รายการสถานีประชาชน ไทยพีบีเอส จับมือ บช.สอท. และสำนักงานเขตสายไหม ลงพื้นที่สัญจร เสริมภูมิคุ้มกันต้านภัยไซเบอร์ รู้ทันกลโกงมิจฉาชีพออนไลน

ข่าวทั่วไป Monday August 5, 2024 09:18 —ThaiPR.net

รายการสถานีประชาชน ไทยพีบีเอส จับมือ บช.สอท. และสำนักงานเขตสายไหม ลงพื้นที่สัญจร เสริมภูมิคุ้มกันต้านภัยไซเบอร์ รู้ทันกลโกงมิจฉาชีพออนไลน

องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือไทยพีบีเอส โดยรายการสถานีประชาชน ร่วมกับกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) หรือตำรวจไซเบอร์ และสำนักงานเขตสายไหม กรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่สัญจร และจัดกิจกรรมเสวนาภายใต้โครงการ "ยกระดับเตือนภัยออนไลน์ สร้างชุมชนเครือข่าย รู้ทันกลโกงภัยออนไลน์" เพื่อสร้างการตระหนักรู้ ป้องกันและรับมือกับกลโกงของมิจฉาชีพออนไลน์ทุกรูปแบบ รวมถึงสร้างเครือข่ายรู้ทันกลโกงร่วมกับกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) กลุ่มผู้สูงอายุ และประชาชนในพื้นที่ เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 67 ที่ผ่านมา ณ สำนักงานเขตสายไหม กรุงเทพมหานคร

กิจกรรมเสวนาดังกล่าวมี สมบัติ กนกทิพย์วรรณ ผู้อำนวยการเขตสายไหม, พ.ต.อ.เกรียงไกร พุทไธสง ผกก.กลุ่มงานสนับสนุนทางไซเบอร์ บก.ตอท., พ.ต.ท.สมหมาย ธรรมเนียม สารวัตรกลุ่มงานสนับสนุนทางไซเบอร์ บก.ตอท., ว่าที่ พ.ต.ท.อภิลักษณ์ สิงครุธ สารวัตรกลุ่มงานสนับสนุนทางไซเบอร์ บก.ตอท., ว่าที่ พ.ต.ท.สังเวียน แสงจันทร์ สารวัตรกลุ่มงานสนับสนุนทางไซเบอร์ บก.ตอท., ว่าที่ พ.ต.ท.เทียนชัย เข็มงาม สารวัตรกลุ่มงานสนับสนุนทางไซเบอร์ บก.ตอท. เข้าร่วม ดำเนินรายการโดยอภิกขณา เขื่อนแก้ว ผู้สื่อข่าวอาวุโส รายการสถานีประชาชน ไทยพีบีเอส และ อุษา เอี่ยมสุวรรณ ผู้สื่อข่าว รายการสถานีประชาชน ไทยพีบีเอส

พ.ต.อ.เกรียงไกร พุทไธสง เปิดเวทีเสวนาด้วยการบรรยายหัวข้อ "รู้ทันกลโกง รู้ทันเทคโนโลยี รู้ทันตนเอง" ว่า ปัจจุบันนี้โทรศัพท์มีความสำคัญอย่างมาก เพราะไม่ได้เป็นเพียงแค่เครื่องมือสื่อสาร แต่ยังเป็นเครื่องเก็บเงินและข้อมูลส่วนตัว มิจฉาชีพจึงเลือกหลอกลวงผู้คนผ่านโทรศัพท์มือถือ ซึ่งช่องทางที่มิจฉาชีพจะเข้าถึงประชาชนมี 3 ช่องทางหลัก คือ สื่อสังคมออนไลน์ โทรผ่านระบบเสียง และข้อความ SMS เราจึงต้องเข้าใจกลวิธี กลโกงของมิจฉาชีพที่จะเข้าถึงตัวเราผ่านช่องทางดังกล่าว

ว่าที่ พ.ต.ท.อภิลักษณ์ สิงครุธ กล่าวถึงวิธีการตรวจสอบความน่าเชื่อถือของเพจในเฟซบุ๊กไว้ว่า ประชาชนสามารถตรวจสอบได้จากเครื่องหมายถูกสีฟ้า หรือ verified badge ท้ายชื่อของเพจ รวมทั้งตรวจสอบได้จาก "ความโปร่งใสของเพจ" หากบัญชีเพจดังกล่าวมีการเปลี่ยนชื่อหลายครั้ง หรือมีผู้ดูแลเพจอยู่หลากหลายประเทศ ถือว่ามีแนวโน้มสูงที่จะเป็นมิจฉาชีพ

ด้าน ว่าที่ พ.ต.ท.เทียนชัย เข็มงาม เล่าถึงกลวิธีการหลอกหลวงของมิจฉาชีพว่า มิจฉาชีพเลือกที่จะใช้วิธีการ "ขุนหมูให้อ้วน" (Pig Butchering Scam) คือ มิจฉาชีพจะให้ผลประโยชน์แก่เหยื่อเพื่อหล่อเลี้ยงให้หลงกล เมื่อเหยื่อเริ่มหลงเชื่อโอนเงินให้จำนวนที่มากขึ้น ๆ มิจฉาชีพจึงค่อยหลบหนีไปพร้อมกับทรัพย์สินทั้งหมดของเหยื่อ

ในตอนท้าย อุษา เอี่ยมสุวรรณ ได้ฝากถึงวิธีการรับมือกับมิจฉาชีพแบบง่าย ๆ ไว้ว่า "ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน" และหากต้องการร้องเรียนร้องทุกข์เกี่ยวกับภัยไซเบอร์ ปรึกษากฎหมาย สามารถติดต่อได้ที่ "รายการสถานีประชาชน" ผ่านหมายเลขโทรศัพท์ 02-790-2111, 02-790-2630-3 และช่องทาง Line @RongTookThaiPBS วันจันทร์ - ศุกร์ ตั้งแต่ 09.00 - 16.00 น. รวมถึงสามารถแจ้งความออนไลน์ที่ www.thaipoliceonline.go.th และสายด่วน 1441 ตลอด 24 ชั่วโมง

ทั้งนี้ "รายการสถานีประชาชน" เป็นอีกหนึ่งความมุ่งมั่น ตั้งใจ ในการทำหน้าที่สื่อสาธารณะที่เป็นมากกว่าสถานีโทรทัศน์ของไทยพีบีเอส (More than TV) ในการยกระดับการช่วยป้องกันภัยออนไลน์ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กลุ่มผู้สูงอายุที่ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงมากที่สุด ติดตามรับชม "รายการสถานีประชาชน" วันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 14.05 - 15.00 น. ทางไทยพีบีเอส หมายเลข 3 หรือติดตามชมย้อนหลังได้ที่ www.thaipbs.or.th/People 

สามารถติดตามไทยพีบีเอสทุกช่องทางออนไลน์ ได้ที่

? Website : www.thaipbs.or.th   ? Application : Thai PBS? Social Media Thai PBS : Facebook, YouTube, X , LINE, TikTok, Instagram, Threads, Linkedin


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ