง ประจำปี 2567 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 23 - 25 กรกฎาคม 2567 นี้ มีผลงานวิจัยดีเด่นที่มีคุณภาพและน่าสนใจต่าง ๆ มากมาย อาทิ
1. เรื่องการพัฒนากระบวนการผลิตปูม้าดองด้วยเทคโนโลยีการถนอมอาหารด้วยความดันสูง เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ปูม้าดองโดยใช้การฆ่าเชื้อด้วยเทคโนโลยีการถนอมอาหารด้วยความดันสูง ทำให้ปูม้าดอง มีความปลอดภัยต่อการบริโภค
2. เรื่องการเปลี่ยนแปลงประชาคมสัตว์น้ำในกองปะการังเทียมขนาดใหญ่ เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจัดสร้างใหม่ โดยใช้แท่งคอนกรีตขนาด 3x3x3 เมตร ต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการดึงดูดสัตว์น้ำ ซึ่งไม่ขัดกับข้อกำหนดด้านความสูง วิธีการจัดวางปะการังเทียมเพื่อความปลอดภัยในการเดินเรือ และข้อกำหนดที่ห้ามจัดวางวัสดุซ้อนกันเพื่อจัดวางเป็นปะการังเทียม โดยดำเนินการจัดวางแท่งคอนกรีตรูปแบบใหม่ในบริเวณ 2 พื้นที่ คือ ฝั่งอ่าวไทย จังหวัดระยอง และฝั่งทะเลอันดามัน จังหวัดตรัง และเนื่องจากปลาเป็นสัตว์น้ำที่มีลักษณะเคลื่อนย้ายแหล่งอาศัยเร็วและการเคลื่อนย้ายเป็นไปตามแหล่งอาศัยที่เหมาะสมกับการดำรงชีวิตตามชนิดพันธุ์สัตว์น้ำ ฉะนั้น ปะการังเทียมที่สามารถดึงดูดปลาให้เข้ามาอาศัยได้ดีจึงเป็นสิ่งสำคัญและเป็นสิ่งยืนยันที่มีประสิทธิภาพที่สุด
3. เรื่องความชุกชุมและการแพร่กระจายของปลิงทะเลทางฝั่งอันดามัน เพื่อสำรวจชนิด ความชุกชุม การแพร่กระจายของปลิงทะเล และชนิดปลิงทะเลที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่พบในพื้นที่ศึกษาที่สัมพันธ์กับคุณภาพน้ำ และลักษณะพื้นท้องทะเลในแหล่งอาศัยของปลิงทะเล ในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสตูล ตรัง กระบี่ พังงา ระนอง และภูเก็ต โดยทำการศึกษาครอบคลุม 2 แหล่งอาศัย ได้แก่ แหล่งหญ้าทะเล และแนวปะการัง ดำเนินการในเดือนมกราคม มีนาคม พฤษภาคม กรกฎาคม กันยายน และพฤศจิกายน พ.ศ. 2564
4. เรื่องการค้นหาและพัฒนาเครื่องหมายดีเอ็นเอสนิปที่สัมพันธ์กับลักษณะการเจริญเติบโตดีในกุ้งขาว (ศรีดา) เพื่อตรวจสอบยืนยันสายพันธุ์ โดยใช้เครื่องหมายดีเอ็นเอสนิป 4 ตำแหน่ง ในการตรวจสอบยืนยันจีโนไทป์ของพ่อแม่พันธุ์กุ้งขาวศรีดา 1 พันธุ์หลักที่จะใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์ในการผลิตพันธุ์ขยายจำนวน และเพื่อตรวจสอบพ่อแม่พันธุ์ในทุก ๆ รุ่น ให้มีการถ่ายทอดทางพันธุกรรมของลักษณะต้านทานโรคตายด่วนไปสู่รุ่นลูกสืบต่อไป
5. เรื่องเศรษฐกิจการผลิตและการจำหน่ายกุ้งก้ามกรามในภาคกลางของไทย เพื่อศึกษาสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกราม ต้นทุน และผลตอบแทนการเลี้ยงกุ้งก้ามกราม มาตรฐานการปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดี (GAP) การจำหน่ายกุ้งก้ามกรามในพื้นที่ภาคกลางของไทย ตลอดจนปัญหาอุปสรรค และแนวทางแก้ไขปัญหาการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดีของกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามร่วมกับกุ้งขาวแวนนาไมในบ่อดิน ในเขตพื้นที่จังหวัดนครปฐม ราชบุรี ฉะเชิงเทรา และสุพรรณบุรี
อธิบดีกรมประมงกล่าวทิ้งท้ายว่า?นอกจากผลงานวิจัยที่กล่าวมาแล้ว ยังมีผลงานวิจัยอื่น ๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องเกษตรกรและชาวประมง ในการนำไปปรับใช้เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การยกระดับมาตรฐานสินค้าประมง ตลอดจนการบริหารจัดการทรัพยากรประมงอย่างมีประสิทธิภาพ โดยในส่วนของกรมประมง จะนำงานวิจัยต่าง ๆ มาเป็นแนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนแก่เกษตรกรชาวประมงในทุกภาคส่วนอย่างเหมาะสม เพื่อให้ภาคการประมงไทยสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ กรมประมงขอเชิญชวนนิสิต นักศึกษา นักวิชาการ เกษตรกร ประชาชนทั่วไป และผู้ที่สนใจ เข้าร่วมรับชมการถ่ายทอดสดพิธีเปิดการประชุมวิชาการประมงประจำปี 2567 และรับฟังบรรยายพิเศษ ในหัวข้อต่าง ๆ ที่น่าสนใจ จากอธิบดีกรมประมง และวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ในวันพุธที่ 24 กรกฎาคม 2567 เวลา 08.30 - 12.00 น. ผ่านทาง Youtube ช่องสถานีประมงต้นแบบ https://youtube.com/live/AMI6Bsk5Exs?feature=share