ไทยยูเนี่ยนโชว์ผลงานไตรมาสสองสุดปังโกยกำไรสุทธิ 1.2 พันลบ. รับการฟื้นตัว 3 ธุรกิจหลัก พร้อมปันผลครึ่งปีแรก 0.31 บาทต่อหุ้น ตอกย้ำสถานะการเงินแข็งแกร่ง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 7, 2024 16:20 —ThaiPR.net

ไทยยูเนี่ยนโชว์ผลงานไตรมาสสองสุดปังโกยกำไรสุทธิ 1.2 พันลบ. รับการฟื้นตัว 3 ธุรกิจหลัก พร้อมปันผลครึ่งปีแรก 0.31 บาทต่อหุ้น ตอกย้ำสถานะการเงินแข็งแกร่ง

บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) รายงานผลกำไรสุทธิในไตรมาสที่สองของปี 2567 ที่ระดับ 1,219 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.2 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวต่อเนื่องของกลุ่มธุรกิจอาหารกระป๋อง อาหารสัตว์เลี้ยง และสินค้าเพิ่มมูลค่าและอื่น ๆ ขณะที่อัตราส่วนกำไรขั้นต้นปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 18.5 เปอร์เซ็นต์ นับเป็นอัตราเติบโตสูงที่สุดอันดับสองในรอบ 3 ปี และทำยอดขายได้ถึง 35,283 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.6 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเฉพาะการเติบโตของกลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยง ที่มียอดขายสูงถึง 40.6 เปอร์เซ็นต์ เช่นเดียวกันกับอัตราส่วนกำไรขั้นต้นที่ขยายตัวแตะ 31.3 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ ยังเดินหน้าจ่ายปันผลต่อเนื่อง ตอกย้ำสถานะทางการเงินแข็งแกร่งของบริษัท

นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจไทยยูเนี่ยนในไตรมาสสองปี 2567 ยังคงขยายตัวดีอย่างต่อเนื่อง โดยสามารถทำยอดขายได้ดีถึง 35,283 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.6 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่อัตราส่วนกำไรขั้นต้นของบริษัท ขึ้นมาแตะที่ระดับ 18.5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นตัวเลขอัตราการเติบโตสูงสุดเป็นอันดับสองในรอบ 3 ปี ซึ่งปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัวในไตรมาสนี้มาจากกลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง ที่นำกลยุทธ์เพิ่มสัดส่วนการขายสินค้าพรีเมียมและการปรับปรุงราคาสินค้า และการปรับปรุงประสิทธิภาพของกลุ่มธุรกิจสินค้ามูลค่าเพิ่มและธุรกิจอื่น ๆ รวมถึง การปรับโครงสร้างทางกลุ่มธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็งให้คงเฉพาะธุรกิจหลักที่สร้างรายได้และผลกำไร

ขณะที่อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนอยู่ในเกณฑ์ที่ดี 0.82 เท่า ณ สิ้นไตรมาสสองปี 2567 ซึ่งดีกว่าเกณฑ์ของทั่วไปที่กำหนดไว้ 1.0 - 1.1 เท่า นอกจากนี้ บริษัทยังประกาศจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลสำหรับงวดครึ่งปีแรก 2567 ในอัตราหุ้นละ 0.31 บาท คิดเป็นอัตราการจ่ายเงินปันผล 59 เปอร์เซ็นต์ โดยบริษัทได้กำหนดวันกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิรับเงินปันผลในวันที่ 22 สิงหาคม 2567 และมีกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 4 กันยายน 2567 สะท้อนให้เห็นถึงสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งของบริษัท

"ไทยยูเนี่ยนได้แสดงให้เห็นว่าเราสามารถรับมือและปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ท้าทายตั้งแต่ปี 2566 ได้อย่างรวดเร็ว และการที่บริษัทให้ความสำคัญกับธุรกิจหลักมากขึ้นจึงทำให้กลุ่มธุรกิจอาหารกระป๋อง กลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง และกลุ่มธุรกิจสินค้าเพิ่มมูลค่าและอื่น ๆ ฟื้นตัวดีขึ้น จนสามารถขับเคลื่อนการเติบโตทางธุรกิจจากไตรมาสแรกได้เป็นอย่างดี ส่งผลให้บริษัทมีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง มั่นคง พร้อมก้าวสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนในที่สุด" นายธีรพงศ์ กล่าว

สำหรับผลประกอบการตามกลุ่มธุรกิจในไตรมาสสอง พบว่า กลุ่มธุรกิจอาหารกระป๋อง มียอดขายอยู่ที่ 17,376 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.4 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐอเมริกา แคนาดา และตะวันออกกลาง ขณะที่อัตราส่วนกำไรขั้นต้นอยู่ที่ 18.9 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบที่มีอยู่ในสต็อกต่ำลง และราคาทูน่าที่ปรับตัวสูงขึ้น กลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง มียอดขายอยู่ที่ 4,456 ล้านบาท เพิ่มขึ้นสูงถึง 40.6 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับไตรมาสที่สองของปีที่ผ่านมา โดยได้ปัจจัยสนับสนุนจากกลยุทธ์เพิ่มสัดส่วนการขายสินค้าพรีเมียม การปรับปรุงราคาสินค้า รวมถึง ปริมาณความต้องการสินค้าในตลาดยุโรปและสหรัฐอเมริกาที่ดีต่อเนื่อง ทำให้ในไตรมาสนี้กลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยงมีอัตรากำไรขั้นต้นขยายตัวสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 31.3 เปอร์เซ็นต์

ขณะที่กลุ่มธุรกิจสินค้ามูลค่าเพิ่มและธุรกิจอื่น ๆ สามารถขับเคลื่อนยอดขายในไตรมาสที่สองได้ 2,609 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 15.5 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นอัตราส่วนกำไรขั้นต้นถึง 26.5 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อน อย่างไรก็ดี กลุ่มธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็ง ยอดขายอยู่ที่ 10,842 ล้านบาท โดยปรับตัวลดลงราว 5.7 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากปริมาณความต้องการที่ลดลงในสหรัฐอเมริกา แต่เมื่อพิจารณาอัตราส่วนกำไรขั้นต้นของกลุ่มธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็งพบว่ามีการฟื้นตัว 10.7 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากราคาต้นทุนวัตถุดิบที่ลดลงและธุรกิจอาหารสัตว์น้ำอาหารสัตว์เศรษฐกิจมีการปรับปรุงโครงสร้างมุ่งสร้างประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจได้ดีขึ้นต่อเนื่อง

ทั้งนี้ สัดส่วนยอดขายของไทยยูเนี่ยนตามภูมิภาค มาจากประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดา คิดเป็นอัตรา 40.0 เปอร์เซ็นต์ของรายได้รวมทั้งหมด รองลงมาเป็น ยุโรป 32.3 เปอร์เซ็นต์ ไทย 10.3 เปอร์เซ็นต์ และ อื่นๆ อีก 17.3 เปอร์เซ็นต์

นอกจากนี้ ในครึ่งแรกของปี 2567 บริษัทยังประสบความสำเร็จในโครงการซื้อหุ้นคืนเพื่อบริหารทางการเงิน จำนวน 200 ล้านหุ้นเป็นที่เรียบร้อย พร้อมทั้งดำเนินการจดทะเบียนลดทุนจากการตัดหุ้นที่ซื้อคืนและจำหน่ายไม่ได้ในโครงการดังกล่าวที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2566 ได้แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 25 กรกฏาคม 2567 ทั้งนี้ เพื่อแสดงสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งของบริษัทสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ถือหุ้น รวมถึงช่วยเพิ่มกำไรต่อหุ้นให้ดีขึ้น

นอกจากนี้ ไทยยูเนี่ยนยังมีได้รับปัจจัยบวกจากการที่บริษัท ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ITC ได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 50 บริษัทในดัชนี SET 50 ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เป็นครั้งแรก นับตั้งแต่เข้าจดทะเบียนเมื่อเดือนธันวาคม 2565 และยังเป็นบริษัทใหม่เพียงรายเดียวจากกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มในดัชนีดังกล่าวอีกด้วย

ขณะเดียวกัน บริษัทยังคงเดินหน้าวิจัยและพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ต่อเนื่อง เพราะเป็นกุญแจสำคัญต่อการเติบโตในระยะยาวของธุรกิจ โดยในไตรมาสที่ผ่านมาแบรนด์ จอห์น เวสต์ (John West) ของไทยยูเนี่ยนประกาศเปิดตัว ECOTWIST(R) ซึ่งเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ปฏิวัติวงการออกแบบ เพื่อให้ใช้งานง่าย ใส่ใจสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และลดจำนวนขยะบรรจุภัณฑ์ให้มากที่สุด โดย ECOTWIST(R) เป็นการเดินหน้าสร้างนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ครั้งใหญ่สำหรับกลุ่มผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องของ สหราชอาณาจักร ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา

เพราะความยั่งยืนนับเป็นหัวใจสำคัญในการดำเนินธุรกิจของไทยยูเนี่ยนมาโดยตลอด ทำให้บริษัทเดินหน้าทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยในวันมหาสมุทรโลกที่ผ่านมา อาสาสมัครไทยยูเนี่ยนได้ร่วมกันเก็บขยะทะเลในชุมชนท้องถิ่นในประเทศไทย สหรัฐอเมริกา แอฟริกา และยุโรป นอกจากนี้ ไทยยูเนี่ยนยังได้รับการคัดเลือกให้เป็นสมาชิกของดัชนี FTSE4Good Emerging Index เป็นปีที่ 9 ติดต่อกัน พร้อมออกรายงานความยั่งยืนประจำปี 2566 เพื่อรายงานถึงความก้าวหน้าในการดำเนินงานตามกลยุทธ์ SeaChange(R) 2030 ของไทยยูเนี่ยนอีกด้วย

"ผมมั่นใจว่าแผนยุทธศาสตร์องค์กรเพื่อมุ่งสู่ปี 2573 จะช่วยเตรียมความพร้อม สร้างนวัตกรรม เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว ให้เราสามารถดูแลสุขภาพที่ดีของผู้คน สัตว์เลี้ยง ควบคู่กับการดูแลโลกใบนี้ และสามารถบรรลุเป้าหมายในการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกด้านสุขภาพและโภชนาการเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลอย่างยั่งยืน" นายธีรพงศ์ กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ