นายแสนยากร อุ่นมีศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม (สพส.) กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่พบการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำว่า สพส. ได้ประสานความร่วมมือกรมประมง (กปม.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาตั้งจุดรับซื้อปลาหมอคางดำในพื้นที่กรุงเทพฯ ขณะเดียวกันได้บูรณาการความร่วมมือขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ พ.ศ. 2567 - 2568 ในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำตามแนวทางของ กปม. อย่างใกล้ชิด รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนและเกษตรกรรู้จักปลาหมอคางดำ ช่วยกันป้องกัน กำจัด ห้ามจับมาเลี้ยง พร้อมเชิญชวนประชาชนและเกษตรกรร่วมสำรวจ เฝ้าระวัง หากพบปลาหมอคางดำขอให้แจ้งตำแหน่งพิกัดที่พบ โดยสามารถแจ้งผ่านการสแกน QR Code ตามที่ กปม. ประชาสัมพันธ์ และขอให้ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำควบคุมการเล็ดลอดของปลาหมอคางดำไม่ให้เข้ามาในพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างเด็ดขาด
นอกจากนี้ ในการประชุมคณะกรรมการอำนวยการความร่วมมือการทำงาน กทม. และจังหวัดปริมณฑล ครั้งที่ 2/2567 เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 67 ณ ศาลากลางจังหวัดสมุทรปราการ สพส. ได้ขอความร่วมมือทุกจังหวัดปริมณฑล สำรวจ และเฝ้าระวังการแพร่กระจายปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติตามพื้นที่กันชนต่าง ๆ ลำน้ำที่เชื่อมต่อกับพื้นที่ที่มีการระบาด ซึ่งได้รับทราบว่า ในจังหวัดปริมณฑลยังพบการระบาดในพื้นที่น้อยมากและไม่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำและระบบนิเวศ อย่างไรก็ตาม ได้ขอความร่วมมือทุกจังหวัดปริมณฑลประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจให้กับประชาชนและเกษตรกร
ทั้งนี้ สพส. สำนักงานเขตบางขุนเทียน และประมงพื้นที่กรุงเทพฯ สำนักงานประมงพื้นที่กรุงเทพฯ จะประชุมหารือร่วมกันภายในสัปดาห์หน้า เพื่อหารือแนวทางแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำและการจัดกิจกรรมรณรงค์กำจัดปลาหมอคางดำ เพื่อกำหนดจัดกิจกรรมลงแขก ลงคลองในพื้นที่เขตบางขุนเทียน ซึ่งจะต้องรอความชัดเจนนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่จะรับซื้อปลาหมอคางดำ กิโลกรัมละ 15 บาท รวมถึงหารือเรื่องการกำหนดจุดรับซื้อและหาผู้ประกอบการรับซื้อปลาหมอคางดำไปใช้ประโยชน์ เช่น ประกอบอาหาร แปรรูป ทำปุ๋ย โรงงานปลาป่น ตลอดจนแนวทางการกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยการปล่อยปลาผู้ล่า และในระยะต่อไปหากการระบาดยังไม่ลดลง สพส. จะได้ขอจัดสรรงบประมาณจัดซื้อพันธุ์ปลาผู้ล่า เช่น ปลากะพงขาว หรือปลาชนิดอื่น ๆ ที่เหมาะสม เพื่อกำจัดลูกปลาหมอคางดำวัยอ่อน ตัดวงจรการแพร่พันธุ์ ส่วนแผนการปล่อยปลากะพง 1 แสนตัว 10 จุด จุดละ 1 หมื่นตัว อยู่ระหว่างกรมประมงรองบประมาณกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำหรับการให้ความช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ หากกรมป้องกันละบรรเทาสาธารณภัยสามารถประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติ) เกษตรกรที่ได้รับความเสียหายและได้ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมประมง จะได้รับความช่วยเหลือจากเงินทดรองราชการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่หากเกษตรกรไม่ได้ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมประมงจะได้รับความช่วยเหลือจากงบประมาณของ กทม. ตามระเบียบ กทม. ว่าด้วยการสงเคราะห์ผู้ประสบสาธารณภัย พ.ศ. ๒๕๓๗ และฉบับที่ ๕ พ.ศ. ๒๕๖๔ ซึ่ง กปม. ได้มีหนังสือขอหารือกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและกรมบัญชีกลางในประเด็นแนวทางการให้ความช่วยเหลือฯ จะถือว่า เป็นภัยพิบัติหรือไม่ และอยู่ระหว่างรอหนังสือตอบกลับ