กลุ่ม KTIS ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเยาวชนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อตอบรับภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ที่จะมีบทบาทอย่างมากต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยรับเป็นผู้สนับสนุนหลักในการจัดการแข่งขันหุ่นยนต์และกีฬาอีสปอร์ตระดับอาเซียน ชิงถ้วยรางวัลพระราชทาน โดยมีมหาวิทยาลัยเจ้าพระยาเป็นเจ้าภาพหลัก ร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆ ทั้งสถาบันการศึกษาและองค์กรในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ เผยปีนี้จัดเป็นครั้งที่ 2 ซึ่งได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง มีทีมและผู้เข้าแข่งขันมากกว่าการจัดครั้งแรก โดยมีทีมแข่งขันหุ่นยนต์ 737 ทีม และกีฬาอี-สปอร์ต 72 ทีม จำนวนผู้เข้าร่วมแข่งขันมากกว่า 3,000 คน
ดร.ดารัตน์ ศิริวิริยะกุล วิภาตะกลัศ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่ม KTIS ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่องครบวงจร และอธิการบดี มหาวิทยาลัยเจ้าพระยา เปิดเผยว่า กลุ่ม KTIS ตระหนักดีว่า อุตสาหกรรมต่างๆ ในปัจจุบันและอนาคตจะต้องแข่งขันกันด้วยเทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันด้านนี้ จำเป็นต้องพัฒนาตั้งแต่ระดับเยาวชน ดังนั้น กลุ่ม KTIS จึงได้รับเป็นผู้สนับสนุนหลักในการจัดการแข่งขันหุ่นยนต์และกีฬาอีสปอร์ตระดับอาเซียน ชิงถ้วยรางวัลพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ครั้งที่ 2 (CPU'2nd ASEAN GRAND PRIX YOUTH ROBOTICS AND ESPORTS COMPETITION 2024) ซึ่งจัดขึ้น ณ ศูนย์ประชุมมหาวิทยาลัยเจ้าพระยา จังหวัดนครสวรรค์
ทั้งนี้ การแข่งขันดังกล่าวมีมหาวิทยาลัยเจ้าพระยาเป็นเจ้าภาพหลัก ร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆ ทั้งสถาบันการศึกษาและองค์กรในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ ทำให้ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางจากนักเรียนนักศึกษาจากทั่วประเทศ โดยมีทีมเข้าแข่งขันในประเภทต่างๆ ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงระดับอุดมศึกษารวม 809 ทีม จำนวนผู้เข้าร่วมแข่งขันกว่า 3,000 คน โดยเป็นทีมแข่งขันหุ่นยนต์ 737 ทีม และกีฬาอีสปอร์ต 72 ทีม
"การออกแบบหุ่นยนต์เพื่อนำมาทำการแข่งขัน ต้องใช้ความรู้และทักษะในหลายด้าน เช่น ด้านกลศาสตร์ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ การออกแบบ รวมไปถึงพื้นความรู้ทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ต่างๆ ดังนั้น จึงเป็นเครื่องมือที่ช่วยพัฒนาเยาวชนได้เป็นอย่างดี" ดร.ดารัตน์กล่าว และเสริมว่า กลุ่ม KTIS ขอชื่นชมผู้ที่มีส่วนร่วมทุกๆ ฝ่าย ที่ผลักดันให้การแข่งขันครั้งนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ขณะเดียวกันก็มีความภูมิใจและมองเห็นประโยชน์ที่เกิดขึ้นในการกระตุ้นความสนใจด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์ของนักเรียนนักศึกษา ทั้งที่มาร่วมแข่งขันกว่า 3 พันคน และที่ติดตามข่าวสารการแข่งขันอีกนับหมื่นคน ซึ่งจะส่งผลดีต่อการพัฒนาประเทศและโลกของเราในระยะยาว