สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ร่วมกับ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP) และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) จัดสัมมนา ?เสริมสร้างความตระหนักและความรู้เกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพ? นับเป็นก้าวแรกของทั้ง 3 หน่วยงานที่ร่วมกันส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนตระหนักถึงความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ และสนับสนุนให้ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทมีความมุ่งมั่นในเชิงนโยบาย สามารถนำไปต่อยอดและประยุกต์ใช้ตลอดห่วงโซ่คุณค่า (value chain) ได้อย่างเหมาะสม เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2567 ณ กรุงเทพฯ และถ่ายทอดสดผ่านทาง Zoom Webinar
นางอิริน่า กอร์ยูโนวา รองผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประเทศไทย กล่าวว่า ?สภาพวิกฤติภูมิอากาศในปัจจุบันส่งผลต่อการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพของโลกเรามากขึ้น ผลกระทบจากวิกฤติเหล่านี้เกินกว่าปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม แต่ส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) แทบทุกข้อ โดยเฉพาะในด้านสุขภาพ ความมั่นคงทางอาหาร และการเข้าถึงแหล่งน้ำ กลุ่มผู้เปราะบางมีแนวโน้มได้รับผลกระทบดังกล่าวและอาจถูกทิ้งไว้ข้างหลังมากที่สุดหากปราศจากการความร่วมมือในการแก้ปัญหา
จากทุกภาคส่วน ทั้งนี้ ผลงานวิจัยจาก UNDP แสดงให้เห็นถึงการลดลงของงบประมาณภาครัฐด้านการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพในระยะสิบปีที่ผ่านมา ในขณะเดียวกันการมีส่วนร่วมจากภาคเอกชนในวาระดังกล่าวยังเป็นไปอย่างจำกัด สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นในการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพสำหรับภาคส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะภาคธุรกิจซึ่งมีบทบาทสำคัญในขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อธรรมชาติ?
นายประเสริฐ ศิรินภาพร เลขาธิการ สผ. กล่าวว่า ?เครื่องมือทางนโยบายและกฎหมายของประเทศ มุ่งเน้นให้เกิดการอนุรักษ์ฟื้นฟูและใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างเหมาะสมและสมดุล รวมถึงสนับสนุนทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ การเงิน การธนาคาร และภาคประชาสังคม ร่วมเป็นหุ้นส่วนขับเคลื่อนการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายระดับโลกและระดับประเทศ อย่างสอดคล้องกับกรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออล ว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลก โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับการลดช่องว่างด้านการเงินเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งส่งเสริมบทบาทของภาคธุรกิจในการดำเนินงานด้วยความตระหนักและรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ?
นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า ?ก.ล.ต. ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้ธุรกิจในตลาดทุนไทยผนวกประเด็นด้าน ESG และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เข้าไปในกระบวนการทำธุรกิจตลอดห่วงโซ่คุณค่า เพื่อลดผลกระทบเชิงลบและขยายผลเชิงบวกทั้งต่อธุรกิจและสังคม รวมทั้งเปิดเผยข้อมูลการดำเนินการดังกล่าวต่อผู้ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะผู้ลงทุนทั่วโลกได้ตามมาตรฐานสากล ขณะที่ความหลากหลายทางชีวภาพเป็นประเด็นสำคัญหนึ่งของ SDGs ในปัจจุบัน โดยมีการศึกษาในระดับสากลเพื่อปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งอาจนำไปสู่การยกระดับมาตรการต่าง ๆ มากขึ้นในอนาคต รวมถึงอาจมีมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ ดังนั้น ธุรกิจที่มีความเข้าใจและบูรณาการประเด็นความหลากหลายทางชีวภาพ สู่แนวทางการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืนจะช่วยลดความเสี่ยง และสร้างโอกาสทางการตลาดใหม่ รวมทั้งยังเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของธุรกิจ?
ภายในงานสัมมนา ยังมีการบรรยายให้ความรู้ในประเด็นที่เป็นประโยชน์แก่บริษัทจดทะเบียน ได้แก่ หัวข้อ ?ความสำคัญและทิศทางนโยบายด้านความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ? โดยนายประเสริฐ ศิรินภาพร เลขาธิการ สผ. ซึ่งได้กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมของภาคธุรกิจเพื่อรับมือกับนโยบายและกฎหมายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะเรื่องการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพ หัวข้อ ?มาตรฐานสากลที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพ?นางสาวพรฤทัย โชติวิจิตร ผู้แทน IUCN Thailand โดยแสดงให้เห็นถึงภาพรวมของระบบนิเวศของมาตรฐานและแนวทางสากลที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเผยข้อมูลด้านความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงแนวทางการประเมินความเสี่ยงและผลกระทบจากความหลากหลายทางชีวภาพ และหัวข้อ ?ความสำคัญของการดำเนินธุรกิจ ที่คำนึงถึงด้านความหลากหลายทางชีวภาพกับการรายงานข้อมูลในแบบ 56-1 One Report? โดยนางสาวอารีวัลย์ เอี่ยมดิลกวงศ์ ผู้ช่วยเลขาธิการ ก.ล.ต. ชี้ถึงประโยชน์และโอกาสที่บริษัทจดทะเบียนจะได้รับจากการเปิดเผยข้อมูล ตลอดจนแนวโน้มของการเปิดเผยข้อมูลในเวทีสากล พร้อมทั้งยกตัวอย่างการเปิดเผยและเชื่อมโยงข้อมูลในรายงานของบริษัทจดทะเบียนที่มีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ เวทีเสวนายังเปิดโอกาสให้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้บริหารระดับสูง ในหัวข้อ ?โอกาสทางธุรกิจสำหรับดำเนินงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพ? โดยผู้เข้าร่วมเสวนา ได้แก่ นางสาวอังคณา เทพประเสริฐวังศา เลขาธิการและผู้อำนวยการสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย นายชนะ ภูมี ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่การบริหารความยั่งยืน บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) นางสาวประภาศรี พันธุจริยา ผู้จัดการส่วนบริหารความยั่งยืน บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โดยมีนางสาวเบญจมาส โชติทอง ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาโครงการและแผนงาน สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งได้แลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์เกี่ยวกับแนวคิด เหตุผล และแรงจูงใจที่ทำให้บริษัทให้ความสำคัญกับประเด็นความหลากหลายทางชีวภาพ คุณค่าที่ได้จากการดำเนินการและแนวทางการดำเนินงานในอนาคต ซึ่งผู้เข้าร่วมเสวนาเห็นพ้องว่า ประเด็นเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพเป็นเรื่องจำเป็นที่บริษัทจดทะเบียนต้องหันมาใส่ใจ และควรผนวกเข้าไปในกระบวนการประกอบธุรกิจตลอดห่วงโซ่คุณค่า (value chain) ซึ่งสามารถทำได้ไม่ว่าเป็นธุรกิจขนาดใหญ่หรือเล็ก