กทม. - สำนักงานประมงฯ เร่งแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ - พร้อมช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ

ข่าวทั่วไป Friday July 19, 2024 08:29 —ThaiPR.net

กทม. - สำนักงานประมงฯ เร่งแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ - พร้อมช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ

นายแสนยากร อุ่นมีศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม (สพส.) กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในพื้นที่กรุงเทพฯ และช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบว่า สพส. ได้ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในพื้นที่พบการระบาด 3 เขต ได้แก่ เขตบางขุนเทียน เขตทุ่งครุ และเขตบางบอน รวมทั้งพิจารณาแนวทางให้ความช่วยเหลือเยียวยาเบื้องต้นในด้านต่าง ๆ ให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่พบการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำจำนวนมาก ซี่งคณะทำงานแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้ทำหนังสือขอหารือกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และกรมบัญชีกลางเรื่องการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติว่า สามารถประกาศได้หรือไม่ หากประกาศได้เกษตรกรที่ได้รับความเสียหายและขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมประมง (กปม.) จะได้รับความช่วยเหลือจากเงินทดรองราชการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กรณีเกษตรกรที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับ กปม. จะได้รับความช่วยเหลือจากงบประมาณของ กทม. ตามระเบียบ กทม. ว่าด้วยการสงเคราะห์ผู้ประสบสาธารณภัย พ.ศ. ๒๕๓๗ และฉบับที่ ๕ พ.ศ. ๒๕๖๔ ซึ่งชณะนี้อยู่ระหว่างการหารือเรื่องการประกาศฯ

ขณะเดียวกันได้ประสานสำนักงานเขตและสำนักงานประมงพื้นที่กรุงเทพมหานครแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในพื้นที่กรุงเทพฯ โดย กษ. ได้มีประกาศ เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามเพาะเลี้ยงในราชอาณาจักร พ.ศ. 2564 และ กปม. เร่งแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ดังนี้ (1) ควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการระบาด และพัฒนาเครื่องมือประมงที่มีประสิทธิภาพในการกำจัดปลาหมอคางดำ (2) กำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยปล่อยปลาผู้ล่า เช่น ปลากะพงขาว ปลาอีกง (3) นำปลาหมอคางดำที่กำจัดออกจากระบบนิเวศไปใช้ประโยชน์ เช่น การแปรรูป (4) สำรวจและฝ้าระวังการแพร่กระจายปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติตามพื้นที่กันชนต่าง ๆ ลงพื้นที่สำรวจลำน้ำที่เชื่อมต่อกับพื้นที่ที่มีการระบาด เพื่อเฝ้าระวัง (5) ประชาสัมพันธ์สร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการกำจัดปลาหมอคางดำ เพื่อป้องกันและพร้อมรับมือการแพร่ระบาด และ (6) ติดตามประเมินผลและนำผลงานวิจัยและเทคโนโลยีมาแก้ปัญหา เช่น การผลิตปลาหมัน เพื่อปล่อยลงสู่แหล่งน้ำให้ไปผลมพันธุ์กับปลาหมอคางดำในธรรมชาติ เพื่อให้เป็นหมันไม่สามารถแพร่พันธุ์ต่อได้ในระยะยาว

นอกจากนั้น กษ. ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในพื้นที่กรุงเทพฯ ประกอบด้วย รองอธิบดีกรมประมง เป็นประธานคณะทำงาน หัวหน้าหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในพื้นที่กรุงเทพฯ ผู้อำนวยการเขตบางขุนเทียน ผู้อำนวยการแขตทุ่งครุ ประธานสภาเกษตรกร กทม. ผู้แทนสภาทนายความจังหวัดธนบุรี ผู้แทนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตัวแทนภาคการประมงพื้นที่กรุงเทพมหานคร และประมงพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยในส่วนของ กทม. ได้จัดประชุมคณะกรรมการพัฒนาท้องถิ่นการเกษตรพระนครและธนบุรี เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 67 มีคณะกรรมการฯ อาทิ ผู้แทนสำนักการระบายน้ำ เกษตรกรุงเทพมหานคร ประมงพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปศุสัตว์พื้นที่กรุงเทพมหานคร สถานีพัฒนาที่ดินกรุงเทพมหานคร โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตใต้ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชลหารพิจิตร สำนักงานเกษตรพื้นที่ 1-4 สำนักงานสภาเกษตรกรกรุงเทพมหานคร สำนักงานเขต 26 เขตชั้นนอก ซึ่งได้เน้นย้ำให้ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนเกษตรกรเฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์ เพื่อเตรียมป้องกันการระบาดชองปลาหมอคางดำในพื้นที่กรุงเทพฯ รวมทั้งให้เจ้าหน้าที่ออกตรวจเยี่ยมและให้คำแนะนำแก่เกษตรกร ตลอดจนให้โรงเรียนฝึกอาชีพ กทม. ลงพื้นที่เขตบางขุนเทียน เขตบางบอน และเขตทุ่งครุ เพื่อให้ความรู้เรื่องการแปรรูปปลาหมอคางดำ เช่น ปั้นสิบไส้ปลา ปลาแดดเดียว เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ