รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี พร้อมคณะผู้บริหาร ดีป้า ลงพื้นที่ตรวจติดตามกิจกรรมภายใต้โครงการตามแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของกระทรวง เผยเตรียมหารือแนวทางการจัดตั้งกองทุนเพื่อการส่งเสริมดิจิทัลสตาร์ทอัพไทย และการจัดตั้งเขตส่งเสริมดิจิทัลในพื้นที่เป้าหมายเพื่อเป็นกลไกสำคัญในการกระตุ้นให้เกิดดิจิทัลสตาร์ทอัพรายใหม่ พร้อมช่วยให้สตาร์ทอัพรายเดิมดำเนินธุรกิจต่อไปได้ คาดเป็นอีกหนึ่งแนวทางแก้ไขปัญหาการขาดแคลนดิจิทัลสตาร์ทอัพในแต่ละพื้นที่ของประเทศ
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กระทรวงดีอี) พร้อมคณะลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เพื่อตรวจติดตามกิจกรรมสำคัญภายใต้โครงการต่าง ๆ ตามแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของกระทรวง หรือ The Growth Engine of Thailand ใน 3 ด้านที่ดำเนินการโดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า ในเขตพื้นที่ภาคใต้ โดยมี ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ พร้อมด้วย ดร.ชินาวุธ ชินะประยูร ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ ดร.วาริน รัชนานุสรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมวิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้น ดร.สักกเวท ยอแสง ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัล นายจุลนภ ศานติพงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมและธุรกิจ ดร.จักกนิตต์ คณานุรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการพัฒนากำลังคนดิจิทัล และ นายประชา อัศวธีระ อำนวยการเขตพื้นที่ภาคใต้ รวมถึงผู้แทนพนักงาน ดีป้า ให้การต้อนรับ
โดย นายประเสริฐ พร้อมคณะได้ร่วมพูดคุยกับผู้ประกอบการรุ่นใหม่และดิจิทัลสตาร์ทอัพในกลุ่มเทคโนโลยีเพื่อการท่องเที่ยวและการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Travel Tech & Smart City) ในกิจกรรม 'Ignite Andaman Digital Hub' กิจกรรมภายใต้โครงการ DIGINEXT by SEED THAILAND โครงการสำคัญที่มุ่งเพาะเมล็ดพันธุ์คนดิจิทัลรุ่นใหม่ใน 3 กลุ่ม ได้แก่ YOUTH, FUTURE CAREER และ DIGI-PRENEUR สู่การเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศในอนาคต พร้อมรับฟังแนวคิด แลกเปลี่ยนมุมมอง รับทราบปัญหา อุปสรรค และเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาในภาคการท่องเที่ยวและการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในพื้นที่
"จากนี้ กระทรวงดีอี และ ดีป้า จะร่วมหารือแนวทางการจัดตั้งกองทุนเพื่อการส่งเสริมดิจิทัลสตาร์ทอัพไทย และการจัดตั้งเขตส่งเสริมดิจิทัลในพื้นที่เป้าหมาย ซึ่งกองทุนดังกล่าวจะเป็นกลไกสำคัญในการสร้างแรงจูงใจให้เกิดดิจิทัลสตาร์ทอัพรายใหม่ พร้อมช่วยให้ดิจิทัลสตาร์ทอัพรายเดิมสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยเบื้องต้นจะต้องมีการกำหนดแนวทางการจัดตั้งเขตส่งเสริมดิจิทัลในพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่ง กระทรวงดีอี และ ดีป้า มุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่า กองทุนเพื่อการส่งเสริมดิจิทัลจะเป็นอีกหนึ่งแนวทางแก้ไขปัญหาการขาดแคลนดิจิทัลสตาร์ทอัพแต่ละพื้นที่ของประเทศ ซึ่ง กระทรวงดีอี และ ดีป้า รวมถึงหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องจะเร่งหารือในรายละเอียดเพื่อขับเคลื่อนให้กลไกส่งเสริมดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี กล่าว
จากนั้น นายประเสริฐ ได้เยี่ยมชมและให้กำลังใจน้อง ๆ นักเรียนและครูที่เข้าร่วมกิจกรรม 'Coding Bootcamp & Roadshow' และกิจกรรม 'Coding War' พื้นที่ภาคใต้ตอนบน กิจกรรมภายใต้โครงการ Coding for Better Life สร้างรากฐานอนาคตประเทศไทย ดำเนินการ 8 ภูมิภาคทั่วประเทศ ซึ่งโครงการดังกล่าวมุ่งส่งเสริมการสร้างระบบนิเวศดิจิทัลที่พร้อมรองรับการพัฒนาทักษะโค้ดดิ้งผ่านการยกระดับห้องเรียนโค้ดดิ้ง 1,500 โรงเรียนทั่วประเทศ โดยพื้นที่ภาคใต้ตอนบนมีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการ 49 โรงเรียน นอกจากนี้ ยังมีการจัดทำหลักสูตรโค้ดดิ้ง พร้อมเสริมทักษะการสอนแก่ครูที่จะเป็นโค้ดดิ้งโค้ช 3,000 คนให้มีเทคนิคพร้อมถ่ายทอดความรู้แก่นักเรียน 300,000 คนต่อปี การเสริมทักษะโค้ดดิ้งเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลแก่ครูผู้สอนและนักเรียนผ่านกิจกรรม Coding Bootcamp และ Coding War และการสร้างความตระหนักด้านโค้ดดิ้งและการประยุกต์ใช้จริงแก่ผู้ปกครองและประชาชนทั่วไปผ่านกิจกรรม Coding Roadshow รวมถึงการพัฒนาหลักสูตรการเรียนโค้ดดิ้งที่เผยแพร่ผ่านระบบการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม
ผศ.ดร.ณัฐพล รายงานว่า ปัจจุบันมีการส่งมอบอุปกรณ์การเรียนรู้ด้านโค้ดดิ้งแก่โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 800 โรงเรียน และคาดว่าจะส่งมอบครบ 1,500 โรงเรียนภายในเดือนสิงหาคม พร้อมกันนี้มีครูและนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรม Coding Bootcamp มากกว่า 2,400 คน ขณะที่ Coding Roadshow มีประชาชนให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 10,000 คน ซึ่งจังหวัดภูเก็ตนับเป็นพื้นที่ที่ 6 สำหรับการดำเนินกิจกรรม ซึ่งกิจกรรมครั้งต่อไปจะจัดขึ้นในโครงการ Thailand Digital Valley อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี และโรงแรม Arize Hotel Sri Racha ระหว่างวันที่ 15 - 16 สิงหาคม ขณะที่ Coding War จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 15 - 17 สิงหาคม ส่วนกิจกรรมครั้งสุดท้ายจะเกิดขึ้นที่จังหวัดสงขลา
นอกจากนี้ นายประเสริฐ ยังได้พบปะพูดคุยกับผู้ประกอบการท้องถิ่นที่และอินฟลูเอนเซอร์ในกิจกรรม 'Digital Content-Driven E-Commerce Workshop: การอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อเพิ่มยอดขายด้วยดิจิทัล คอนเทนต์' ภายใต้โครงการ CONNEXION โครงการส่งเสริมการยกระดับองค์ความรู้และชุดทักษะใหม่ด้านดิจิทัลแก่ผู้ประกอบการธุรกิจชุมชนที่จำหน่ายสินค้าและให้บริการภายในจังหวัดและพื้นที่ภาคใต้ฝั่งอันดามัน เพื่อสร้างยอดขายบนแพลตฟอร์ม E-Commerce อย่างมีประสิทธิภาพผ่านการอบรมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อต่าง ๆ อาทิ เทคนิคการถ่ายภาพสินค้า การสร้าง Storytelling การ Live ขายสินค้า การเปิดร้านค้าใน Social Commerce อย่าง TikTok และ Facebook รวมถึงการนำข้อมูลการค้าออนไลน์จาก e-Marketplace ชั้นนำของไทยจากแพลตฟอร์ม eTailligence มาประยุกต์ใช้วางแผนและประกอบการตัดสินใจด้านการตลาด ทั้งหมดเพื่อผลักดันสินค้าและบริการท้องถิ่นสู่โลกออนไลน์ สร้าง Digital Content Creator และ Micro Influencer หน้าใหม่ให้กับท้องถิ่น และรองรับภาคการท่องเที่ยวในอนาคต
สุดท้าย นายประเสริฐ พร้อมคณะได้ร่วมพูดคุยกับพ่อค้าแม่ขาย ผู้บริหารตลาด และดิจิทัลสตาร์ทอัพ ณ ตลาดชิลล์วา 2 ในกิจกรรม 'ตลาดต้นแบบต่อยอดสู่ความยั่งยืน' ภายใต้โครงการ Transform ตลาดสดยุควิถีใหม่ (ขยายผล) ซึ่งได้ดำเนินการส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลจากดิจิทัลสตาร์ทอัพและผู้ให้บริการดิจิทัลแก่ผู้ประกอบการตลาด ผู้ประกอบรายย่อย พ่อค้าแม่ค้า หาบเร่ แผงลอย ดำเนินการใน 75 ตลาดทั่วประเทศ รวมกว่า 100,000 แผงค้า โดยตลาดชิลล์วา 2 เลือกใช้เทคโนโลยีเดลิเวอรีจาก บริษัท พราวด์ เทคโนโลยี คอร์ป จำกัด ผู้พัฒนาระบบเดลิเวอรีในชื่อ Proud ที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ซื้อและผู้ขาย โดยฝั่งผู้ซื้อสามารถกดสั่งสินค้าจากทุกร้านในตลาดได้ครบจบในบิลเดียว ขณะที่ผู้ขายหรือกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าในตลาดสามารถยกระดับการบริหารจัดการธุรกิจ เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย และสร้างช่องทางการเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น
"การลงพื้นที่ติดตามโครงการต่าง ๆ ที่ดำเนินการโดย ดีป้า ในครั้งนี้ล้วนเป็นการทำงานตามแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของกระทรวง หรือ The Growth Engine of Thailand ทั้งด้านการเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลในการสร้างข้อได้เปรียบในการแข่งขันของประเทศ การสร้างความมั่นคงและปลอดภัยของเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล รวมถึงการเพิ่มศักยภาพทุนมนุษย์ของประเทศด้านดิจิทัล รองรับการทำธุรกิจของ SMEs ผู้ประกอบการรายย่อย พ่อค้าแม่ค้า ส่งเสริมดิจิทัลสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ พร้อมพัฒนาพื้นที่สู่การเป็นเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ ดึงดูดกลุ่ม Digital Nomad ควบคู่ไปกับการส่งเสริมภาคการท่องเที่ยวในจังหวัด รวมถึงพื้นที่ภาคใต้ฝั่งอันดามัน พร้อมกันนี้ยังมีการส่งเสริมการพัฒนาความรู้และทักษะโค้ดดิ้ง ทักษะดิจิทัลที่สำคัญแห่งอนาคตแก่นักเรียนและครูผู้สอนเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการยกระดับเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศในระยะต่อไป" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี กล่าว