เมื่อรัฐบาลมีนโยบายต่าง ๆ เกิดขึ้นเพื่อให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ความต้องการด้านสินค้าอุปโภค บริโภคก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย รวมไปถึงการขับเคลื่อนของภาคอุตสาหกรรมและพลังงานของประเทศ
"อุตสาหกรรมเหมืองแร่" ถือเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานในการดำรงชีวิตของมนุษย์เช่นเดียวกัน และจัดเป็นวัตถุดิบสำคัญของอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่น ๆ จึงมีการขอสัมปทานเหมืองแร่จากผู้ประกอบการเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งการขอประทานบัตรนั้นก็มีขั้นตอนที่สำคัญเพราะต้องเริ่มตั้งแต่การศึกษาที่ตั้งและสภาพภูมิประเทศ ลักษณะทางธรณีวิทยา ปริมาณสำรองแหล่งแร่ทางธรณีวิทยา ศึกษาเส้นทางการขนส่งแร่ การวางแผน และการออกแบบการทำเหมือง รวมไปถึงการแต่งแร่ และการปฏิบัติตามมาตรการสิ่งแวดล้อมที่ต้องรัดกุม อีกทั้งต้องศึกษาลงรายละเอียดไปถึงความเหมาะสมทางเศรษฐกิจของแหล่งแร่อีกด้วยเพื่อให้เกิดความคุ้มค่าและยั่งยืนในการทำเหมืองแร่แต่ละโครงการ
กรณีที่มีการใช้น้ำในการทำเหมืองแร่ก็มีความสำคัญเพราะจะต้องระบุแหล่งที่มาของน้ำ ปริมาณการใช้น้ำ และการรักษาคุณภาพในพื้นที่โครงการ ไม่ว่าจะเป็นการระบายน้ำ ทิศทางการไหลของน้ำ การกักเก็บน้ำ การปรับปรุงคุณภาพก่อนการระบายออกสู่แหล่งสาธารณะ เป็นต้น
"ธรรมชาติทรายแก้ว" เพื่อเศรษฐกิจฐานรากถึงมหภาค
คุณวัลลภ การวิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธรรมชาติทรายแก้ว จำกัด ในฐานะที่เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายทรายแก้วคุณภาพดีให้กับลูกค้า กล่าวถึงขั้นตอนการขอสัมปทานเหมืองแร่ว่ามีขั้นตอนที่ยากขั้นแรกต้องทำประชาคมเพื่อให้คนในพื้นที่ให้ความเห็นชอบโครงการแม้นว่าพื้นที่แหล่งแร่ที่จะขอประทานบัตรเป็นพื้นที่กรรมสิทธิ์ก็ตาม ก่อนหน้านี้ตนได้ศึกษาทุกขั้นตอน เพราะมองถึงโอกาสระยะยาวในการนำเอาวัตถุดิบทรายแก้วมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศสู่สากล
"จากการศึกษาวัตถุดิบทรายแก้วพบว่าสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อเนื่องในหลายอุตสาหกรรมนับเป็นโอกาสและความท้าทายที่จะดำเนินธุรกิจเหมืองแร่เพื่ออุตสาหกรรมอนาคต ไม่ว่าจะเป็นสู่อุตสาหกรรมแก้วใส อุตสาหกรรมกระจกรถยนต์และกระจกอาคาร อุตสาหกรรมเซรามิก อุตสาหกรรมหล่อโลหะ และอุตสาหกรรมเคมี ซึ่งทุกส่วนของทรายแก้วนั้น สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ทั้งสิ้น"
ทางเหมืองแร่ธรรมชาติทรายแก้วไม่ได้มองเพียงในเรื่องของประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในภาคอุตสาหกรรมระดับมหภาคเท่านั้น แต่ยังมองไปถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับชุมชนระดับจุลภาคอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสร้างงาน การสร้างสังคม การสนับสนุนกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ต่างๆ ให้กับชุมชนและโรงเรียนใกล้เคียง รวมไปถึงการใส่ใจพนักงานภายในบริษัท และปลูกฝังเรื่องมาตรฐานต่าง ๆ ควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อมภายในเหมืองแร่ที่จะต้องไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชน
ใส่ใจทุกรายละเอียดของธุรกิจ
ด้านคุณยุพา ควรหา เจ้าหน้าที่ฝ่ายบัญชี บริษัท ธรรมชาติทรายแก้ว เล่าว่า ตนเป็นคนในพื้นที่ทำงานที่บริษัทฯ มา 24 ปี ได้เห็นในทุกช่วงเวลาของบริษัทตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน ที่ผ่านมาบริษัทให้การสนับสนุนและช่วยเหลือชุมชนรอบข้างในพื้นที่มาโดยตลอดทั้งวัด โรงเรียน โรงพยาบาล ผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น การให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนที่เรียนดี การจัดกองกฐิน ผ้าป่า บริจาคสิ่งของหรือเครื่องมือแพทย์ที่ยังขาดแคลน เป็นต้น บางกิจกรรมสำคัญต่างๆ บริษัทก็จะให้พนักงานไปร่วมด้วย
"ปกติธุรกิจเหมืองแร่จะมีการจัดตั้งกองทุนดูแลพื้นที่รอบเหมืองซึ่งเป็นข้อบังคับ โครงการของ กพร. เพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่โดยรอบ แต่ละปีชาวบ้านจะเสนอโครงการที่อยากพัฒนาเข้ามา ซึ่งก็ให้การสนับสนุนช่วยเหลือด้วยดีเสมอมาเช่น การทำถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก เปลี่ยนสายไฟฟ้า ก่อสร้างสะพาน ขุดลอกร่องน้ำ ซึ่งแต่ละปีจะมีโครงการแตกต่างกันไป เพื่อพัฒนาชุมชนโดยรอบ"
นอกจากนี่สิ่งที่เหลือจากกระบวนการผลิตโดยเฉพาะดินดำ ก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์แก่ชุมชนได้ เช่น ทำลานจอดรถให้กับโรงเรียน โดยเราจะขนดินไปแล้วก็ทำลานจอดรถให้ หรือชาวบ้านจะมีมาขอเพื่อเอาไปรองก้นหลุมเพื่อปลูกต้นไม้ก็สามารถขับรถมาขอรับได้เลย
เน้นทำธุรกิจ ให้อยู่ร่วมกับชุมชนอย่างยั่งยืน
คุณยุพา กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ทำงานมาที่นี่ไม่เคยมีข้อร้องเรียน การประท้วง หรือข้อพิพาทของบริษัทกับชุมชนโดยรอบ อาจด้วยพนักงานที่ทำงานที่นี่ส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่และอยู่ในชุมชน ถ้ามีข้อแนะนำก็จะมาบอกกล่าวกัน อาจมีบ้างในช่วงแรกที่เริ่มทำธุรกิจที่มีเรื่องเสียงแต่เราก็ได้มีการปรับปรุงทันที เพื่อให้อยู่ร่วมกับชุมชนได้ เช่น เรื่องสุขภาพ จะมีกองทุนเฝ้าระวังสุขภาพ โดยจะจัดให้มีการตรวจสุขภาพของชาวบ้านที่อยู่บริเวณใกล้เคียง ชุมชนที่อยู่ใกล้เหมืองจะมีแค่ หมู่ที่ 1 ตำบลชากพง อำเภอแกลง จำนวนคนมีไม่มากนักการดูแลจึงทั่วถึงทุกหลังคาเรือน
การได้มาของมาตรฐาน ISO 9001 : 2015 แล ISO 14001 : 2015
สิ่งสำคัญที่จะช่วยการันตีถึงความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม โดยคุณยุพากล่าวว่า การเริ่มที่จะขอมาตรฐาน ISO ทางบริษัทต้องเตรียมตัวเป็นปีกว่าจะให้เข้ามาตรวจรับรอง เริ่มตั้งแต่การจัดสถานที่ที่ต้องดูเรื่องฝุ่น เสียง อากาศ น้ำรอบพื้นที่การทำเหมือง การทำ 5ส ซึ่งเป็นพื้นฐานของการจะขอรับรองระบบมาตรฐาน การจัดเอกสารให้เป็นหมวดหมู่ ด้วยพนักงานที่นี่มีจำนวนน้อยประมาณ40คน เราต้องใช้ทรัพยากรที่มีจำนวนน้อยนี้
ให้ดีที่สุด แต่ทั้งหมดเรามีที่ปรึกษาที่จะให้คำแนะนำเข้ามาทุกเดือน เราแก้ไขและปรับแนวทางให้ตรงตามระบบมาตรฐานกำหนดมากที่สุด ซึ่งก็ทำแบบนี้เกือบปีจึงได้ให้บริษัทที่ให้การรับรองมาตรฐานเข้ามาตรวจ ซึ่งตรวจครั้งแรกก็ได้รับการรับรองระบบมาตรฐานสากล
"ข้อดีของที่นี่คือการที่คนไม่เยอะทำให้สามารถจัดการการทำงานให้เป็นระบบได้ง่าย ทุกคนทำงานเหมือนพี่เหมือนน้องจริงๆ มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเพราะเราอยู่กันมาตั้งแต่เริ่ม"