ม.มหิดลแนะออกกำลังกายแบบแอโรบิก'ต่อลมหายใจและชีวิต'ผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน

ข่าวทั่วไป Thursday July 25, 2024 08:10 —ThaiPR.net

ม.มหิดลแนะออกกำลังกายแบบแอโรบิก'ต่อลมหายใจและชีวิต'ผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน

ในทางอารมณ์และจิตใจ "สารโดปามีน" จัดเป็น "สารแห่งความสุข" แต่ในทางร่างกายและการเคลื่อนไหว ระดับ "สารโดปามีน" ที่ลดลงอาจหมายถึง "ความเสี่ยง" ต่อการเกิด "โรคพาร์กินสัน"

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. กภ.เฟื่องฟ้า ขอบคุณ อาจารย์ประจำกลุ่มสาขาวิชากายภาพบำบัด คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงอาการสำคัญของ "โรคพาร์กินสัน" คือ "การเคลื่อนไหวที่ช้าลง" ซึ่งมีสาเหตุหลักจากการเสื่อมของเซลล์สมองที่ทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหว ทำให้จากผู้ที่เคยมีการเคลื่อนไหวที่ปกติ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ต้องประสบกับการเคลื่อนไหวช้า ร่วมกับอาการสั่นขณะพัก อาการแข็งเกร็ง ปัญหาการทรงตัว และการเดินที่ผิดปกติโดยไม่รู้ตัว

เดิมพบว่า "โรคพาร์กินสัน" เกิดจากการเสื่อมของเซลล์ในเบซัลแกงเกลีย (Basal Ganglia) ที่สร้างสาร "โดปามีน" ทำให้เกิดการ "ขาดสมดุล" ของวงจรประสาทที่เป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้น และยับยั้งการเคลื่อนไหวของร่างกาย แต่ปัจจุบันมีการค้นพบเพิ่มเติมว่า "ความเสื่อมของระบบประสาทอัตโนมัติส่วนปลายที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของลำไส้" ซึ่งทำให้เกิด "อาการท้องผูก" อาจเป็นหนึ่งในสัญญาณเตือนถึงอาการเริ่มต้นของ "โรคพาร์กินสัน"

"โรคพาร์กินสัน" มีอาการแสดงที่แตกต่างกันไปตามระดับความรุนแรงของโรค ซึ่งการพิจารณาให้การรักษา และกายบำบัดด้วย "การออกกำลังกาย" อาจมีข้อจำกัดหากเกิดอาการโรคร่วมอื่น เช่น "ความดันโลหิตสูง" และ "โรคหัวใจ"

โดยการออกกำลังกายนอกจากจะมีส่วนช่วยให้สมองหลั่ง "สารโดปามีน" ให้จิตใจเป็นสุข และเกิดสมดุลของวงจรประสาทแล้ว หากเป็น "การออกกำลังกายแบบแอโรบิก" จะดีต่อทั้งหัวใจ และเสริมสมรรถภาพร่างกายของผู้ป่วยให้มีการเคลื่อนไหวที่สมดุลมากขึ้น

จากการศึกษาพบว่า การฝึกเดินร่วมกับการใช้สื่อนำ (cue) หรืออุปกรณ์ การฝึกเคลื่อนไหวลมปราณแบบจีน รวมทั้งการฝึกเคลื่อนไหวตามจังหวะเพลง สามารถช่วยฟื้นฟูผู้ป่วยโรคพาร์กินสันที่มีอาการแรกเริ่ม ก่อนเกิดอาการรุนแรงได้

ด้วยประสบการณ์ตรงทางคลินิกของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. กภ.เฟื่องฟ้า ขอบคุณ ได้นำไปสู่การค้นพบว่า การออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยโรคพาร์กินสันแบบแอโรบิก ด้วยการเดินบนลู่วิ่งไฟฟ้า หากควบคู่กับการเดินบนพื้นราบ จะทำให้การเดินของผู้ป่วยมีความเป็นธรรมชาติ มากกว่าการให้ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันฝึกเดินด้วยลู่วิ่งไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว

ซึ่งการเดินแบบธรรมดา เป็นการออกกำลังกายแบบแอโรบิกที่ใช้เพียงรองเท้าและเสื้อผ้าแบบสบายๆ โดยสามารถทำได้ทั้งในร่ม และกลางแจ้ง ทั้งนี้การเดินแม้เป็นวิธีการที่ง่าย และประหยัด แต่อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการล้มในกลุ่มผู้ป่วยโรคพาร์กินสันระดับความรุนแรงปานกลาง หรือค่อนข้างมาก

เมื่อเทียบกับ "ธาราบำบัด" ที่แม้มีข้อดีตรงที่ใช้ "น้ำ" ช่วยพยุงข้อต่อ และ "ลดแรงกระแทกขณะเคลื่อนไหว" แต่ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญช่วยดูแล ทำให้มีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า เสี่ยงต่อการลื่นล้มระหว่างการขึ้นลงสระ สำลักน้ำระหว่างฝึก หรือติดเชื้อที่ผิวหนังหากเป็นแผล

อย่างไรก็ดี Parkinson Foundation แห่งสหราชอาณาจักร ร่วมกับ The American College of Sports and Medicine ได้แนะนำการออกกำลังกายแบบแอโรบิกสำหรับผู้ป่วยโรคพาร์กินสันว่า ควรทำอย่างต่อเนื่องรวม 150 นาทีต่อสัปดาห์ จากการออกกำลังกายวันละ 30 - 60 นาที จำนวน 3 - 5 วันต่อสัปดาห์ นอกจากนี้ควรฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ การทรงตัว ความคล่องตัว ฝึกกิจกรรมต่างๆ และยึดกล้ามเนื้อร่วมด้วย

ตัวอย่างการออกกำลังกายผู้ป่วยสูงวัยโรคพาร์กินสัน ระยะต้น - ปานกลาง ซึ่งเข้ารับการบำบัดด้วยปัญหาการเดินที่ไม่คล่องตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องหมุนหรือเปลี่ยนทิศทาง จากการให้ผู้ป่วยได้ฝึกการเคลื่อนไหว การทรงตัว การเดิน ตลอดจนเพิ่มความแข็งแรง - ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ต่อเนื่อง 4 - 8 สัปดาห์ พบว่าผู้ป่วยมีพัฒนาการที่ดีขึ้น คุณภาพการเดินที่ดีขึ้น การหมุนตัวและก้าวเดินเป็นธรรมชาติมากขึ้น จนลดความถี่ในการเข้ารับการทำกายภาพบำบัด และได้ใช้เวลาในการทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัวในวันหยุดได้อย่างมีความสุขมากขึ้น

เคล็ดลับการฝึกที่น่าสนใจ อาทิ การเพิ่มความก้าวหน้าของการฝึกทรงตัว ผ่านการจินตนาการทำท่าคล้ายปาลูกบอลข้างหน้า เพื่อสร้างความเพลิดเพลินระหว่างการฝึกจังหวะและความเร็วในการเดินโดยใช้เสียงกำกับ ตลอดจนฝึกเปลี่ยนทิศทางการเดินทั้งแบบกำหนดจุด และไม่กำหนดจุด เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในชีวิตประจำวัน

สำหรับการให้บริการของศูนย์กายภาพบำบัด คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล จะจัดโปรแกรมให้เฉพาะผู้ป่วยโรคพาร์กินสันที่ได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์แล้วเท่านั้น

ก่อนมาเข้ารับการประเมินสมรรถภาพตามระดับความรุนแรงของโรคผ่าน "คู่มือ" ที่นับเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของ มหาวิทยาลัยมหิดล ผลงานโดยคณะกายภาพบำบัด ในฐานะ "ปัญญาของแผ่นดิน" ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล โดยได้รับการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา ด้วยการแก้ไขปัญหาแบบ "Task Oriented Approach" ตามความเคลื่อนไหวที่ผิดปกติแบบเฉพาะจุด

โดยมุ่งดูแลสุขภาพแบบองค์รวม เน้นการมีส่วนร่วมของผู้ป่วย เพื่อให้เข้าถึงเป้าหมายของการทำบำบัดอย่างยั่งยืน

ติดต่อนัดหมายเพื่อเข้ารับบริการได้ที่ ศูนย์กายภาพบำบัด คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา โทร. 0-2441-5450 และที่ ศูนย์กายภาพบำบัด ปิ่นเกล้า คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 06-3520-5151

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ