เกษตรแนะใช้สารกำจัด 2 ศัตรูสำคัญในมะพร้าวถูกวิธี ป้องกันผลกระทบอย่างมีประสิทธิภาพ

ข่าวทั่วไป Thursday August 1, 2024 10:49 —ThaiPR.net

เกษตรแนะใช้สารกำจัด 2 ศัตรูสำคัญในมะพร้าวถูกวิธี ป้องกันผลกระทบอย่างมีประสิทธิภาพ

กรมส่งเสริมการเกษตร เตือนเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวให้เฝ้าระวังศัตรูสำคัญ 2 ชนิด ที่มักเข้าทำลายผลผลิตมะพร้าว ได้แก่ หนอนหัวดำ และแมลงดำหนาม โดยก่อนใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชชนิดต่าง ๆ จะต้องสามารถวิเคราะห์ได้ว่าการทำลายดังกล่าวเกิดจากศัตรูชนิดใด เพื่อให้การใช้สารป้องกันกำจัดได้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และที่สำคัญเกษตรกรชาวสวนมะพร้าวต้องหมั่นสำรวจติดตามสถานการณ์ของศัตรูมะพร้าวอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสามารถวางแผนการป้องกันกำจัดได้อย่างมีปรสิทธิภาพ

หนอนหัวดำ เป็นศัตรูมะพร้าวที่พบการระบาดรุนแรงในหลายปีที่ผ่านมา ปัจจุบันกรมส่งเสริมการเกษตรได้แนะนำให้เกษตรกรเกิดความรู้ในการควบคุม ป้องกัน และกำจัด โดยลักษณะการทำลายของหนอนหัวดำ สังเกตได้จากการที่ตัวหนอนจะทำลายจากใบล่าง กัดกินผิวใต้ใบและสร้างอุโมงค์ยาวคล้ายทางเดินของปลวกคลุมเส้นทางที่หนอนแทะกินตามทางใบและอาศัยอยู่ในอุโมงค์นั้นเมื่อตัวหนอนโตเต็มที่ จะถักใยเข้าดักแด้อยู่ภายในอุโมงค์ การประเมินระดับความรุนแรงของศัตรูชนิดนี้ สามารถดูได้จากทางใบมะพร้าวสีเขียวที่ยังไม่ถูกทำลาย หากต้นมะพร้าวยังมีทางใบสีเขียวเหลืออยู่บนต้นจำนวน 13 ใบขึ้นไป แสดงให้เห็นว่าการถูกทำลายยังอยู่ในระดับน้อย แต่หากทางใบมะพร้าวสีเขียวเหลืออยู่จำนวนระหว่าง 6-12 ทางใบนั้น เข้าสู่ระดับความรุนแรงปานกลาง และหากเหลือทางใบน้อยกว่า 5 ใบ จัดเป็นการระบาดของหนอนหัวดำมะพร้าวในระดับรุนแรง การป้องกันกำจัด สามารถทำได้โดยจะต้องเลือกใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชให้เหมาะสมกับความสูงของต้นมะพร้าว คือ ต้นมะพร้าวต่ำ กว่า 4 เมตร หากพบการทำลายในระดับที่รุนแรงน้อยให้พ่นสารชีวภัณฑ์โดยใช้เชื้อ Bt อัตรา 100 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร แต่หากพบการทำลายในระดับรุนแรงปานกลางถึงรุนแรงมากให้พ่นสารเคมีโดยเลือกใช้สารชนิดใดชนิดหนึ่ง ได้แก่ ฟลูเบนไดเอไมด์ 20% WG อัตรา 5 กรัม หรือคลอแรนทรานิลิโพร์ล 5.17% SC อัตรา 20 มิลลิลิตร หรือสปินโนแสด 12% SC อัตรา 20 มิลลิลิตร หรือลูเฟนนูรอน 5% EC อัตรา 20 มิลลิลิตร ผสมน้ำ 20 ลิตรแล้วฉีดพ่น หากต้นมะพร้าวต่ำ กว่า 12 เมตร ให้ใช้วิธีเจาะสารเข้าต้น โดยใช้อีมาเมกตินเบนโซเอต 1.92% EC อัตรา 5 มิลลิลิตรต่อต้น และต้นมะพร้าวที่สูงกว่า 12 เมตร ให้ใช้อีมาเมกตินเบนโซเอต 1.92% EC อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อต้น

ด้านแมลงดำหนาม เป็นศัตรูมะพร้าวสำคัญที่เกษตรกรต้องเฝ้าระวังเช่นกัน โดยลักษณะการทำลายของแมลงดำหนาม สังเกตได้จากตัวหนอนและตัวเต็มวัยกัดกินใบอ่อนโดยเฉพาะยอดที่ยังไม่คลี่ ทำ ให้มะพร้าวชะงักการเจริญเติบโต หากถูกทำ ลายรุนแรงทำ ให้ใบแห้งเป็นสีน้ำ ตาลมองเห็นเป็นสีขาวชัดเจน เรียกว่า "มะพร้าวหัวหงอก" การประเมินระดับความรุนแรงของศัตรูชนิดนี้ สามารถดูได้จากทางใบบริเวณยอดของมะพร้าวที่ถูกทำลายไป หากถูกทำลายไม่เกิน 5 ใบ จัดว่าอยู่ในระดับน้อย แต่หากใบบริเวณยอดถูกทำลาย 6 - 10 ทางใบ และมากกว่า 11 ทางใบ นับว่าถูกทำลายในระดับปานกลางและรุนแรงตามลำดับ การป้องกันกำจัดแมลงดำหนามสามารถทำได้ 2 วิธี คือ วิธีราดสารเคมีบริเวณยอดและรอบคอมะพร้าว โดยเลือกใช้สารชนิดใดชนิดหนึ่ง ได้แก่ อิมิดาโคลพริด 70% WG อัตรา 4 กรัมต่อต้น หรือไทอะมีทอกแซม 25% WG อัตรา 4 กรัมต่อต้น หรือไดโนทีฟูแรน 10% WP อัตรา 10 กรัมต่อต้น และอีกวิธีหนึ่งคือให้นำสารคาร์แทปไฮโดรคลอไรด์ 4% GR อัตรา 30 กรัมต่อต้นใส่ถุงเหน็บไว้บริเวณยอดมะพร้าว และหมั่นสำรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ