นวัตกรรมการย้อมสีธรรมชาติและการประยุกต์ใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน: แม่อิงชิโบริโมเดล (Model of Success)

ข่าวทั่วไป Friday August 9, 2024 17:14 —ThaiPR.net

นวัตกรรมการย้อมสีธรรมชาติและการประยุกต์ใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน: แม่อิงชิโบริโมเดล (Model of Success)

โครงการ "แม่อิงชิโบริโมเดล" เป็นโครงการที่มีการนำองค์ความรู้และนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในเรื่องสีย้อมธรรมชาติ เข้าไปถ่ายทอดเชิงปฏิบัติการให้แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผ้ามัดย้อมสีธรรมชติแม่อิงชิโบริ ตำบลดงเจน อำเภอภูกามยาว จังหวัดพะเยา เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาในเรื่องการย้อมผ้าด้วยสีย้อมธรรมชาติแล้วสีตก สีซีด ทำซ้ำแล้วไม่ได้เฉดสีเดิม โดยนวัตกรรมหลักที่นำไปถ่ายทอดคือ เทคนิคการย้อมสีผ้ามัดย้อมด้วยสีย้อมธรรมชาติ หลังการถ่ายทอดนวัตกรรม กลุ่มสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในการย้อมผ้ามัดย้อมลวดลายต่างๆ เพื่อใช้สำหรับผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น กระเป๋า ผ้าคลุมไหล่ เสื้อ หมวก และผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติสำหรับตัดชุดต่างๆ เนื่องจากเป็นลวดลายที่มีความเป็นเอกลักษณ์บวกกับการย้อมด้วยสีย้อมธรรมชาติ รวมถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์ด้วยรูปแบบสมัยใหม่ จึงทำให้มีผู้สนใจซื้อผลิตภัณฑ์ในราคาที่แพงกว่าปกติถึงสิบเท่า (จากผลิตภัณฑ์เดิมกระเป๋าจำหน่ายใบละ 200 บาท ผลิตภัณฑ์ใหม่จำหน่ายใบละ 2,000 - 2,500 บาท) นั่นคือ ทำให้สมาชิกในกลุ่มทอผ้ามีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 55 ซึ่งมากกว่าเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ (ร้อยละ 10)

ผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน (Social Return on Investment : SROI) มีค่าเท่ากับ 1.68 เท่าและสามารถสร้าง วิทยากรชุมชน รวมถึง นักนวัตกรชุมชน ที่สามารถเป็นต้นแบบที่ดีในการถ่ายทอดองค์ความรู้และนำองค์ความรู้ในเรื่องสีย้อมธรรมชาติไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างแท้จริง ส่งผลให้โครงการ "แม่อิงชิโบริโมเดล" ได้รับรางวัลผลงานนวัตกรรมเพื่อสังคมระดับ "ดีเด่น" ในกิจกรรมการนำเสนอผลงานนวัตกรรมเพื่อสังคม ประจำปีงบประมาณ 2563 และกลุ่มแม่อิงชิโบริยังได้รับรางวัล Learning Space ระดับ Silver ในงาน Learning Space Award 2022 จัดโดยกองวิจัย มหาวิทยาลัยพะเยา รวมถึงนายเอกรินทร์ ลัทธศักย์ศิริ ได้รับรางวัล นักนวัตกรชุมชนดีเด่น ประจำปี 2565 บพท. ส่งผลให้นักวิจัยในโครงการ แม่อิงชิโบริโมเดล คือ ผศ.ดร.กัลยา จำปาทอง ได้รับรางวัลนักวิจัยที่มีผลงานวิจัยที่สร้างประโยชน์ให้แก่ชุมชน ระดับดีมาก ในงานประชุมวิชาการระดับชาติ พะเยาวิจัย ครั้งที่ 11 เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2565

จากการถอดบทเรียนและถ่ายทอดนวัตกรรม (หลัก) เรื่อง เทคนิคการย้อมสีผ้าด้วยสีย้อมธรรมชาติจากพืชท้องถิ่น โดยนักวิจัยและนักนวัตกรชุมชนของกลุ่มแม่อิงชิโบริ ในการดำเนินโครงการเรื่อง "การถ่ายทอดความรู้จากเทคโนโลยีการทำสีย้อมผ้าธรรมชาติ ชิโบริ สู่การเพิ่มคุณภาพผลิตภัณฑ์ผ้าท้องถิ่น" สนับสนุนทุนวิจัยโดยกองทุนส่งเสริม ววน. และหน่วย บพท. ประจำปีงบประมาณ 2566 สามารถต่อยอดขยายเครือข่ายทางด้านสีย้อมธรรมชาติ ทั้งหมด 6 อำเภอ รวม 6 ชุมชน คือ

1) กลุ่มผลิตภัณฑ์ผ้าพิมพ์รักษ์โลก ECO ตำบลพระธาตุชิงแกง อำเภอจุน 2) กลุ่มทอผ้า บ้านร่องปอ ตำบลดงเจน อำเภอภูกามยาว 3) กลุ่มทอผ้าบ้านใหม่ราษฎร์บำรุง ตำบลสันโค้ง อำเภอดอกคำใต้ 4) กลุ่มใบไม้ลายลักษณ์ ตำบลศรีถ้อย อำเภอแม่ใจ 5) กลุ่มผ้าทอไทลื้อบ้านหย่วน ตำบลหย่วน อำเภอเชียงคำ และ 6) กลุ่มตัดเย็บผ้าด้นมือวัดเมืองชุม ตำบลแม่ต๋ำ อำเภอเมืองพะเยา โดยจากการประเมินโครงการพบว่าโครงการนี้มีความคุ้มค่าในการลงทุน

ในปี 2567 กลุ่มวิสาหกิจผ้ามัดย้อมแม่อิงชิโบริ ได้รับการคัดสรรจากกระทรวงพาณิชย์ (1 ใน 18 กลุ่ม คัดเลือกจาก 50 กลุ่มทั่วประเทศ) ให้เข้าร่วมโครงการ "ผ้าไทยใส่ให้สนุก" และเป็นตัวแทนเพื่อนำผลิตภัณฑ์เข้าร่วมจัดแสดงและจำหน่ายในงาน Thai Festival Tokyo 2024 ณ สวนสาธารณะโยโยงิ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 11-13 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมาซึ่งผลิตภัณฑ์ของกลุ่มได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานเป็นอย่างมาก อีกทั้งกลุ่มยังได้รับการคัดเลือกจากกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ให้เข้ารับรางวัล "องค์กรชุมชนแกนหลักสำคัญในการพัฒนาหมู่บ้านดีเด่น" ระดับจังหวัด ประจำปี 2566 โดยเข้ารับพระราชทานรางวัลจากกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2567

ความสำเร็จในการดำเนินโครงการนี้เกิดจากการที่ทีมวิจัยตั้งโจทย์วิจัยที่ตรงกับปัญหาและความต้องการของชุมชน และมีความร่วมมืออย่างต่อเนื่องระหว่างสถาบันการศึกษาและชุมชน ทำให้สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลง เกิดองค์ความรู้/นวัตกรรมใหม่ทางด้านงานวิจัยจากรากฐานของชุมชน และสามารถนำองค์ความรู้/นวัตกรรมนั้นไปพัฒนาส่งเสริมอาชีพของคนในชุมชน เพื่อให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งและอยู่ได้อย่างยั่งยืน สมดังวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยพะเยาที่ว่า "มหาวิทยาลัยสร้างปัญญา เพื่อนวัตกรรมชุมชน สู่สากล อย่างยั่งยืน" (University to Create Wisdom for Sustainable Community Development with Innovations of International Standards)

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. กัลยา จำปาทอง รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ