กทม. เร่งติดตั้งประปาหัวแดงในพื้นที่เสี่ยง - พัฒนาระบบบริหารจัดการงานควบคุมอาคารในกรุงเทพฯ

ข่าวทั่วไป Thursday July 18, 2024 17:40 —ThaiPR.net

กทม. เร่งติดตั้งประปาหัวแดงในพื้นที่เสี่ยง - พัฒนาระบบบริหารจัดการงานควบคุมอาคารในกรุงเทพฯ

นายสุริยชัย รวิวรรณ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) กทม. กล่าวถึงมาตรการรับมือสาธารณภัยในชุมชนเมืองเก่า หรือชุมชนดั้งเดิมว่า ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมีนโยบายสร้างความปลอดภัยในทุกมิติให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะการพัฒนาฐานข้อมูลดิจิทัล BKK Risk Map เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงต่าง ๆ สำหรับแผนที่จุดเสี่ยงอัคคีภัยในฐานข้อมูล ประกอบด้วย จุดเสี่ยงอัคคีภัย แผนที่ชุมชน 2,008 แห่ง สถานีดับเพลิงและกู้ภัย ประปาหัวแดง ชุมชนที่รถดับเพลิงเข้าไม่ถึง (ถนน หรือซอยแคบ) ถังดับเพลิงที่ติดตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และข้อมูลทรัพยากรบรรเทาทุกข์ เป็นต้น โดยปัจจุบันมีประปาหัวแดงในพื้นที่กรุงเทพฯ 24,693 จุด และในปีงบประมาณ 2567 ได้กำหนดจุดติดตั้งหัวแดงเพิ่มเติมในพื้นที่เสี่ยงก่อน 258 จุด แต่เนื่องจากมีปัญหาข้อบัญญัติ กทม. เรื่อง เงินอุดหนุนของ กทม. พ.ศ. 2560 ขณะนี้อยู่ระหว่างการแก้ไขปรับปรุงข้อบัญญัติดังกล่าว คาดว่า จะเสนอต่อสภา กทม. ได้ภายในเดือน ต.ค. 67 อย่างไรก็ตาม ได้ประสานการประปานครหลวง (กปน.) เพื่อขอให้เสนอคณะกรรมการและช่วยติดตั้ง จำนวน 44 จุด ตามลำดับความเสี่ยงให้ก่อน ส่วนที่เหลือจะดำเนินการหลังจากแก้ข้อบัญญัติฯ แล้วเสร็จ

สำหรับความคืบหน้าการจัดหาถังดับเพลิง ขณะนี้อยู่ระหว่างขออนุมัติแจกจ่ายให้กับชุมชนที่มีความเสี่ยง โดยในชุดแรกมี 9,204 ถัง และจะทยอยส่งมอบให้สำนักงานเขตที่แจ้งความต้องการมายัง สปภ. เพื่อจัดเตรียมทรัพยากรในการป้องกัน หรือบรรเทาสาธารณภัยต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับค่ามาตรฐานและกฎหมายที่กำหนด รวมถึงรองรับสถานการณ์หากเกิดเหตุสาธารณภัยฉุกเฉินและสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชน ทั้งนี้ ประชาชนที่ประสบเหตุเพลิงไหม้ หรือเหตุสาธารณภัยอื่น ๆ สามารถขอความช่วยเหลือผ่านสายด่วน 199 ตลอด 24 ชั่วโมง

นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม. กล่าวว่า ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มีกฎกระทรวงที่ออกตาม พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และข้อบัญญัติ กทม. เรื่องควบคุมอาคาร พ.ศ. 2544 ที่กำหนดให้อาคารแต่ละชนิด หรือแต่ละประเภทต้องมีวิธีการเกี่ยวกับการป้องกันอัคคีภัยและบรรเทาอัคคีภัยภายในอาคาร ตามหลักวิศวกรรม ซึ่งมีวิศวกรที่ได้รับใบประกอบวิชาชีพตาม พ.ร.บ. วิชาชีพวิศวกร พ.ศ.2542 เป็นผู้รับผิดชอบออกแบบและควบคุมการก่อสร้างอาคาร โดยจะควบคุม กำกับ ดูแลและตรวจสอบโดย สนย. และสำนักงานเขตพื้นที่ ปัจจุบัน สนย. อยู่ระหว่างจัดทำระบบบริหารจัดการงานควบคุมอาคารในพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นระบบสารสนเทศ ซึ่งรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ของอาคารในกรุงเทพฯ ในรูปแบบแผนที่ดิจิตอล สามารถสืบค้นที่ตั้งอาคาร แบบแปลนของอาคาร แบบแปลนงานระบบป้องกันอัคคีภัยในอาคาร ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้เข้าไปบรรเทาอัคคีภัยโดยสะดวก คาดว่า จะใช้งานระบบได้ภายในปี 2568

นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง (สวพ.) กทม. กล่าวว่า กทม. อยู่ระหว่างการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2556 ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อชี้นำการพัฒนาเมืองของกรุงเทพฯ และบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด เพื่อให้ประชาชนทุกคนมีความปลอดภัย (Public Safety) มีสุขอนามัย (Public Health) และมีสวัสดิภาพของสังคม (Public Welfare) รวมทั้งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติจากธรรมชาติและจากการกระทำของมนุษย์ โดยผ่านการควบคุมด้วยแผนผัง ข้อกำหนด และมาตรการทางด้านผังเมือง ซึ่งผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครมีการกำหนดแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินตามที่ได้จำแนกประเภท ซึ่งจะกำหนดให้กิจกรรมในบริเวณต่าง ๆ มีความเหมาะสมกับระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการ มีความสมดุลระหว่างจำนวนคนและความหนาแน่นของอาคารสิ่งปลูกสร้าง มีการห้ามกิจกรรมที่มีผลต่อสภาพแวดล้อมและความเดือดร้อนรำคาญ รวมถึงห้ามกิจกรรมที่มีผลต่อความปลอดภัยชุมชน เป็นต้น

นอกจากนั้น การพัฒนาอาคารสูง หรืออาคารขนาดใหญ่จะต้องมีความสัมพันธ์กับขนาดความกว้างของถนนและการให้บริการของระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน เพื่อรองรับปริมาณการจราจรของถนนสาธารณะที่เป็นที่ตั้งของกิจการการใช้ประโยชน์ที่ดินนั้น ๆ จึงได้กำหนดให้การใช้ประโยชน์ที่ดินให้สามารถกระทำได้ภายในระยะ ๕๐๐ เมตร จากสถานีรถไฟฟ้า หรือตั้งอยู่ติดถนนสาธารณะที่มีความกว้างไม่น้อยกว่า ๑๐ เมตร หรือ ๑๒ เมตร ๑๖ เมตร และ ๓๐ เมตร เพื่อประสิทธิภาพของการดับเพลิง ลดปัญหาการจราจร ที่อาจส่งผลกระทบต่อผู้อยู่อาศัยในอาคารและชุมชนดั้งเดิม ทั้งนี้ ชุมชนดั้งเดิมจะต้องจัดระเบียบภายในชุมชนไม่ให้รุกล้ำถนนสาธารณะ หรือมีสิ่งกีดขวางต่าง ๆ ที่จะทำให้เกิดปัญหาอุปสรรคในการทำงานของเจ้าหน้าที่กรณีที่เกิดปัญหาอัคคีภัยที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต


แท็ก ข้อมูล   map  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ