นายสายันต์ ตันพานิช ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง "รูปแบบการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากไม้ดอกไม้ประดับเพื่อการตลาด" ภายใต้ โครงการการพัฒนาศักยภาพในการผลิตและปลูกเลี้ยงไม้ดอกไม้ประดับในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG จัดโดยศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ (ศนก.) วว. โดยมี ผศ.พาวิน มะโนชัย รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ดร.อนันต์ พิริยะภัทรกิจ นักวิจัยอาวุโส ศนก. ดร.จิรเมธ อุฬารวิวัฒน์ นักวิจัย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร (ศนส.) อาจารย์ นักศึกษา ผู้ประกอบการ เกษตรกร เข้าร่วมอบรมฯ ในวันที่ 24 กรกฎาคม 2567 ณ ห้องประชุมข้าวหอมมะลิ ม.แม่โจ้ จ.เชียงใหม่
นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ ร่วมบรรยายถ่ายทอดองค์ความรู้ในการอบรมฯ ดังกล่าว ได้แก่ นายสุทธิพงษ์ สุริยะ (อาจารย์ขาบ) ฟู้ดสไตล์ลิสระดับโลก เจ้าของรางวัลออสการ์อาหารโลก จากบริษัท ขาบสไตล์ จำกัด หัวข้อ "เมนูไม้ดอกไม้ประดับ จาก Local สู่ เลอค่า" นายคมกริช อุทวิ (อัญชันแมน) เจ้าของสวนมนทร จ.เชียงใหม่ หัวข้อ "เทคนิคการเล่าเรื่องเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและกลยุทธ์การตลาด" นางนารีรัตน์ ทับทิม (ผู้ริเริ่มคิดค้นไอศครีมซอฟต์เสิร์ฟจากดอกกระเจียว) เจ้าของภูพร้อมดาว ฟาร์มสเตย์ จ.ชัยภูมิ หัวข้อ "การพัฒนาตัวอย่างผลิตภัณฑ์จากไม้ดอกไม้ประดับ" และ ดร.สิทธิศักดิ์ พูริวงศ์ Marketing Coordinator บริษัท Smithers Oasis Malaysia Sdn.Bhd. หัวข้อ "การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากไม้ดอกไม้ประดับรูปแบบใหม่ๆ ตามยุคสมัย"
ทั้งนี้การอบรมมีวัตถุประสงค์ เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีทางด้านการปรับปรุงพันธุ์พืชการคัดเลือกสายพันธุ์ และการส่งเสริมกระบวนการผลิตสายพันธุ์พืชไม้ดอกไม้ประดับชนิดใหม่ๆ ให้ตรงตามความต้องการของตลาด การใช้เทคโนโลยีในการบริหารจัดการโรงเรือน ระบบการให้น้ำให้ปุ๋ย วัสดุเพาะชำปลอดโรค การป้องกันโรคและแมลงศัตรูพืชด้วยสารชีวภัณฑ์ การยืดอายุดอกไม้หลังการเก็บเกี่ยวสำหรับการส่งออก การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องสำอาง รวมทั้งการสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบจากไม้ดอกไม้ประดับมากกว่า 30 ผลิตภัณฑ์ ตลอดจนการพัฒนาพื้นที่ปลูกเลี้ยงเป็นชุมชนต้นแบบด้านการปลูกเลี้ยงไม้ดอกไม้ประดับด้วย วทน.
สนใจติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ วว. โทร. 0 2577 9000 ต่อ 9618