บีโอไอ มั่นใจลงทุนไทย-สิงคโปร์พุ่ง หลังประชุมจับคู่เจรจาธุรกิจส่งผลเอกชนเซ็น MOU 7 ฉบับ

ข่าวทั่วไป Wednesday November 23, 2005 15:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 พ.ย.--บีโอไอ
บีโอไอ เผยผลการประชุมสัมมนาจับคู่เจรจาธุรกิจระหว่างสิงคโปร์-ไทย ประสบความสำเร็จเกินคาด ภาคเอกชนสองประเทศร่วมลงนาม 7 ฉบับ ทั้งด้าน โลจิสติกส์และการขนส่ง อสังหาริมทรัพย์ เหมืองแร่ และโรงแรม
นายสาธิต ศิริรังคมานนท์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) กล่าวถึง ผลการสัมมนาจับคู่เจรจาธุรกิจระหว่างสิงคโปร์-ไทย ซึ่งจัดขึ้นระหว่างการประชุมเพื่อขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจสิงคโปร์—ไทย (Singapore-Thailand Enhanced Economic Relationship-STEER) ครั้งที่ 2 ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นในวันที่ 22-23 พฤศจิกายน 2548 ณ โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ ว่า ในการประชุมดังกล่าว มีนักธุรกิจจากบริษัทชั้นนำ ทั้งไทยและสิงคโปร์เข้าร่วมการสัมมนาจับคู่เจรจาธุรกิจการค้าการลงทุนระหว่างกัน ประมาณ 280 ราย ใน 7 สาขา คือ ไอที ซอฟต์แวร์ อิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์ยานยนต์ ขนส่งและโลจิสติกส์ อสังหาริมทรัพย์ และการเงิน
ภายหลังการเจรจาธุรกิจ มีบริษัทเอกชนของทั้งสองประเทศได้บรรลุข้อตกลงในการลงนามทำธุรกิจร่วมกัน 7 ฉบับ ดังนี้ บริษัท Sembawang Kimtrans กับ บริษัท บ้านปู มหาชน จำกัด เพื่อจัดหาและขนส่งถ่านหินป้อนโรงงานของบ้านปูที่ประเทศอินโดนีเซีย , บริษัท Richland Group กับ บริษัท Thai Airport Ground Service เพื่อร่วมลงทุนด้านโลจิสติกส์ , บริษัท EU YAN SANG International กับ
บริษัท โอเรียนตัล พารากอน เพื่อดำเนินธุรกิจการกระจายสินค้าอาหาร , บริษัท กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(กบข) กับ กลุ่มบริษัท L.C. Hotel เพื่อร่วมลงทุนก่อสร้างรีสอร์ต ในจ.ภูเก็ต บริษัท International Enterprise Singapore กับ สมาคมผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย เพื่อร่วมมือขยายเครือข่ายซัพพลายเชนในไทย , บริษัท อมตะคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท TEE
International เพื่อร่วมก่อสร้างบ้านพักคนงาน และบริษัท อมตะคอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน)กับ บริษัท Singapore Ascendas เพื่อร่วมจัดตั้งอุทยานวิทยาศาสตร์ที่อีสเทิรน์ซีบอร์ด
นายสาธิต กล่าวด้วยว่า นอกจากการลงนามดังกล่าวแล้ว ยังมีแนวโน้มที่จะเกิดการเชื่อมโยงธุรกิจระหว่างกันในอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ประเทศไทยมีศักยภาพสูง เช่น ไอที ซอฟต์แวร์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ เกษตรแปรรูปและอุตสาหกรรมพื้นฐาน ทั้งนี้ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา(พ.ศ.2543-2548) มีโครงการของสิงคโปร์ที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอจำนวน 339 โครงการมูลค่าการลงทุน รวม 78,360 ล้านบาท โดยปัจจุบันสิงคโปร์มีการลงทุนในไทยสูงสุดในกลุ่มประเทศอาเซียน และเป็นอันดับ 4 รองจากญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ซึ่งการลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนยานยนต์--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ