"ฟีม" ตั้งใจยื่น Portfolio รอบ 1 เล็งคณะสถาปัตยกรรมฯ มจพ. ปังสุดๆ กวาดรางวัลชนะเลิศทั้งในประเทศและรางวัลระดับนานาชาติ

ข่าวทั่วไป Monday August 5, 2024 13:45 —ThaiPR.net

นางสาวธัญพิชชา สิทธิจันทร์ ชื่อเล่น "ฟีม" ตอนนี้เรียนกำลังจะขึ้นปี 5 คณะสถาปัตยกรรมและการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ล่าสุดปังมากๆ กับการกวาดรางวัลชนะเลิศทั้งในระดับประเทศและรางวัลระดับนานาชาติ จากผลงานที่ได้รวมกลุ่มกับเพื่อน ๆ ร่วมชั้นเรียน ได้ลงแข่งประกวดแบบสถาปัตยกรรมไม้ไผ่ The 6th Guangdong - Hong Kong - Macao - Greater Bay Area - ASEAN International Colleges Design and Construction Competition ใน Theme 'Bamboo Swing Game' ได้รับรางวัลชนะเลิศในระดับประเทศ และได้ไปแข่งขันต่อในระดับนานาชาติ ณ Nansha Bird Park เมืองกว่างโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 1-11 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยผลงาน Paradise Machine ได้คว้ามา 3 รางวัล ได้แก่ 1) รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 2) รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 Engineering and Structural Design และ 3) รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 Integrated Expression บอกได้เลยว่า "ฟีม" บุคลิกร่าเริง ยิ้มแย้มแจ่มใส ชอบความสนุกสนาน มีความมุ่งมั่นและตั้งใจทำให้สำเร็จ มีวินัยในตัวเอง สิ่งไหนยังไม่เคยทำ เราก็พยายามและเปิดโอกาสให้ตนเองได้พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง พร้อมเคารพความคิดเห็นของผู้อื่น

"ฟีม" เล่าให้ฟังว่า ชอบวาดรูปตั้งแต่สมัยเรียนอนุบาลโรงเรียนสมพงศ์วิทยาจะทิ้งพระ จังหวัดสงขลาและทางโรงเรียนพาไปแข่งขันได้รางวัลมาเสมอ ๆ หลังจากนั้นมาเรียนระดับชั้นมัธยมที่โรงเรียนบางกะปิ กรุงเทพฯ และเป็นช่วงค้นหาตัวเองว่าต้องการอะไร อยากเรียนแนวไหน ท้ายสุดไปลองสมัครไปค่ายติวสถาปัตยฯ ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ แว๊บแรก!!! รู้สึกว่ายากมาก ไม่ใช่ทางแน่ ๆ แต่พอกลับจากค่ายก็มาลองมาหาข้อมูล และฝึกวาดรูปทางสถาปัตยกรรม จึงเกิดความรู้สึกสนใจขึ้นจริงๆ จัง ๆ และได้ไปลงเรียนติวคอร์สด้านสถาปัตย์ใกล้ ๆ บ้าน แต่ความยากตอนนั้นคือ ต้องทำ Portfolio สถาปัตย์ไปด้วย และต้องตามให้ทันเนื้อหาวิชาอื่น ๆ ในห้องเรียนด้วย แต่ก็ผ่านไปได้ด้วยดีค่ะ "ได้เข้าคณะสถาปัตยกรรมและการออกแบบ และเป็นสาขาที่ตัวเองตั้งใจจะเข้าได้ในรอบ 1 Portfolio จึงได้มาเรียนที่พระจอมเกล้าพระนครเหนือค่ะ"

ผลงานด้านการประกวดแบบสถาปัตยกรรม และรับรางวัลประเภทต่าง ๆ ที่ได้กล่าวไปข้างต้นนั้น ยังมี 3 รางวัล ซึ่งก่อนหน้านี้เคยประกวดแบบ ได้รับรางวัลแรกในงานประกวดแบบบ้านน็อคดาวน์ ของ Modern Tage ซึ่งได้รับรางวัลชมเชย และรางวัลโมเดลขวัญใจ Modern Tage ผู้ที่ร่วมการประกวดแบบส่วนใหญ่จะเป็นนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ "ฟีม" คิดว่ามันเป็นจุดเริ่มต้นของการประกวดแบบสถาปัตยกรรมที่ดี ก็คือความอยากลอง และมองว่าเป็นโอกาสที่ดี ถ้าโตไปกว่านี้อาจจะไม่ได้มีโอกาสให้ทำบ่อย ๆ แล้ว ต่อมาได้รวมกลุ่มกับเพื่อน ๆ สมัยมัธยมออกแบบผลิตภัณฑ์ จาก Plastic Recycle สินค้าที่จำหน่ายในร้าน Cafe Amazon ประเภท Fashion Product ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 เกินความคาดหมายมาก ๆ ค่ะ ก็ภูมิใจกับงานประกวดแบบนี้มากเลยค่ะ เพราะพวกเราทำตั้งแต่ออกแบบ เขียนแบบ และที่สำคัญลงมือลงแรงในการสร้างผลงานจริงในสเกล 1: 1 ด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการขนไม้ไผ่ ตัดไม้ไผ่ ประกอบชิ้นส่วนต่าง ๆ ซึ่งพวกเราไม่เคยทำกันมาก่อน และเมื่อสร้างเสร็จ ผลงานของพวกเราก็ถูกใช้งานโดยเด็ก ๆ ผู้ใหญ่ในวัยต่าง ๆ ซึ่งพวกเขายิ้ม และมีความสุขกับงานที่พวกเราทำขึ้นมา "เรารู้สึกมีความสุขมาก ๆ ที่ผลงานประกวดแบบเรา ได้สร้างรอยยิ้ม และความสุขให้กับผู้ใช้งานจริง ๆ"

การใช้ชีวิตในมหา'ลัย ไม่ยากอย่างที่คิด  เพราะนอกจากการที่หาความรู้ในห้องเรียนแล้ว เราก็ต้องหาความรู้นอกห้องเรียนควบคู่ไปด้วย เช่น การเข้าร่วม Workshop การอบรม การสัมมนาต่าง ๆ การฝึกงานเพื่อพัฒนาทักษะใหม่ ๆ อย่างเราสนใจการวาดรูป สีน้ำ สนใจสถาปัตยกรรมตึกแถวสมัยโบราณ (Shophouses) ประวัติศาสตร์ อ่านหนังสือพัฒนาตนเอง ฯลฯ ทั้งหมดเกิดจากความสุข และความชอบของเรา เราก็เอาตัวเองไปอยู่ในกลุ่มคนที่สนใจเรื่องนั้น สถานที่นั้น เราจะได้พัฒนาตัวเองไปด้วย การเปิดโอกาสให้ตนเองได้มีโอกาสเป็นเรื่องสำคัญมากที่สามารถนำไปสู่ความสำเร็จ เพราะหากไม่หาโอกาสให้ตัวเอง อาจพลาดโอกาสที่ดีในชีวิตหลาย ๆ ด้าน รวมถึงความกล้าที่จะลอง ก็จะนำพาเราไปสู่ความสำเร็จ และการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น "การใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยเป็นช่วงเวลาที่มีค่ามากในการเรียนรู้ พัฒนาตนเอง การปรับตัวให้เข้ากับสิ่งใหม่ ๆ และการเปิดใจกับประสบการณ์ต่าง ๆ จะทำให้เราได้รับประโยชน์สูงสุดจากช่วงเวลานี้"

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การจัดการเวลา มีทั้งโปรเจกต์ในห้องเรียน โปรเจกต์ที่รับเป็นงานพิเศษ บางทีจะมีการแบ่งทำงานประกวด หรือแม้แต่เวลาส่วนตัว ต้องจัดการเวลาโดยการทำ Planner แบ่งเวลาให้ชัดเจนว่าในแต่ละวันทำอะไรบ้าง รวมถึงการปฏิบัติของตนเอว่าสิ่งไหนสำคัญ หรือสิ่งไหนสำคัญรองลงมา ซึ่งจะเปิดดู และทบทวนสิ่งที่ต้องทำในช่วงก่อนเช้าวันใหม่จนติดเป็นนิสัย การเข้าเรียนสม่ำเสมอก็มีส่วนช่วยให้ไม่พลาดข้อมูลสำคัญ พยายามทำการบ้าน และโปรเจกต์ตามกำหนดเวลา อย่าผลัดวันประกันพรุ่ง การใช้ชีวิตในรั้ว มหา'ลัยอยู่รอดครบ 4 ปี แน่นอน  ในส่วนของสภาพร่างกาย และจิตใจ เมื่อเราเหนื่อย ท้อ เครียด ออกไปข้างนอกเพื่อไปเที่ยวหาแรงบันดาลใจใหม่ ๆ ทำสิ่งที่ชอบ หรือ สนใจ พักผ่อนให้เพียงพอ รวมถึงการเรียน การทำงาน และความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง การฮีลตัวเองอย่างรวดเร็วช่วยให้เรากลับมาใช้ชีวิตประจำวันอย่างมีประสิทธิภาพ และมีความสุขมากขึ้น นอกจากนี้การปรับตัวเข้ากับสังคมใหม่ ๆ ในรั้วมหา'ลัย ก็สำคัญมากๆ  เช่น คณะสถาปัตย์เป็นคณะที่นักศึกษามีความคิดเห็นหลากหลายในการทำงานกลุ่ม การที่จะเข้ากับสังคมใหม่ ๆ ได้ ก็ต้องเปิดใจ ยอมรับความแตกต่าง เปิดใจรับฟังผู้อื่น เคารพความคิดเห็นของผู้อื่น แม้ว่าจะไม่เห็นด้วยกับสิ่งนั้น ด้วยคำพูด การกระทำ ที่แสดงถึงการยอมรับความแตกต่าง ใจเขาใจเรา จะช่วยให้สร้างความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนให้กับคนรอบข้าง เรียนรู้ที่จะปรับตัว และการสร้างมิตรภาพ ความสัมพันธ์ที่ดีในสังคมใหม่ รวมถึงกิจกรรมและสร้างสรรค์ผลงาน เช่น การประกวดแบบทางสถาปัตยกรรม คงเป็นพื้นที่ที่เราสามารถปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์ของเราได้มากที่สุด เพราะโปรเจกต์ในห้องเรียนจะเป็นโปรเจกต์ที่มีข้อจำกัดมากกว่า การประกวดแบบจึงถือว่าเป็นโจทย์ที่มีความหลากหลาย และมีความท้าทายมากขึ้น ซึ่งเป็นโอกาส และผลดีที่ทำให้เราได้เรียนรู้ ศึกษาค้นคว้าในสิ่งใหม่ ๆ ที่ตนเองไม่เคยทำ หรือเคยเรียนมาก่อน ซึ่งผลพลอยได้ก็คือ "การได้เรียนรู้ การได้รับรางวัล หรือการสนับสนุน ซึ่งถือว่าเป็นใบเบิกทาง หรือเก็บไว้เป็น Portfolio ในอนาคตการทำงานได้"

อย่างไรก็ดีชีวิตในรั้วมหา'ลัย ตางก็มีเหตุการณ์ที่สมหวัง และประทับใจ ก็จะเป็นการได้ลองประกวดแบบ ทำสิ่งใหม่ ๆ ที่ไม่คิดว่าตนเองจะทำได้ แล้วได้รับรางวัลนั้น นำมาสู่การได้ทุนการศึกษาเป็นค่าเทอม 1 ปี ซึ่งทำให้ที่บ้านไม่ต้องจ่ายค่าเทอมให้เรา หรือเป็นการสอบผ่าน ทำโปรเจกต์ที่ยาก ๆ หลังจากที่พยายามอย่างหนัก แม้แต่เพื่อน ๆ ที่ดี น่ารัก และสนับสนุนเราก็มีส่วนที่ทำเกิดความประทับใจในรั้วมหาวิทยาลัย ล่าสุดก็คงเป็นการยื่น Portfolio และ สอบเข้าเพื่อฝึกงาน ก็ได้ที่ฝึกงาน 2 ที่ก็คือ A49 (บริษัท สถาปนิก 49 จำกัด) ซึ่งเป็นบริษัทออกแบบ และ AP (บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน)) ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เพื่อค้นหาตัวเองว่าชอบงานประเภทไหน ซึ่งก็ภูมิใจ และสมหวังที่งานที่ตัวเองสะสมมาเป็นผลดีกับเรา  ส่วนเรื่องที่ผิดหวังก็จะ Basic เลยค่ะ เช่น การที่คะแนนสอบ หรือโปรเจกต์ไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง แม้จะพยายามอย่างเต็มที่ ก็จะรู้สึกไม่ดีนิดหน่อย ความเครียดจากการมีงานการบ้าน หรือโปรเจกต์ที่ต้องทำจำนวนมากในเวลาจำกัด แต่ก็ต้องฮีลตัวเอง หาจุดบกพร่อง แล้วพยายามใหม่ค่ะ เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้เราได้เรียนรู้ รับมือกับความผิดหวัง และการฉลองความสำเร็จ ทำให้เราเป็นคนที่เข้มแข็ง และพร้อมที่จะเผชิญกับความท้าทายในอนาคต

ประทับใจอาจารย์กิตติ หร่ายขุนทด ซึ่งเป็นอาจารย์ที่สอนวิชา Architectural Design อาจารย์เป็นคนที่เก่งในเรื่องของ Concept ทางสถาปัตยกรรม ซึ่งเราเป็นคนที่ไม่เข้าใจในเรื่องนี้ พอได้ตรวจแบบร่างกับอาจารย์ก็เหมือนอะไรมาเติมในสิ่งที่ขาดไป ทำให้การเรียนวิชานี้ เป็นเรื่องที่สนุกไปเลย และเราได้มีการปรึกษาอาจารย์ในเรื่องที่เป็นกังวล หรือการจัดการการทำงานกลุ่ม อาจารย์ก็ได้ให้คำแนะนำที่ดีมาก

 "ฟีม" กล่าวเสริมว่า การเรียน การใช้ชีวิตช่วงมหา'ลัย มันสอนการทำงานร่วมกับผู้อื่น เกิดการพัฒนาตนเอง  มีทักษะทางการสื่อสาร และสามารถการแก้ไขปัญหาได้ และแน่นอนว่าช่วยให้เราได้รับความรู้ ในลักษณะที่อิสระมากขึ้น นักศึกษามีโอกาสในการค้นคว้าเพิ่มเติมในสาขาที่สนใจ และทักษะในสาขา วิชาต่าง ๆ ซึ่งเป็นพื้นฐานที่จำเป็นในการประยุกต์ใช้ในอาชีพ แต่สิ่งที่พิเศษคือ การพัฒนาทักษะการใช้ชีวิต เรียนรู้ความสำเร็จ และความล้มเหลว ความกล้าที่จะเปิดโอกาสให้ตัวเองก็เป็นสิ่งที่พิเศษอย่างยิ่ง การใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย เป็นประสบการณ์ที่มีค่ามาก ไม่เพียงแต่ช่วยในการเตรียมตัวสำหรับอาชีพเท่านั้น แต่ยังเป็นการพัฒนาตัวเองให้เป็นคนที่มีคุณค่าและสามารถมีส่วนร่วมในการสร้างสังคมที่ดีได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ