นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวถึงแนวทางการขับเคลื่อนศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม เพื่อให้ผู้ที่เข้ารับการบำบัดรักษาได้รับการฟื้นฟูสภาพทางสังคมว่า กทม. โดย สนอ. ได้จัดประชุมคณะกรรมการศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กทม. ทุกสัปดาห์ ติดตามการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการเร่งรัดการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติดระยะเร่งด่วน 3 เดือน รวมทั้งหารือการขับเคลื่อนการดำเนินงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในทุกมิติ โดยเฉพาะศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม ขณะเดียวกันได้จัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม 51 แห่ง มีแนวทางการดำเนินงาน งบประมาณสนับสนุน และระบบรายงานที่เป็นรูปธรรม เชื่อมโยงกับระบบการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดทุกระบบ ได้แก่ ระบบข้อมูลการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดของประเทศ (บสต.) การดูแลผู้ติดยาเสพติดโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน (Community Based Treatment : CBTx) จากการค้นหา คัดกรอง นำผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดเข้ากระบวนการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสภาพทางสังคม รวมถึงการติดตามอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ได้ประสานความร่วมมือกระทรวงแรงงานช่วยเหลือด้านอาชีพ และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดกรุงเทพมหานคร (ปปส.กทม.) ช่วยเหลือด้านทุนประกอบอาชีพ ซึ่งข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 66 - 31 ก.ค. 67 ได้นำส่งต่อผู้ติดยาเสพติดเข้าศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมแล้ว 337 คน
นอกจากนั้น ได้จัดบริการคัดกรองบำบัดรักษาและฟื้นฟูฯ ผู้ติดยาเสพติดตามประมวลกฎหมายยาเสพติดโดยเปิดศูนย์คัดกรองการใช้ยาเสพติดเพื่อรองรับ จำนวน 72 แห่ง ให้ครอบคลุม 50 เขต บริการบำบัดรักษาและฟื้นฟูรูปแบบผู้ป่วยนอก 71 แห่ง อาทิ คลินิกก้าวใหม่ ศูนย์บริการสาธารณสุข 52 แห่ง คลินิกก้าวใหม่ พลัส ศูนย์บริการสาธารณสุข 17 แห่ง คลินิกก้าวใหม่พลัส ลาดพร้าว สำนักงานป้องกันและบำบัดการติดยาเสพติด เป็นต้น รวมถึงโปรแกรมการบำบัดสำหรับผู้ใช้ยาบ้า ไอซ์ ยาอี กัญชา กระท่อม และการใช้ยาในทางที่ผิด ให้การบำบัดด้วยโปรแกรมก้าวใหม่ (การดูแลแบบองค์รวม (holistic care) ) ระยะเวลา 1-4 เดือน ด้วยทีมสหวิชาชีพ ประกอบด้วย แพทย์ พยาบาลวิชาชีพ นักสังคมสงเคราะห์ และนักจิตวิทยา โปรแกรมการบำบัดสำหรับผู้ติดเฮโรอีน/ฝิ่น/อนุพันธุ์ของฝิ่น บำบัดด้วยการใช้สารทดแทน ได้แก่ ยาเมทาโดน ยา buprenorphine/naloxone (BNX) การติดตามดูแลหลังการบำบัด ผู้ใช้/ผู้เสพ/ผู้ติด สถานพยาบาลติดตามดูแลหลังการบำบัด 4-7 ครั้ง/ปี และส่งต่อศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม 50 เขต เพื่อติดตามดูแลให้ความช่วยเหลือด้านสังคม โดยมีผลการบำบัดตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 66 - 1 ก.ค. 67 คัดกรอง 6,847 ราย เข้ารับการบำบัด 4,965 ราย
สำหรับมาตรการเชิงรุกขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด กทม. มีมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหายาและสารเสพติด ทั้งในสถานศึกษา โดยเฝ้าระวังความเสี่ยงภายในและนอกสถานศึกษา คัดกรองโดยครูที่พบพฤติกรรมเสี่ยงของนักเรียน หากพบนักเรียนที่มีความเสี่ยงจะประสานผู้ปกครองและศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. เพื่อติดตามช่วยเหลือ สำหรับนักเรียนที่มีความเสี่ยงและสงสัยว่า อาจเกี่ยวข้องกับยาเสพติดจะตรวจปัสสาวะ โดยจัดทำหนังสือสัญญาและข้อตกลงร่วมกับผู้ปกครอง เพื่อให้ความยินยอมก่อนตรวจปัสสาวะ ตลอดจนจัดกิจกรรมเสริมสร้างความรู้ ทักษะ เสริมภูมิคุ้มกันยาเสพติดให้กับนักเรียน ส่วนในสถานประกอบการ ได้ประสานสำนักงานเขต และกระทรวงแรงงาน เพื่อจัดกิจกรรมเสริมสร้างภูมิคุ้มกันยาและสารเสพติดให้กับพนักงาน สนับสนุนการสร้างสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัยยาเสพติด สนับสนุนการดำเนินงานตามเกณฑ์มาตรฐานการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานประกอบการ (มยส.) และโรงงานสีขาว และในชุมชน ได้จัดให้มีอาสาสมัครเฝ้าระวังภัยและยาเสพติด กทม. และอาสาสมัครสาธารณสุข กทม. เชี่ยวชาญยาเสพติดในพื้นที่ 50 สำนักงานเขต เพื่อเฝ้าระวัง สร้างการรับรู้เท่าทันต่อสถานการณ์ปัญหายาเสพติด และร่วมค้นหาผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติดให้เข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา สนับสนุนการดำเนินงานกองทุนแม่ของแผ่นดิน เพื่อป้องกันปัญหายาเสพติดในชุมชน
นอกจากนี้ ได้สนับสนุนให้จัดตั้งชมรม TO BE NUMBER ONE เพื่อให้เกิดกิจกรรมสร้างสรรค์ และเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางจิตใจของเด็ก เยาวชน และประชาชนไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ขณะเดียวกันได้ดำเนินมาตรการเชิงรุก เพื่อเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของหมู่บ้าน/ชุมชน ตามแผนปฏิบัติการเร่งรัดการป้องกัน ปราบปรามและแก้ไขปัญหายาเสพติด ระยะเร่งด่วน 3 เดือน (1 มิ.ย. - 31 ส.ค. 67) ใช้การบำบัดฟื้นฟูผู้มีปัญหาการใช้ยาเสพติดในชุมชน และชุมชนเป็นศูนย์กลาง (Community Based Treatment and Care - CBTx) โดยดำเนินการรวม 3 โครงการ ชุมชนเป้าหมาย 217 ชุมชน ประกอบด้วย (1) โครงการชุมชนบำบัดอย่างยั่งยืนในพื้นที่แพร่ระบาดยาเสพติดตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล (2) ดำเนินการในพื้นที่เป้าหมาย 5 ชุมชน (3) โครงการชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืนในพื้นที่กรุงเทพฯ ดำเนินการในพื้นที่เป้าหมาย 24 ชุมชน และ (3) โครงการ CBTx กองทุนแม่ของแผ่นดิน ดำเนินการในพื้นที่เป้าหมาย 188 ชุมชน โดยมีผลการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของหมู่บ้าน/ชุมชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ข้อมูล ณ วันที่ 28 ก.ค. 67 ดำเนินการแล้ว 209 ชุมชน คิดเป็นร้อยละ 96.31