การตรวจอัลตราซาวด์ในแต่ละช่วงอายุครรภ์แตกต่างกันอย่างไร? ช่วยทำให้คุณพ่อคุณแม่รับรู้พัฒนาการของลูกน้อยในครรภ์

ข่าวทั่วไป Thursday August 8, 2024 17:43 —ThaiPR.net

การตรวจอัลตราซาวด์ในแต่ละช่วงอายุครรภ์แตกต่างกันอย่างไร? ช่วยทำให้คุณพ่อคุณแม่รับรู้พัฒนาการของลูกน้อยในครรภ์

แม้ว่ายังไม่เห็นหน้าแต่ก็รักและผูกพัน ด้วยวิทยาการในปัจจุบันที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่ได้รับรู้พัฒนาการของลูกในครรภ์รวมถึงโครงร่างของลูกน้อย คือการตรวจอัลตราซาวด์ แล้วในความเป็นจริงการอัลตราซาวด์สามารถตอบคำถามอะไรได้บ้าง การตรวจในแต่ละช่วงอายุครรภ์แตกต่างกันอย่างไร ซึ่งบทความให้ความรู้โดย นพ.ธิติพันธุ์ น่วมศิริ สูตินรีแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ (MFM) ศูนย์สุขภาพหญิง โรงพยาบาลนวเวช ได้อธิบายไขข้อสงสัยให้กับคุณพ่อและคุณแม่มือใหม่ ได้ทราบถึงความสำคัญของการตรวจอัลตราซาวด์ลูกน้อยในครรภ์ได้อย่างครบถ้วน

ไตรมาสที่ 1 (อายุครรภ์น้อยกว่า 14 สัปดาห์)

การอัลตราซาวด์ในครั้งแรกของการฝากครรภ์ มักเป็นการยืนยันตำแหน่งของการตั้งครรภ์ว่าเป็นการตั้งครรภ์ในมดลูกหรือไม่ นอกจากนี้ยังใช้เป็นข้อมูลในการกำหนดอายุครรภ์ร่วมกับการมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย โดยวัดความยาวของตัวอ่อน (Crown-rump Length) จากภาพอัลตราซาวด์ และการตรวจดูอวัยวะอื่น ๆ ในอุ้งเชิงกรานอย่างมดลูกและรังไข่ประกอบ หลังจากนั้นประมาณช่วงอายุครรภ์ 10 สัปดาห์-13 สัปดาห์ 6 วัน ทีมแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ (Maternal Fetal Medicine: MFM) จะตรวจอัลตราซาวด์ร่วมกับการตรวจเลือด เพื่อประเมินความเสี่ยง และคัดกรองโรคดาวน์ซินโดรมความพิการของทารกในครรภ์ ทำนายเพศ และการตรวจคัดกรองโรคครรภ์เป็นพิษ

ไตรมาสที่ 2 (อายุครรภ์ 14-28 สัปดาห์)

ช่วงอายุครรภ์ 18-22 สัปดาห์ เป็นช่วงที่เหมาะสมที่สุดในการประเมินดูความสมบูรณ์ของทารกในครรภ์ โดยสามารถตรวจดูความสมบูรณ์ของอวัยวะต่าง ๆ ได้เกือบทั้งหมด ได้แก่

  • กะโหลกศีรษะ และสมอง
  • โครงสร้างใบหน้า ลูกตา เพดานปาก ริมฝีปาก
  • ทรวงอก ปอด โครงสร้างของหัวใจ เส้นเลือดหัวใจ และการไหลเวียนของเลือด
  • ช่องท้อง กระเพาะอาหาร ลำไส้ ไต กระเพาะปัสสาวะ
  • เพศ
  • โครงสร้างกระดูก กระดูกสันหลัง กระดูกแขน ขา มือ เท้า นิ้วมือ และเท้า
  • ปริมาณน้ำคร่ำ
  • ประเมินน้ำหนักของทารกในครรภ์
  • ตำแหน่งการเกาะของรก และสายสะดือ

ความผิดปกติที่พบบ่อย เช่น ปากแหว่ง เพดานโหว่ สมองผิดปกติ หัวใจพิการ รกเกาะต่ำ หากตรวจพบความผิดปกติแต่กำเนิดในช่วงนี้ แพทย์จะแนะนำให้ตรวจเพิ่มเติม โดยการเจาะน้ำคร่ำหรือสายสะดือทารก เพื่อตรวจดูความผิดปกติของโครโมโซม รวมถึงการได้รับ คำปรึกษาจากผู้ชำนาญการเฉพาะทาง เพื่อวางแผนการดูแลระหว่างตั้งครรภ์ การคลอด และหลังคลอด

นอกจากนี้ยังสามารถประเมินความเสี่ยงในการคลอดก่อนกำหนดได้ จากการตรวจอัลตราซาวด์ทางช่องคลอด เพื่อวัดความยาวปากมดลูก หากมีภาวะปากมดลูกสั้นหรือปากมดลูกหลวม เพื่อที่จะได้รับการรักษาด้วยยาหรือการเย็บปากมดลูกได้อย่างทันท่วงทีอีกด้วย

ไตรมาสที่ 3 (อายุครรภ์ 28 สัปดาห์จนถึงคลอด)

ในช่วงไตรมาสที่ 3 นั้น ประโยชน์ของการตรวจอัลตราซาวด์ คือการตรวจดูน้ำหนักของทารกในครรภ์เพื่อประเมินน้ำหนักก่อนคลอด ท่าของทารก ปริมาณน้ำคร่ำ และตรวจยืนยันตำแหน่งการเกาะของรกว่ามีรกเกาะต่ำหรือไม่ เพื่อประเมินความเหมาะสมของวิธีการคลอด และตรวจดูความสมบูรณ์ของทารกในครรภ์ที่อาจตรวจพบได้ในช่วงไตรมาสที่ 3

สรุป แม้ว่าการตรวจอัลตราซาวด์จะสามารถตรวจพบความพิการแต่กำเนิดได้หลายชนิด แต่ความผิดปกติบางอย่างก็ยังไม่สามารถตรวจพบได้จากอัลตราซาวด์ เช่น ความผิดปกติ ที่มีขนาดเล็กมาก สติปัญญา ออทิสติก ทั้งนี้ที่ โรงพยาบาลนวเวช เราใช้การตรวจอัลตราซาวด์แบบ 2 มิติ ร่วมกับการอัลตราซาวด์ 3 มิติ และ4 มิติ เพื่อช่วยให้เห็นภาพใบหน้า และโครงสร้างภายนอกของทารกในครรภ์ได้ชัดเจนมากขึ้น รวมถึงการคลื่อนไหวของทารกในครรภ์ โดยสามารถเก็บภาพ และคลิปวิดีโอ เป็นความทรงจำดี ๆ และยังเป็นการสร้างความผูกพันระหว่างพ่อแม่ และลูกในครรภ์

หากคุณแม่ที่ตั้งครรภ์มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการตรวจอัลตราซาวด์ สามารถติดต่อสอบถาม นัดหมาย หรือขอรับคำปรึกษา เกี่ยวกับการฝากครรภ์ และการอัลตราซาวด์กับทีมแพทย์เฉพาะทางโรงพยาบาลนวเวช เพื่อการดูแลที่ใกล้ชิดกับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ทุกท่าน ด้วยแพ็กเกจการตรวจอัลตราซาวด์ 4 มิติ คลิกซื้อได้ที่ : https://bit.ly/4dbfXMZ หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์สุขภาพผู้หญิง (Women's Health Center โทร.1507 I Line: @navavej

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ