กรุงเทพฯ--14 พ.ค.--กทม.
กทม. ลุยตรวจเยี่ยมร้านขายข้าวแกงกทม. กำหนดทดลอง 3 เดือน เน้นประเมินความพอใจของประชาชนทุกสัปดาห์ ก่อนเดินหน้าขยายร้านเพิ่มเติมให้ครอบคลุมทุกชุมชน ขณะที่ประชาชนที่มาซื้ออาหารพอใจเสนอให้เพิ่มร้านตามชุมชน พร้อมเตรียมผลิตสินค้ากรุงเทพ 5 รายการ ออกจำหน่ายในราคาถูกกว่าท้องตลาด หวังช่วยเหลือคนกรุงลดภาระค่าใช้จ่าย
นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการตรวจเยี่ยมร้านข้าวแกงกทม. ของเขตจตุจักร บริเวณหน้าสถานีขนส่งหมอชิต 2 ว่า ร้านข้าวแกงกทม. เปิดขายตั้งแต่วันที่ 12 พ.ค. 51 เป็นต้นมา ขายสัปดาห์ละ 5 วัน จันทร์—ศุกร์ เบื้องต้นกำหนดทดลองดำเนินการระยะเวลา 3 เดือน โดยประเมินความพอใจของประชาชนในพื้นที่ทุกสัปดาห์ ก่อนจะขยายร้านให้ครอบคลุมทั่วทุกชุมชน ซึ่งจากการเปิดจำหน่ายในวันแรกปรากฏว่าประชาชนต่างให้ความสนใจมาซื้ออาหารรับประทานเป็นจำนวนมาก รวมทั้งเสนอให้กทม. ขยายร้านขายข้าวแกงในชุมชนต่างๆ เพิ่มเติมด้วย เนื่องจากเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ประกอบกับขณะนี้มีผู้แจ้งความจำนงขอเปิดร้านขายข้าวแกงกับกทม. เป็นจำนวนมาก จึงได้มอบหมายให้สำนักงานเขตพิจารณาความเหมาะสมในหลักเกณฑ์ และเร่งพิจารณาในเรื่องการขยายร้านขายข้าวแกงเพิ่มเติมเพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของประชาชน อีกทั้งจัดกับข้าวถุงไว้จำหน่ายให้กับประชาชนที่ต้องการซื้อกลับไปรับประทานที่บ้านกับครอบครัว ในราคา 15—20 เหมือนกัน ด้วย
ผู้ว่าฯ อภิรักษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรุงเทพมหานครจะประสานความร่วมมือกับโรงเรียนเกษตรทฤษฎีใหม่ จากเครือข่ายเกษตรกร 26 เขต เตรียมจะผลิตสินค้าบริโภคราคาประหยัด จำนวน 5 รายการ ประกอบด้วย ข้าวสารถุง ผักปลอดสารพิษ ไข่ ผลไม้ และน้ำพริก มาจำหน่ายให้กับประชาชนโดยใช้สัญลักษณ์ลายประจำยามสี่สีของกทม. เป็นตราสินค้า ซึ่งจะเป็นการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจฝืนเคือง คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้เร็วๆ นี้
โครงการร้านข้าวแกงกทม. เป็นการดำเนินงานตามมาตรการเกื้อกูลประชาชนในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจกรุงเทพมหานคร ด้วยการตั้งร้านขายข้าวแกงราคาประหยัดขึ้นทั้ง 50 เขต เขตละ 1 แห่ง เน้นการขายอาหารที่สะอาด ปลอดภัย มีอนามัย และถูกหลักโภชนาการให้กับประชาชนในราคาพิเศษ กับข้าว 1 อย่าง ราคา 15 บาท กับข้าว 2 อย่าง 20 บาท โดยแต่ละร้านมีอาหารยอดนิยม 6 เมนู ให้ประชาชนทั่วไปได้เลือกรับประทาน อาทิ แกงเขียวหวานไก่ ผัดผักรวมมิตร ไข่พะโล้ ผัดกระเพาไก่สับ และไข่เจียว / ไข่ต้ม ซึ่งสำนักอนามัยจะเข้าไปดำเนินการควบคุมคุณภาพของอาหาร ด้วยการตรวจสอบอย่างต่อเนื่องว่าอาหารแต่ละร้านที่เข้าร่วมโครงการสะอาดปลอดภัยตามมาตรฐานที่กำหนดไว้หรือไม่ ส่วนราคาอาหารนั้นยืนยันไม่มีการปรับขึ้นราคาภายหลังเด็ดขาด ทั้งนี้เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาหารให้กับประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เนื่องจากในปัจจุบันประชาชนต่างได้รับผลกระทบด้านค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจทำให้สินค้าทั้งอุปโภค และบริโภคสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง