คณะนิติศาสตร์ ม.ศรีปทุม วางพวงมาลาถวายพระบิดากฎหมายไทย เนื่องในวันรพี 7 สิงหาคม 2567

ข่าวทั่วไป Monday August 12, 2024 11:55 —ThaiPR.net

คณะนิติศาสตร์ ม.ศรีปทุม วางพวงมาลาถวายพระบิดากฎหมายไทย เนื่องในวันรพี 7 สิงหาคม 2567

อาจารย์สุภัสสร ภู่เจริญศิลป์ และ ดร.เอกพงษ์ สารน้อย ผู้ช่วยผู้อำนวยการหลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม นำผู้แทนนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ เข้าร่วมพิธีวางพวงมาลาหน้าพระรูป พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ "พระบิดาแห่งวงการกฎหมายไทย" เนื่องในวันรพี 7 สิงหาคม เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติ เนื่องจากเป็นวันคล้าย วันสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ "พระบิดาแห่งวงการกฎหมายไทย" ณ ศาลยุติธรรม สำนักงานศาลยุติธรรม รัชดาภิเษก กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2567

ความสำคัญของวันรพี เป็นการน้อมรำลึกถึงวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ผู้วางรากฐานด้านนิติศาสตร์ให้ประเทศไทย นับเป็นคุณูปการอันล้นพ้นที่มีต่อวงการกฎหมายไทย นอกจากหน่วยงานรัฐจะมีการจัดบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายเป็นประจำทุกปี ยังมีกิจกรรมวางพวงมาลาเนื่องในวันรพี บริเวณหน้าสำนักงานศาลยุติธรรม และศาลต่างๆ ทั่วประเทศ

สำหรับ "วันรพี" มาจากพระนามของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ซึ่งมีพระนามเดิมว่า "พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์" พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ประสูติเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2417 ทรงเป็นนักนิติศาสตร์ ผู้จัดตั้งโรงเรียนกฎหมายขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อให้ความรู้แก่นักเรียน นักกฎหมาย และผู้พิพากษา

ประวัติด้านการศึกษาของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ทรงสอบเข้าเรียนต่อด้านกฎหมาย ณ วิทยาลัยไครสต์เชิร์ช มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ขณะมีพระชนมายุเพียง 17 พรรษา ทรงสอบไล่ผ่านทุกวิชาใช้เวลาศึกษา 3 ปี และได้รับปริญญาเกียรตินิยมทางกฎหมาย เมื่อพระชนมายุ 20 พรรษา เป็นที่พอพระราชหฤทัยแก่รัชกาลที่ 5 โดยทรงเรียกพระราชโอรสของพระองค์ว่า "เฉลียวฉลาดรพี"

หลังจากนั้น เสด็จกลับมารับราชการในตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม ทรงมีบทบาทอย่างมากในการวางแบบแผน แก้ไขปรับปรุงระเบียบศาลยุติธรรมของไทย อีกทั้งทรงรวบรวมข้อกฎหมาย คำพิพากษา ตำราทางกฎหมาย เพื่อให้มีความทัดเทียมนานาประเทศ โดยทรงได้รับยกย่องเป็น "พระบิดาแห่งกฎหมายไทย" ในฐานะผู้เริ่มต้นวางรากฐานด้านกฎหมาย และวางรากฐานการศึกษานิติศาสตร์ในประเทศไทย

สิ่งที่พระองค์ทรงให้ความสำคัญอย่างมากเกี่ยวกับการตัดสินคดีความของผู้พิพากษาคือ "ความซื่อสัตย์สุจริต" โดยทรงถือเป็นอุดมคติที่ต้องยึดมั่นมากกว่ากิจส่วนตัว โดยเฉพาะการ "ไม่กินสินบน" ผู้ที่จะมาทำงานเป็นผู้พิพากษา หรือทำงานด้านกฎหมาย จำเป็นต้องมีคุณสมบัติข้อนี้ เพื่อเป็นหลักประกันความยุติธรรมให้ประชาชน อันนำไปสู่ความเจริญและการยอมรับของนานาประเทศ

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ สิ้นพระชนม์ในวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ.2463 ต่อมาเนติบัณฑิตยสภาได้เห็นชอบถวายการยกย่องพระองค์ท่าน โดยกำหนดให้วันที่ 7 สิงหาคมของทุกปี เป็น "วันรพี" เริ่มใช้ครั้งแรกในปี พ.ศ.2497 มาจนถึงปัจจุบัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ