สถิติทั่วโลกพบเด็ก 5% ของชั้นประถม เป็นโรคบกพร่องทางการเรียนรู้ รพ. BMHH ห่วงเด็กไทย พร้อมเปิดศูนย์ LD Center กระตุ้นทุกฝ่ายต้องร่วมกันแก้ปัญหา

ข่าวทั่วไป Wednesday July 17, 2024 10:22 —ThaiPR.net

สถิติทั่วโลกพบเด็ก 5% ของชั้นประถม เป็นโรคบกพร่องทางการเรียนรู้ รพ. BMHH ห่วงเด็กไทย พร้อมเปิดศูนย์ LD Center กระตุ้นทุกฝ่ายต้องร่วมกันแก้ปัญหา

โรงพยาบาลเฉพาะทางด้านจิตเวช BMHH หรือ  Bangkok Mental Health Hospital เปิดศูนย์ LD Center  แบบครบวงจร ทั้งในด้านการส่งเสริม  การรักษา และฟื้นฟูทักษะการเรียนรู้ แบบตรงจุดตรงโรค ทั้งปัญหาด้านการอ่าน การเขียน และการคำนวณ รวมทั้งการใช้ชีวิตในสังคมอย่างมีความสุข   โดยทีมแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ที่มีประสบการณ์ เฉพาะทางด้านจิตเวชเด็กและวัยรุ่น  ชี้เด็ก LD รักษาได้  หลายคนมีความเป็นอัจฉริยะอยู่ในตัวเอง และเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพในอนาคต หากได้รับการพัฒนาที่ตรงจุดและเหมาะสม

แม้ในปัจจุบันความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับเด็ก LD หรือเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ในประเทศไทยจะขยายวงกว้างมากขึ้น แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ ยังมีผู้ปกครองและคุณครูจำนวนไม่น้อยเข้าใจผิด คิดว่าเด็ก LD ที่มีปัญหาด้านการอ่าน การเขียน การคำนวณ หรืออาจมีพฤติกรรมไม่สนใจและไม่มีสมาธิในการเรียน ทำงานช้าและไม่เสร็จ เป็นเด็กดื้อ เกเร หรือขี้เกียจ ทำให้เด็กไม่ได้รับการส่งเสริมทักษะเรียนรู้ที่ดีพอ

รศ.นพ.มนัท สูงประสิทธิ์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลเฉพาะทางด้านจิตเวช BMHH หรือ  Bangkok Mental Health Hospital เปิดเผยว่า  ปัญหาสุขภาพจิตที่น่าห่วงสำหรับเด็กไทย ณ ปัจจุบันนี้  คือ  โรคบกพร่องทางการเรียนรู้  หรือ โรค LD (Learning Disability)   ที่มีปัญหาด้านทักษะการอ่าน การเขียน การสะกดคำ การคำนวณ และเหตุผลเชิงคณิตศาสตร์  และพบว่าส่วนใหญ่จะมีปัญหาทางจิตเวชอื่น ๆ ร่วมกันได้ถึงร้อยละ 30-40%  เช่น โรคสมาธิสั้น และโรคซึมเศร้า เป็นต้น และมีตัวเลขสถิติทั่วโลกตรงกันว่า 5% ของเด็กชั้นประถมเป็นโรค LD ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนไม่น้อย โดยจะพบแบบอาการรุนแรง 1-2% ส่วนที่เหลือ 3% เป็นแบบอาการไม่รุนแรงสามารถช่วยตัวเองได้   โรคนี้ยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรคที่ชัดเจน  โดยเบื้องต้นน่าจะเกิดจากการทำงานของสมองบางตำแหน่งบกพร่อง โดยเฉพาะตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ และการใช้ภาษา  กรรมพันธุ์ ที่มาจากพ่อแม่ หรือญาติพี่น้องที่มีปัญหาเดียวกัน และอาจจะเกิดจากความผิดปกติของโครโมโซม

ทั้งนี้  BMHH  โรงพยาบาลเฉพาะทางด้านจิตเวช  ได้เล็งเห็นถึงแนวโน้มเด็กไทยเป็นโรค LD มากขึ้น จึงพร้อมเปิดศูนย์ LD Center ขึ้นมีบริการดังนี้ ตรวจคัดกรองโรค LD โดยจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นที่มีความเชี่ยวชาญ กรณีที่มีปัญหาพฤติกรรม สามารถส่งพบนักจิตวิทยาที่มีประสบการณ์ รวมถึงครูการศึกษาพิเศษ ที่ช่วยเหลือเด็กได้ตรงจุด ทีมแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์เฉพาะทางด้านจิตเวชเด็กและวัยรุ่น  เน้นการรักษาโดยสหสาขาวิชาชีพ เราเชื่อในการรักษาไม่เพียงแค่อาการดีขึ้นหรือหาย แต่ยังป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำด้วยวิธีการแบบองค์รวม รวมถึงความตั้งใจในการให้บริการด้วยเจตคติที่ดีให้การรักษาทั้งสุขภาพกายและจิตใจ เพื่อพัฒนาแผนการรักษาที่เหมาะกับผู้รับบริการแต่ละราย ได้กลับมาดำเนินชีวิตในครอบครัว และสังคมได้อย่างมีความสุข

รศ.นพ.มนัท กล่าวต่อว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประชาชนมีความเข้าใจเรื่อง LD มากขึ้น แต่ก็ยังถือว่าเป็นโรคที่คนรู้จักค่อนข้างน้อย เชื่อว่าหากคนที่มีชื่อเสียงออกมาประกาศตัวต่อสังคม จะทำให้พ่อแม่ที่มีลูกเป็น LD กล้ายอมรับ นำมาสู่การวินิจฉัยและเข้ารับการรักษามากขึ้น ซึ่งอันดับแรกคือ พ่อแม่ต้องเปิดใจ เพราะลูกเป็นโรคต้องการความช่วยเหลือ ไม่ได้เกเรหรือขี้เกียจ การหลบเลี่ยงเป็นผลที่ปลายเหตุ โดยกระบวนการรักษาจะแนะนำทั้งผู้ปกครอง ลูก และโรงเรียนโดยรวมคือทุกฝ่ายต้องมีส่วนร่วมในการช่วยกัน ตั้งแต่ระดับครอบครัว โรงเรียน และผู้เชี่ยวชาญที่จะมาช่วยเหลือเด็ก เพื่อให้ได้รับการพัฒนาที่ตรงจุดและเหมาะสม" รศ.นพ.มนัท กล่าวสรุป

"สิ่งที่น่ากังวลสำหรับสถานการณ์ในประเทศไทยคือ พบว่ามีเด็ก LD เข้าสู่ระบบการช่วยเหลือของโรงพยาบาลจำนวนน้อยมาก เนื่องจากผู้ปกครองบางคนต้องทำงาน ไม่มีเวลา หรือบางคนมองว่าไม่ได้เป็นอะไรมาก ทั้งที่เด็กหลายคนมีความเป็นอัจฉริยะอยู่ในตัวเอง หากได้รับการพัฒนาที่ตรงจุดและเหมาะสม โดยการช่วยเหลือหากเริ่มตั้งแต่ยิ่งเล็กยิ่งดี ซึ่งส่วนใหญ่กว่าจะรู้ก็เมื่อเด็กเริ่มอ่านเขียน ประมาณอนุบาล 2 แต่ในช่วงอนุบาลจะยังวินิจฉัยยาก อย่างไรก็ตามหากผู้ปกครองสังเกตเห็นความผิดปกติ ให้เข้าพบแพทย์เพื่อการวินิจฉันอย่างถูกต้อง แม้ว่าอาการโรคจะชัดเจนและวินิจฉัยได้แน่ชัดในชั้น ป.2 แต่ในเด็กที่มีอาการ แพทย์จะแนะนำให้เริ่มช่วยเหลือโดยทันที ซึ่งเด็กกลุ่มนี้มีทั้งจุดดีและจุดด้อย ถ้าเราเข้าใจและช่วยเหลือในจุดด้อย พร้อมส่งเสริมจุดเด่นก็จะทำให้เด็กประสบความสำเร็จได้"  หากมีปัญหาสุขภาพจิต  สามารถติดต่อเข้ามาสอบถามและรับการตรวจ ได้ที่ รพ BMHH ติดต่อสอบถาม 02 589 1889  Contact@bmhh.co.th


แท็ก bangkok  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ