สคร. 12 สงขลา เตือน ปชช. ภาคใต้ตอนล่าง ระวัง โรคเลปโตสไปโรสิส (โรคไข้ฉี่หนู) หากมีไข้ ปวดน่อง หลังลุยน้ำ อย่าซื้อยาทานเอง ให้รีบพบแพทย์

ข่าวทั่วไป Monday August 5, 2024 17:16 —ThaiPR.net

สคร. 12 สงขลา เตือน ปชช. ภาคใต้ตอนล่าง ระวัง โรคเลปโตสไปโรสิส (โรคไข้ฉี่หนู) หากมีไข้ ปวดน่อง หลังลุยน้ำ อย่าซื้อยาทานเอง ให้รีบพบแพทย์

สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา (สคร.12 สงขลา) เตือนประชาชน ช่วงหน้าฝน ระวังโรคเลปโตสไปโรสิส (โรคไข้ฉี่หนู) โดยเฉพาะพื้นที่น้ำท่วมขัง หลังน้ำลด ไม่ควรเดินลุยน้ำ ย่ำดินโคลน พื้นที่ชื้นแฉะด้วยเท้าเปล่า หรือแช่น้ำเป็นเวลานาน แนะสวมรองเท้าบูททุกครั้ง หากมีไข้เฉียบพลันหลังลุยน้ำ 1-2 สัปดาห์ ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ปวดน่องและกล้ามเนื้อโคนขา อย่าซื้อยากินเอง ให้รีบไปพบแพทย์ทันที

นายแพทย์เฉลิมพล  โอสถพรมมา ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา กล่าวถึงสถานการณ์ โรคเลปโตสไปโรสิส (Leptospirosis) หรือโรคไข้ฉี่หนู ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 5 สิงหาคม 2567 ประเทศไทยพบผู้ป่วย 1,999 ราย เสียชีวิต 24 ราย สำหรับเขตสุขภาพที่ 12 พบผู้ป่วย 482 ราย เสียชีวิต 8 ราย คือ สงขลา 5 ราย พัทลุง 2 ราย และตรัง 1 ราย จังหวัดที่มีจำนวนผู้ป่วยสูงสุดคือจังหวัดสงขลา 139 ราย รองลงมาคือ ตรัง 77 ราย, นราธิวาส 68 ราย, ยะลา 65 ราย, พัทลุง 57 ราย, สตูล 53 ราย และปัตตานี 23 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด 50-59 ปี รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 40-49 ปี, อายุ 30-39 ปี และอายุ 60 ปีขึ้นไป

โรคเลปโตสไปโรสิส (Leptospirosis) หรือโรคไข้ฉี่หนู เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย "เลปโตสไปร่า" (Leptospira) เข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล รอยขีดข่วน รอยถลอกตามผิวหนัง เยื่อบุตา จมูก ปาก หรือชอนไชเข้าทางผิวหนังที่แช่น้ำเป็นเวลานาน โรคไข้ฉี่หนูมักระบาดช่วงหน้าฝน โดยเฉพาะหลังน้ำลด กลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อคือเกษตรกรที่ต้องเดินลุยน้ำ หรือพื้นดินชื้นแฉะที่ปนเปื้อนปัสสาวะสัตว์ ได้แก่ วัว ควาย หมู สุนัข แพะ หนู รวมทั้งผู้ที่ทำงานในฟาร์มเลี้ยงสัตว์/โรงฆ่าสัตว์/ผู้ที่ชำแหละสัตว์ที่มีเชื้อโรคฉี่หนู นอกจากนี้ ยังอาจติดต่อได้จากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อน ทำให้ป่วยโรคนี้ได้    

นายแพทย์เฉลิมพล  กล่าวว่า ช่วงหน้าฝนนี้ขอให้ประชาชนระวังป่วยด้วยโรคเลปโตสไปโรสิส (โรคไข้ฉี่หนู) โดยอาการที่สำคัญ คือ มีไข้สูง หลังลุยน้ำ 1-2 สัปดาห์ ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ปวดน่องและกล้ามเนื้อโคนขา มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน ตาแดง หากมีอาการดังกล่าวขอให้รีบไปพบแพทย์ทันที เน้นย้ำ แจ้งประวัติการแช่น้ำ เดินลุยน้ำให้แพทย์ทราบ ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่เสียชีวิตส่วนใหญ่ มักซื้อยากินเอง หรือไปพบแพทย์ช้า

การป้องกันโรคไข้ฉี่หนู หลีกเลี่ยงการลุยน้ำในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง ย่ำโคลน หรือพื้นที่ชื้นแฉะ ด้วยเท้าเปล่า เนื่องจากหนู หมู วัว และควายอาจจะมาปัสสาวะไว้ ทำให้มีปริมาณเชื้อเข้มข้น โดยเฉพาะเมื่อมีบาดแผล รอยถลอก ขีดข่วน เชื้อโรคสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย ควรสวมรองเท้าบูท ถุงมือ หรือชุดป้องกัน สำหรับเกษตรกรที่สัมผัสมูลสัตว์หรือสิ่งสกปรก ควรล้างมือ ล้างเท้า อาบน้ำชำระร่างกายทันทีหลังเสร็จจากการทำงาน นอกจากนี้ ควรรักษาความสะอาดบริเวณบ้านเรือน กำจัดขยะเพื่อไม่ให้เป็นแหล่งอาหารของหนู เก็บอาหารและน้ำดื่มให้มิดชิด ป้องกันไม่ให้หนูปัสสาวะใส่ ควรดื่มน้ำต้มสุก และกินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ กรณีที่จับหรือสัมผัสเนื้อสัตว์ ซากสัตว์ หรือสัตว์ทุกชนิด ให้รีบล้างมือด้วยสบู่ หากมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ