สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ระดมกลุ่มผู้บริหารหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย และผู้แทนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนกว่า 130 คน ร่วมนำเสนอความคิดเห็น การประชุมเชิงปฏิบัติการ การจัดทำแผนด้านการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Science and Technology Development Plan; ST) พ.ศ. 2568 - 2570 เพื่อนำไปสู่การกำหนดทิศทางในอนาคตและสร้างเป้าหมายร่วมกันในการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โอกาสและช่องว่างการลงทุนและการพัฒนาในมิติโครงสร้างพื้นฐาน มาตรฐานการผลิตและการพัฒนากำลังคน รวมถึงแนวทางและกลไกในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ได้อย่างครบถ้วนและมีประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งนี้ในที่ประชุม ได้มีการแบ่งกลุ่มระดมสมองจัดทำแผนด้านการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (S&T Plan) ใน 6 ประเด็นหลัก คือ 1. กลุ่มเทคโนโลยี Future Frontiers 2. Energy & Zero Carbon 3. Digital and Computing 4. Sensor and Electronics 5. Food and Agriculture และ 6. Biotech & Synbio
รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า เพื่อให้ สกสว. มีข้อมูลประกอบการจัดทำแผนที่นำทางในการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ ผ่านการจัดสรรงบประมาณของกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ กองทุน ววน. ทั้งในระยะสั้นช่วงปี พ.ศ.2568-2570 และระยะยาวช่วงปี พ.ศ.2568-2575 เนื่องจากการดำเนินการในช่วงปีงบประมาณ 2568 ที่ผ่านมา กองทุน ววน. ได้เริ่มมีการจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนโครงการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Science and Technology Development Fund : ST) ให้แก่หน่วยงานในระบบ ววน. อย่างเต็มรูปแบบ โดยสนับสนุนตามจุดมุ่งเน้นของการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตามที่คณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ กสว. กำหนด และใช้กลไกของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในการพิจารณากลั่นกรองคำของบประมาณโครงการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
"การประชุมครั้งนี้ สกสว. จะนำความคิดเห็นของทุกท่านไปใช้ออกแบบแผนการทำงานในเชิงนโยบายให้ชัดมากขึ้น เช่น นโยบายส่งเสริมการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์ในวงกว้าง โดยเชื่อมต่อให้เกิดประโยชน์กับภาคการผลิต ความร่วมมือด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานกับต่างประเทศ เน้นการจัดทำแผนระยะสั้นช่วงปี พ.ศ.2568-2570 พร้อมทั้งขอขอบคุณทุกท่านที่ให้เกียรติมาร่วมจัดกระบวนการกลุ่มย่อยครั้งนี้ ที่จะช่วยให้แผนนี้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและสามารถตอบโจทย์เป้าหมายของประเทศได้อย่างครบถ้วน" รศ. ดร.ปัทมาวดี กล่าวทิ้งท้าย
พร้อมกันนี้ รศ. ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการ วท. กล่าวว่า โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ต้องยกระดับให้เกิดการใช้ประโยชน์ในระดับ National Facility ให้ได้ ไม่จำกัดเฉพาะภายในหน่วยงานอย่างเดียว ต้องสร้างความสามารถในการแข่งขันโดยร่วมมือกับภาคีเครือข่ายนานาชาติ โดยเฉพาะงานด้านการวิจัยขั้นแนวหน้า เช่น ควอนตัมเทคโนโลยี ฟิสิกส์ขั้นสูง และประเด็นสำคัญที่เป็นช่องว่างที่ใหญ่มากคือ ต้องเชื่อมโยงให้เกิดความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมเปลี่ยนงานวิจัยระดับ Pilot plant สู่การใช้จริงในภาคอุตสาหกรรม โดยมองว่า สกสว. จะต้องทบทวนรูปแบบการบริหารจัดการทุนให้เหมาะสมและออกแบบให้เอื้อต่อการจัดสรรงบประมาณเพื่อให้เกิดการลงทุนและใช้ประโยชน์ในวงกว้างต่อไป
ทางด้าน ดร.ณิรวัฒน์ ธรรมจักร์ รองผู้อำนวยการ สกสว. ให้ข้อมูลภาพรวมและพัฒนาการของแผน ST ระบุว่า งบประมาณเพื่อสนับสนุน ST มี 7 จุดมุ่งเน้นตามมติของ กสว. ซึ่งได้เปิดรับคำขอในปีงบประมาณ 2568 ประกอบด้วย 1. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเทคโนโลยีสารสนเทศ 2. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคุณภาพของประเทศ 3. การพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศสำหรับพัฒนาอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ในประเทศ รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีฐาน 4. การพัฒนาขีดความสามารถในการรับและถ่ายทอดเทคโนโลยี สำหรับการพัฒนาประเทศ รวมถึงการร่วมมือกับบุคคลหรือหน่วยงานในต่างประเทศ 5. การพัฒนาบุคลากรที่มีความสามารถพิเศษ ความเชี่ยวชาญ ทักษะและสมรรถนะสูงทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 6. การยกระดับการให้บริการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของหน่วยงานซึ่งมีหน้าที่ในการให้บริการ และ 7. การยกระดับความสามารถในการผลิตและการบริการด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หลังจากที่ได้ 7 จุดมุ่งเน้นข้างต้นนี้ ทาง สกสว. ได้มีทีมนักวิจัยดำเนินการค้นคว้าและวิเคราะห์ข้อมูล นำมาสู่การประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ ที่จะเป็นการเปิดรับฟังความต้องการ ปัญหาและช่องว่าง เพื่อป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้นในรอบปีงบประมาณ 2568 โดยเฉพาะการจัดลำดับความสำคัญ เพื่อใช้ในการพิจารณาจัดสรรงบประมาณที่มีอย่างจำกัดได้ตรงจุดและคุ้มค่า เกิดประโยชน์ต่อประเทศสูงสุด
โดยในที่ประชุม ได้มีการแบ่งกลุ่มระดมสมองจัดทำแผนด้านการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (S&T Plan) พ.ศ. 2568 - 2570 เป็น 6 ประเด็นหลัก ดังนี้ 1. กลุ่มเทคโนโลยี Future Frontiers 2. Energy & Zero Carbon 3. Digital and Computing 4. Sensor and Electronics 5. Food and Agriculture และ 6. Biotech & Synbio เพื่อนำข้อมูลที่ได้นี้ไปประกอบการออกแบบแผนการทำงานเชิงนโยบายสำหรับจัดทำแผนพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สอดคล้องกับแผนด้าน ววน. ของประเทศต่อไป
ทั้งนี้ การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี คือการดำเนินกิจการที่เป็นการเพิ่มพูนความรู้และความสามารถทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม เพื่อยกระดับความสามารถในการผลิตและการบริการ ความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ และความเป็นอยู่ของสังคม รวมถึงการพัฒนาบุคลากรและโครงสร้างพื้นฐาน และการพัฒนาขีดความสามารถในการรับและถ่ายทอดเทคโนโลยีทั้งภายในและจากต่างประเทศเพื่อการพัฒนาประเทศในทุกด้าน