นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม. กล่าวถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บขยะจากแหล่งน้ำสาธารณะในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า สสล. มีหน้าที่รับผิดชอบจัดเก็บขยะและวัชพืชในแม่น้ำเจ้าพระยา ระยะทาง 33.25 กิโลเมตร และคลองบางกอกน้อย ระยะทาง 4.20 กิโลเมตร โดยจัดเก็บระหว่างเวลา 08.00 - 16.00 น. มีอัตรากำลังข้าราชการและลูกจ้างที่จัดเก็บ 180 คน ปริมาณขยะและวัชพืชที่จัดเก็บได้ระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 - 2567 ดังนี้ ปี 2565 จัดเก็บได้ 3,146.16 ตัน เฉลี่ย 8.62 ตัน/วัน ปี 2566 จัดเก็บได้ 3,113.70 ตัน เฉลี่ย 8.53 ตัน/วัน และปี 2567 (ข้อมูลเดือน มิ.ย. 67) จัดเก็บได้ 2,046.53 ตัน เฉลี่ย 7.47 ตัน/วัน
ทั้งนี้ สสล. ได้เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บขยะจากแหล่งน้ำ โดยจัดเจ้าหน้าที่พร้อมเรือและอุปกรณ์ตรวจสอบบริเวณท่าเรือสำคัญต่าง ๆ แก้ไขปัญหาขยะตกค้าง กีดขวางการสัญจรของเรือและทางน้ำไหล ปรับรูปแบบการเก็บขยะตามสถานการณ์ปัจจุบัน โดยในช่วงฤดูน้ำหลากจะสกัดกั้นและจัดเก็บขยะและวัชพืชทางตอนบน ส่วนเวลาน้ำทะเลหนุนจะสกัดกั้นและจัดเก็บขยะและวัชพืชทางตอนล่าง ขณะเดียวกันได้จัดหาเรือเก็บขนมูลฝอยไฟเบอร์กลาสทดแทนเรือเก่าที่มีสภาพชำรุด จัดหาวัสดุอุปกรณ์ดักขยะ พร้อมติดตั้งรอบแหล่งกำเนิดขยะริมแม่น้ำเจ้าพระยา
นอกจากนั้น ได้จัดกิจกรรมรณรงค์สื่อสารสร้างความร่วมมือดูแลรักษาแม่น้ำเจ้าพระยาและให้ความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนนำนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาใช้ดูแลความสะอาดแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองบางกอกน้อย เช่น ความร่วมมือโครงการเรือดักขยะพลังงานแสงอาทิตย์ (Interceptor) ประสานความร่วมมือกับจังหวัดต้นน้ำในการจัดเก็บขยะในแม่น้ำและคูคลอง รวมถึงรณรงค์ไม่ทิ้งขยะลงแหล่งน้ำ ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากผักตบชวาและกำจัดผักตบชวาที่แหล่งกำเนิด